×

เปิด 6 ปัจจัยสำคัญที่อาจกระทบต่อเป้าหมาย ‘ศูนย์กลางคริปโตโลก’ ของฮ่องกง

06.07.2023
  • LOADING...
ฮ่องกง

ฮ่องกงตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางสำหรับคริปโตเคอร์เรนซี แม้ว่าบรรดาหน่วยงานกำกับในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ กำลังจับตามองและพร้อมกวาดล้างตลาดคริปโตก็ตาม โดยฮ่องกงหวังจะดึงดูดทุนใหม่และบุคลากรที่มีความสามารถกลับคืนสู่ฮ่องกง หลังจากที่ชื่อเสียงถูกบั่นทอนจากเหตุการณ์โควิดและการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง

 

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฮ่องกงเริ่มใช้ระบบการออกใบอนุญาตใหม่ เพื่อควบคุมตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตต่างๆ เช่น Bitcoin และ Ethereum ซึ่งในระยะแรกได้รับการตอบรับในเชิงบวกจากบริษัทด้านสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ แต่ก็ยังขาดเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ตามมา การผลักดันของฮ่องกงดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนอย่างเงียบๆ จากทางการจีน แม้ว่าจีนแผ่นดินใหญ่จะยังสั่งห้ามการซื้อขายคริปโตก็ตาม

 

จากความพยายามของฮ่องกงที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคริปโตของโลก คล้ายกับที่เคยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางทางการเงินที่สำคัญของโลกมาก่อนหน้านี้ ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ และนี่คือ 6 ปัจจัยบวกและลบที่อาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายที่ฮ่องกงวางไว้

 

1. กฎระเบียบที่อ้าแขนรับบริษัทคริปโต แต่ก็เข้มงวดในเวลาเดียวกัน

ข้อบังคับใหม่ระบุว่านักลงทุนรายย่อยสามารถซื้อขายเหรียญในตลาดแลกเปลี่ยนที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของฮ่องกง (SFC) ทางการฮ่องกงกล่าวว่าวิธีการดังกล่าวมีความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยตั้งเกณฑ์ที่เข้มงวดสำหรับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

 

ปัจจัยที่แพลตฟอร์มต้องพิจารณาเมื่อตัดสินใจเลือกเสนอขายโทเคน ได้แก่ ระยะเวลาที่โทเคนหมุนเวียน มูลค่าตลาด และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน โทเคนจะต้องรวมอยู่ในดัชนีด้านคริปโตเคอร์เรนซีอย่างน้อย 2 รายการ จากสถาบันที่โดดเด่น และต้องเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงจากการเงินแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ SFC ยังกำหนดให้บริษัทคริปโตวางมาตรการป้องกันอื่นๆ ก่อนที่จะยอมรับลูกค้า เช่น การประเมินว่าผู้ใช้มีความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ก่อนที่จะลงทุน และกำหนดการซื้อขายในขอบเขตที่จำกัดโดยคำนึงจากสถานการณ์ทางการเงินของลูกค้า

 

2. การผลักดันจากรัฐบาลเพื่อกู้ชื่อศูนย์กลางการเงินโลก

ทิศทางนโยบายของฮ่องกงในการเป็นฟื้นฟูความเป็นฐานะศูนย์กลางทางการเงินที่ทันสมัยของโลก หลังชื่อเสียงเริ่มหรี่ลงจากข้อจำกัดที่เข้มงวดของโควิด-19 และเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็นเวลาหลายปี ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวและดึงดูดหัวกะทิออกจากประเทศไป

 

Paul Chan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกง เรียกคริปโตเคอร์เรนซีและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ว่าเป็น ‘นวัตกรรมทางการเงินใหม่ที่โตต่อเนื่อง’ ในงานที่จัดโดย Hong Kong Association of Banks เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และกล่าวว่าฮ่องกงจำเป็นต้องยอมรับสิ่งเหล่านี้ รัฐบาลได้อนุญาตให้กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (ETF) ลงทุนใน CME Group Bitcoin และ Ethereum Futures และเปิดขายพันธบัตรดิจิทัลสีเขียว ซึ่งใช้บัญชีดิจิทัลแยกประเภทเพื่อทำให้กระบวนการชำระบัญชีและการชำระเงินคูปองรวดเร็วขึ้น

 

3. การเป็นศูนย์กลางของสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงก่อนหน้านี้

ฮ่องกงเคยเป็นศูนย์กลางของสินทรัพย์ดิจิทัลในช่องก่อนหน้าที่โลกเริ่มมีท่าทีที่กังขาต่อคริปโต ตลาดแลกเปลี่ยนอย่าง FTX และ Crypto.com ต่างเคยจดทะเบียนในฮ่องกง ก่อนที่จะมีกฎระเบียบใหม่ของ SFC ที่มีมาตรการการออกใบอนุญาตโดยสมัครใจ และมีตลาดแลกเปลี่ยนเพียงสองแห่งอย่าง OSL และ HashKey เท่านั้นที่ยังเลือกใช้กรอบเดิม ซึ่งอนุญาตให้บริการเฉพาะกับนักลงทุนมืออาชีพที่มีพอร์ตการลงทุนอย่างน้อย 8 ล้านเหรียญฮ่องกง (1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

กฎดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่จีนแผ่นดินใหญ่ต่างให้แพลตฟอร์มต่างๆ หยุดการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลและห้ามการเสนอขายเหรียญเริ่มต้นหรือ ICO เมื่อปี 2017 ทางการจีนยังสั่งห้ามการทำธุรกรรมสกุลเงินดิจิทัล และให้คำมั่นว่าจะถอนรากถอนโคนการทำเหมืองสินทรัพย์ดิจิทัลเมื่อเดือนกันยายน 2021

 

4. ข้อห้ามซื้อขายคริปโตของจีนแผ่นดินใหญ่ยังมาไม่ถึงฮ่องกง

ความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่เป็นไปได้คือคำสั่งห้ามของจีนอาจลามไปถึงฮ่องกง อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลของฮ่องกงได้คัดค้านแนวคิดนี้ โดยอ้างถึงหลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ ที่อนุญาตให้ฮ่องกงมีระบบเศรษฐกิจและการเมืองของตนเอง อย่างไรก็ดี มีสัญญาณว่าแนวทางของฮ่องกงอาจได้รับการอนุมัติโดยปริยายจากทางการจีน แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องระบุว่า ตัวแทนจากสำนักงานประสานงานของจีนถูกพบในการประชุมเรื่องคริปโตในฮ่องกง

 

สัญญาณการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยอาจบ่งบอกว่าจีนกระตือรือร้นที่จะใช้ฮ่องกงเป็นพื้นที่ทดสอบสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล อย่างไรก็ตาม ทางการจีนยังไม่ได้ลดการกุมบังเหียนที่เข้มงวดในภาคส่วนคริปโต หลังยังมีความกังวลถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ศักยภาพในการใช้คริปโตเพื่อหลบเลี่ยงการควบคุมเงินทุน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการขุด Bitcoin ที่ต้องใช้พลังงานสูง

 

5. ความคลุมเครือด้านกฎระเบียบ การเข้าถึงธนาคาร การเฟ้นหาผู้มีความสามารถ คือสิ่งที่ฮ่องกงต้องทำให้ชัดเจน

ปัญหาสำคัญสำหรับบริษัทคริปโตคือความคลุมเครือด้านกฎระเบียบ มีหลายสินทรัพย์ที่ไม่ได้ถูกระบุโดย SFC โดยเฉพาะหมวดหมู่ใหม่ที่เรียกว่า ‘NewFi’ เช่น การเงินแบบกระจายอำนาจ ตราสารอนุพันธ์ดิจิทัล และการถือครอง NFT และโทเคนยูทิลิตี้ เช่น โทเคนที่ใช้สำหรับการเล่นเกมเพื่อรับรายได้ ต่างอยู่นอกขอบเขตของการควบคุมอย่างชัดเจน บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องพิจารณาว่าธุรกิจถือเป็นหลักทรัพย์หรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นจำเป็นต้องมีใบอนุญาตด้วยหรือไม่ เมื่อเกิดความซับซ้อน SFC ได้ระบุว่าการตัดสินใจจะทำเป็นทีละกรณีไป

 

อุปสรรคอื่นๆ เช่น การเข้าถึงธนาคาร บริษัทคริปโตต้องเผชิญกับกฎการรู้จักลูกค้าอย่างเข้มงวดและการต่อต้านการฟอกเงิน SFC และหน่วยงานการเงินของฮ่องกงได้เรียกร้องให้ธนาคารสนับสนุนภาคส่วนนี้ และจัดการประชุมเมื่อเดือนเมษายนและมิถุนายน เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารเปิดบัญชีสำหรับบริษัทคริปโตที่ได้รับการรับรอง

 

การสรรหาผู้มีความสามารถเป็นอีกความท้าทายหนึ่ง เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งรับผิดชอบในการปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตกำลังขาดแคลนอย่างหนัก เช่นเดียวกับนักลงทุนและนักพัฒนาคริปโตระดับสถาบันซึ่งถูกกล่าวว่าหาได้ยากเช่นกัน

 

6. เสียงตอบรับค่อนข้างดี หลังฮ่องกงกลับมาใช้นโยบายผ่อนปรนคริปโต

การกลับมาผ่อนปรนคริปโตอีกครั้งของฮ่องกงได้จุดประกายความสนใจจากบริษัทคริปโตทั่วโลกอีกครั้ง บริษัทต่างๆ เช่น Huobi, OKX และ Amber Group มีความตั้งใจที่จะขอใบอนุญาต แต่ทั้งนี้ยังไม่มีคำมั่นสัญญาในการลงทุนขนาดใหญ่ทันทีหลังจากการเปิดตัวนโยบายใหม่

 

จนถึงตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่ากฎระเบียบใหม่มีความน่าสนใจพอที่จะดึงดูดให้บริษัทต่างๆ เข้ามาลงทุนอย่างหนักหรือไม่ การให้ความสำคัญกับการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยอาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรลดลงหากเครื่องมือต่างๆ เช่น การซื้อขายมาร์จิ้น การ Staking และตราสารอนุพันธ์ยังถูกจำกัด นอกจากนี้สภาพตลาดคริปโตทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรหลังจากการสูญเสีย 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising