×

รถยนต์ไฟฟ้ารอก่อน! Honda ยังฝากอนาคตไว้กับ ‘รถมอเตอร์ไซค์’ ได้เหมือนเดิม หลังประเมินคาดยอดขายปีนี้พุ่ง 17.5 ล้านคัน

24.11.2021
  • LOADING...
Honda

Honda Motor ยังสามารถฝากความหวังและอนาคตของบริษัทเอาไว้กับยอดขาย ‘รถจักรยานยนต์’ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญมาตลอดได้เหมือนเดิม หลังมีการประเมินยอดขายในปีนี้ไว้สูงถึง 17.5 ล้านคัน และจะเป็นแหล่งรายได้ 1 ใน 3 ของบริษัทในปีนี้

 

ถึงแม้ว่า Honda จะมีประกาศยุทธศาสตร์ใหม่ของบริษัทตามแนวทางของ โทชิฮิโระ มิเบะ (Toshihiro Mibe) ประธานคนใหม่ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนเมษายนว่าจะเดินหน้าสู่ตลาดของรถยนต์ไฟฟ้า และเข้าสู่ธุรกิจยานอวกาศ ซึ่งจะเป็นการก้าวไปสู่อนาคตของยักษ์ใหญ่ในวงการยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ยังทำให้บริษัทแข็งแกร่งได้อยู่คือยอดขายรถจักรยานยนต์

 

โดยในปีงบประมาณนี้ Honda มีการประเมินว่ากำไรสุทธิจะลดลง 16% หรือราว 5.5 แสนล้านเยน คิดเป็น 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนชิปที่จะใช้สำหรับการผลิตรถยนต์ แต่ในส่วนของรถจักรยานยนต์นั้นการเติบโตกลับสวนทางกัน โดยบริษัทสามารถทำกำไรได้จากส่วนนี้ได้ถึง 1.48 แสนล้านเยน หรือราว 4.3 หมื่นล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนของปีงบประมาณปัจจุบัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีกลายถึงเท่าตัว

 

สำหรับเหตุผลนั้นเกิดจากการที่การผลิตรถจักรยานยนต์นั้นไม่ต้องใช้ชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากการวิกฤตชิปขาดแคลน ทำให้มีการคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในปีงบประมาณนี้ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2021 จะเพิ่มขึ้น 16% เป็นจำนวน 17.5 ล้านคัน

 

Honda ถือเป็นผู้นำในวงการรถจักรยานยนต์ของโลกมายาวนาน โดยเมื่อปีกลายครองส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 34% และแม้ว่ายอดขายของรถจักรยานยนต์จะคิดเป็น 15% ของยอดจำหน่ายทั้งหมดซึ่งน้อยกว่ารถยนต์ที่มียอดจำหน่าย 63% 

 

แต่เมื่อมองถึงการสร้างรายได้แล้วรถจักรยานยนต์สามารถทำได้สูงกว่าที่ 34% เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ทำได้แค่ 27% และเป็นเช่นนี้มานับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2018 แล้ว โดยรถจักรยายยนต์เป็นส่วนที่ทำกำไรสูงที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของบริษัทรองจากหน่วยงานการให้บริการทางการเงิน

 

ในตลาดรถจักรยานยนต์ Honda ยังทิ้งห่างคู่แข่งอีกมากโดยในปีงบประมาณ 2020 ทำกำไรได้ถึง 12.6% เหนือกว่าคู่แข่งเจ้าอื่นในประเทศเดียวกันอย่าง Yamaha Motor ที่ทำได้ 2%, Suzuki Motor 1.2% และ Kawasaki Heavy Industries ที่ 3.5% 

 

โดยคู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือ Hero MotoCorp จากประเทศอินเดีย และในส่วนของกำไรต่อหน่วยแล้ว Honda ก็ยังเป็นผู้ชนะ โดยทำได้ 21,880 เยนต่อคัน หรือราว 6,370 บาท เมื่อเทียบกับ Hero ที่ได้ 7,410 เยนต่อคัน หรือราว 2,150 บาท

 

สำหรับรถรุ่นที่เป็นพระเอกตลอดกาลคือ Super Cub ที่ทำยอดขายคิดเป็น 90% ของจำนวนรถจักรยานยนต์ 15.13 ล้านคันทั่วโลกในปีงบประมาณที่ผ่านมา ซึ่งตลาดใหญ่คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย 

 

ซึ่งกระบวนการจะเริ่มจากการออกแบบรถจากทีมในประเทศญี่ปุ่นก่อนจะมีการส่งรุ่นรถให้แก่ตลาดแต่ละภูมิภาค เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย หรือตลาดในประเทศไทยพิจารณาว่ารถรุ่นใดเหมาะสมสำหรับการทำตลาดในภูมิภาคนั้นๆ ซึ่งในอินเดียจะนิยมรถขนาดใหญ่สำหรับครอบครัวที่สามารถนั่งได้สูงสุด 4 คน ขณะที่ในประเทศไทยมีการเจาะตลาดวัยรุ่นเป็นหลัก

 

ส่วนที่เป็นหัวใจที่ทำให้ Honda สามารถทำผลกำไรได้มหาศาลเกิดจากไลน์การผลิตที่มีการคิดค้นและพัฒนาอย่างยอดเยี่ยม โดยนับตั้งแต่ปี 2012 Honda ได้มีการพัฒนาให้มีการใช้อะไหล่ร่วมกันได้สำหรับรถจักรยานยนต์ที่จำหน่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และปัจจุบันนี้ 90% ของรถทั้งหมดจะใช้เครื่องยนต์แบบเดียวกัน และอีก 50% ที่ใช้โครงเดียวกัน

 

Honda ยังทุ่มงบประมาณในการคิดค้นและพัฒนาเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์มากกว่า 9.2 หมื่นล้านเยน หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10% ของจำนวนการลงทุนเกี่ยวกับภาคยานยนต์ หรือคิดเป็น 5% ของยอดขาย ซึ่งน้อยกว่าช่วงพีคที่สูงสุดในรอบ 20 ปีที่คิดเป็น 12%ของยอดขายในปี 2008

 

สำหรับในอนาคต แม้ว่าคู่แข่งอย่างฮีโร่ จะน่าจับตามองอย่ามากในเรื่องของยอดขายจากการผลิตรถจักรยานยนต์ราคาถูกราว 80,000 รูปี หรือราว 35,000 บาท ซึ่งจำหน่ายในประเทศอินเดียเองและในทวีปแอฟริกา แต่ Honda เริ่มมองไปยังอนาคตแล้วโดยมีความตั้งใจที่จะหยุดจำหน่ายยานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันภายในปี 2040 และมีปณิธานที่จะเป็นบริษัทที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกภายในปี 2050

 

แต่ปัจจุบัน Honda มีรถจักรยานยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าออกมาแค่ 4 รุ่นเท่านั้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับ Honda ที่ดูเหมือนจะขยับตัวช้ากว่า Yamaha ที่ประกาศว่าจะทำให้รถจักรยานยนต์ 90% เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าภายในปี 2050 และ Kawasaki ที่ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมว่าจะทำให้รถจักรยานยนต์ที่ออกจำหน่ายเกือบทั้งหมดในปี 2035 เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

 

ทั้งนี้ การพัฒนายานยนต์พลังงานไฟฟ้าปกติแล้วจะใช้เงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านเยน หรือราว 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันถึง 2 เท่า และในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศตามแนวทางของประธานคนใหม่นั้นการสร้างจรวดขนาดเล็กหนึ่งลำจะใช้เงิน 1 หมื่นล้านเยน หรือราว 2.9 พันล้านบาทสำหรับการพัฒนาและสำหรับการผลิตผลิตจำนวนมากจะใช้เงินกว่า 1-2 หมื่นล้านเยน หรือราว 2.9-5.8 พันล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising