วันนี้ (31 พฤษภาคม) กลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพรรคเพื่อไทย ให้ช่วยผลักดันในการบรรจุให้ลูกจ้างรายวัน, รายคาบ, รายเดือน และสายสนับสนุน 56 สายงาน ปรับสถานะเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข และขอให้ช่วยผลักดันให้พนักงานกระทรวงสาธารณสุข 56 สายงานได้ปรับค่าจ้างและค่าตอบแทน รวมถึงได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำในกรณีพิเศษหรือเป็นพนักงานราชการ และการดูแลชีวิตในวัยเกษียณ รวมทั้งให้จ่ายค่าเสี่ยงภัยที่ค้างอยู่ 7 เดือน โดยมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย รับข้อร้องเรียน
อภิสราธรณ์ พันธ์พหลเวช ตัวแทนกลุ่มลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 4 ภาค กล่าวว่า การระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ลูกจ้างใน 56 สายงาน รวมจำนวน 140,000 คน ไม่ได้รับการนำเข้าสู่วาระการพิจารณาบรรจุตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดในระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน
ขณะเดียวกันกลุ่มที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 45,105 อัตรา 25 สายงาน มีเพียงตำแหน่งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และกลุ่มวิชาชีพต่างๆ เท่านั้น ทั้งที่ตำแหน่งมี 131 สายงาน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความท้อแท้ ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงาน บางคนปฏิบัติงานมายาวนาน 10-30 ปี มีรายได้ต่อเดือนเพียง 11,000 บาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังถูกตัดสวัสดิการความมั่นคงในหน้าที่การงานด้วย
ด้าน นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตนในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งริเริ่มโครงการนี้ไว้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง ขอรับข้อเรียกร้องและข้อเสนอนี้ โดยเฉพาะข้อเสนอเร่งด่วน เช่น ค่าจ้าง และค่าเสี่ยงภัยโควิด จะนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกราชการ ส่วนข้อเสนอที่เหลือขอรับไว้พิจารณา และขอให้กำลังใจมดงานทุกคน
แต่ขณะนี้สถานภาพของว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้รับการรับรองเป็น ส.ส. การแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับทราบปัญหาจะทำได้ทันทีในขั้นตอนต่อไป และอยากมีโอกาสได้ไปทำหน้าที่เป็นรัฐบาลดูแลพี่น้องประชาชน เพราะนโยบายทุกพรรคการเมืองมุ่งเน้นสิทธิเสรีภาพ สวัสดิภาพ และสวัสดิการของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนทำงาน
ทั้งนี้ ในอดีตที่มีการยุบตำแหน่งลูกจ้างประจำของทุกหน่วยงานไป ซึ่งกระทบถึงลูกจ้างหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกฐานะ ยกศักดิ์ศรีทางอาชีพ เพื่อให้ได้รับโอกาสได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการต่างๆ
โดยผู้ที่อยู่ในตำแหน่งดังกล่าวจะได้รับเงินค่าตอบแทนจากเงินนอกงบประมาณ หรือมาจากเงินบำรุงที่สถานพยาบาลจัดเก็บได้จากการดำเนินกิจกรรมของสถานพยาบาล ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่ต้องส่งเข้าคลัง และได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง จึงมีความเห็นใจผู้เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่าย
การจ่ายในอัตราดังกล่าวเป็นการจ้างในอัตราขั้นต่ำของเงินค่าจ้างในสมัยเป็นลูกจ้างประจำเป็นตัวกำหนด จ้างได้ไม่เกิน 4,100 บาท แม้ปรับขึ้นมาสูงสุดที่ 15,000 บาท แต่ต้องทำงานระยะยาว 27-28 ปี แม้ทำงานล่วงเวลาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 3,000-4,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน