ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา หุ้นในกลุ่มการแพทย์ (HELTH) กลายมาเป็นกลุ่มหุ้นที่โดดเด่นสุดของปีนี้ จากราคาปิด ณ วันที่ 17 มีนาคม 2565 กลุ่มการแพทย์ปรับตัวขึ้นมาแล้ว 9.8% และในวันนี้ก็ยังคงปรับตัวขึ้นได้ต่ออีกประมาณ 2.6% โดยหุ้นที่โดดเด่นสุดคือ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) ที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมาเกือบ 100% จากปีก่อน
และหากพิจารณาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลเป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้มากที่สุดเป็นอันดับ 4 โดยเพิ่มขึ้น 24.8% รองจากกลุ่มเหล็ก (STEEL) ที่เพิ่มขึ้น 55.5% กลุ่มสื่อสาร (ICT) เพิ่มขึ้น 49.7% กลุ่มบริการเฉพาะกิจ (PROF) เพิ่มขึ้น 25.1%
ขณะที่หุ้นใหญ่ในกลุ่มอย่าง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) ก็ปรับตัวขึ้นราว 10% และ 20% ตามลำดับ ขณะที่ราคาหุ้นของ บมจ.โรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) ล่าสุด พุ่งขึ้นมาแตะ 47.75 บาท ในวันนี้ (18 มีนาคม) เพิ่มขึ้นราว 20% จากวันก่อนหน้าและจากปีก่อน
สุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส มองว่า ปัจจัยหนุนต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- อานิสงส์จากโควิด แม้ว่าการระบาดระลอกใหม่จะไม่ได้รุนแรงนัก แต่ปริมาณที่เพิ่มขึ้นนำมาสู่รายได้ของโรงพยาบาล โดยเฉพาะการตรวจ PCR หลังจากที่ตรวจพบ และด้วยลักษณะบ้านของสังคมไทยที่อาจจะไม่ได้เอื้อต่อการกักตัว ทำให้โรงพยาบาลมีรายได้เพิ่มเติมในส่วนนี้
“แม้ว่าเม็ดเงินอุดหนุนจากภาครัฐจะลดลง แต่ปริมาณเคสที่เยอะขึ้นทำให้กำไรของหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่เดิมทีตลาดมองว่าจะลดลงมาก กลับไม่มากเท่าที่คิด โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีประกันสังคม” สุวัฒน์กล่าว
- โอกาสของการเปิดประเทศ เมื่อการระบาดของโควิดไม่ได้รุนแรงและมีแนวโน้มจะถูกลดทอนเป็นโรคประจำถิ่น ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวและจะนำไปสู่การเปิดประเทศ ส่วนนี้ทำให้ผู้ป่วยต่างชาติจะเริ่มกลับมาได้ ซึ่งจะเป็นบวกต่อหุ้นอย่าง BDMS และ BH ที่มีฐานผู้ป่วยต่างชาติสูง
- เม็ดเงินลงทุนไหลเข้า ด้วยความไม่แน่นอนของภาวะตลาด ทั้งจากเรื่องของสงคราม และต้นทุนที่สูงขึ้น ในส่วนนี้กระทบต่อการลงทุนและต้นทุนของธุรกิจต่างๆ ในขณะที่ธุรกิจโรงพยาบาลยังเป็นสิ่งจำเป็น และสามารถผลักภาระต้นทุนมาที่ผู้บริโภคได้ง่ายกว่า ทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลมายังหุ้นกลุ่มนี้
“จากจุดนี้ เมื่อโควิดใกล้ถึงจุดพีคและค่อยๆ ลดลง อานิสงส์ต่อกลุ่มโรงพยาบาลก็จะลดลงไป เพราะฉะนั้นหุ้นโรงพยาบาลที่มีน้ำหนักจากประกันสังคมสูงอาจจะได้อานิสงส์เพียงระยะสั้น แต่สำหรับกลุ่มโรงพยาบาลที่มีฐานลูกค้าต่างชาติน่าจะเห็นภาพระยะยาวมากกว่า”
ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า การปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขค่าใช้จ่ายดำเนินการผู้ป่วยโควิดมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา และปรับเกณฑ์รักษาโควิดเป็น UCEP Plus เริ่ม 16 มีนาคม 2565 มองว่ามีผลกระทบจำกัดต่อโรงพยาบาลที่ทำการวิเคราะห์
สาเหตุหลักมาจาก 1. ทุกโรงพยาบาลสามารถบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับอัตราเบิกค่าใช้จ่ายของรัฐ ทำให้คาดว่าอัตรากำไรของการให้บริการโควิดลดลงไม่มาก
- โรงพยาบาลปรับรูปแบบบริการเกี่ยวกับโควิดให้สอดคล้องกับเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่ไว้แล้ว โดยการรักษาผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลจะรับเฉพาะกลุ่มสีเหลือง-สีแดง ส่วนกลุ่มสีเขียว จะรักษาในระบบ HI/ Hotel Isolation/ Hospitel และให้บริการตามสิทธิการรักษาตั้งแต่ 1 มีนาคม เป็นต้นไป
- ประมาณการรายได้ปี 2565 ของโรงพยาบาลที่วิเคราะห์ยังฟื้นตัวต่อได้ โดยไม่รวมรายได้รักษาโควิด และรายได้ตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม กำไรรวมของ 5 หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ BDMS, BH, BCH, CHG และ THG ในปีนี้มีแนวโน้มจะลดลง 33% ก่อนจะกลับมาฟื้นตัว 18% ในปี 2566
โดยภาพรวมแล้ว มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล เพราะการรักษาโควิดตอนนี้ไม่ต่างกับโรคไข้หวัดใหญ่/ไข้เลือดออก โดยช่วงที่มีการระบาดของโรค โรงพยาบาลจะได้ประโยชน์จากจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่าปกติ และอัตราค่ารักษาโรคโควิดจะเป็นไปตามแต่ละโรงพยาบาลกำหนด ทำให้ประมาณการกำไรของโรงพยาบาลมีโอกาสเกิด Upside มากกว่า Downside โดยเรามองว่า BDMS, BCH, CHG และ THG จะได้ประโยชน์กว่า BH จากมีจำนวนเตียงมาก ทำให้รองรับการใช้บริการเพิ่มขึ้นได้มากกว่า
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP