×

Homestay บทพิสูจน์ขั้นต่อไปของ ‘เฌอปราง’ ที่เหล่าโอตะต้องข้ามผ่านไปให้ได้

25.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • Homestay เล่าเรื่องวิญญาณเร่ร่อนที่ได้รับรางวัลให้มาเกิดอีกครั้งในร่างของ มิน เด็กหนุ่มเก็บตัวที่มีความสัมพันธ์คลุมเครือกับทั้งพ่อ แม่ พี่ เพื่อน และคนรัก โดยมีเวลาเพียง 100 วันเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าใครคือสาเหตุที่ทำให้มินต้องฆ่าตัวตาย
  • Homestay เป็นหนังไทยอีกหนึ่งเรื่องที่ใช้งาน CG เข้ามาช่วยในการเล่าเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • เจมส์ ธีรดนย์ ยังคงแสดงให้ถึงการเป็นนักแสดงวัยรุ่นคุณภาพสูง และเฌอปรางเซอร์ไพรส์เราได้ทั้งจากฝีมือการแสดงและ ‘บริบท’ ของเธอที่ช่วยเพิ่มพลังให้กับบทได้เป็นอย่างดี
  • นอกจากจะเป็นการพิสูจน์ความสามารถด้านการแสดงของเฌอปรางให้ทุกคนได้รู้ ยังเป็นการ ‘พิสูจน์’ คุณภาพและทัศนคติของแฟนคลับที่เคยวางเฌอปรางรวมทั้งสมาชิกคนอื่นๆ ไว้เหนือหิ้งจนไม่สามารถจับต้องได้ไปพร้อมๆ กัน

 

Homestay คือโปรเจกต์ปิดท้ายปีของค่าย GDH ที่ได้ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ (ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ และ แฝด) มาเป็นผู้กำกับ หยิบเอาโครงเรื่องจากนิยายเรื่อง เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม ของโมริ เอโตะ มาสร้างเป็นภาพยนตร์ เล่าเรื่องวิญญาณเร่ร่อนที่ได้รับรางวัลให้มาเกิดอีกครั้งในร่างของ มิน เด็กหนุ่มเก็บตัวที่มีความสัมพันธ์คลุมเครือกับทั้งพ่อ แม่ พี่ เพื่อน และคนรัก โดยมีเวลาเพียง 100 วันเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าใครคือสาเหตุที่ทำให้มินต้องฆ่าตัวตาย

 

 

สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างแรกคือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับวงการภาพยนตร์ไทยในช่วงหลังที่ทั้งภาพยนตร์ก่อนหน้าอย่าง The Pool และ นาคี 2 ล้วนได้รับคำชื่นชมในเรื่องการทำ CG หลังจากเป็นหลุมดำของวงการมาเป็นเวลานาน

 

โดยเฉพาะในเรื่อง Homestay ที่ทั้งออกแบบและสร้างออกมาได้อย่างละเอียดเนียนตา ตั้งแต่ฉากมุมสูง หยดน้ำ วิตามิน เศษกระจก ไปจนถึงการระเบิดของเม็ดทรายสีแดงในนาฬิกาทรายเรือนจิ๋ว ซึ่งถ้าว่ากันตามตรง บางฉากอาจไม่ต้องใช้ CG มาช่วยในการเล่าเรื่องก็ได้ เพราะหากทำออกมาไม่ดีก็มีแต่ติดลบ เพียงแต่พอเรื่องนี้ทำ ‘ถึง’ เลยกลายเป็นว่าเรายินดีที่จะดูฉากเหนือจริงเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียดแต่อย่างใด

 

 

อย่างที่สอง นักแสดงที่เป็นแกนหลักของเรื่องทั้ง เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ และเฌอปราง อารีย์กุล ในส่วนฝ่ายชายนั้นไม่มีข้อสงสัย ถึงแม้จะรู้สึกว่าเจมส์แอบยืมคาแรกเตอร์ของ บู เด็กซึมเศร้าในซีรีส์ SOS skate ซึม ซ่าส์ มาใช้ในตัวมินมากเกินไปบ้าง แต่ Homestay ก็เป็นตัวช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าเจมส์จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักแสดงแถวหน้าของวงการได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

 

แต่ที่เซอร์ไพรส์เราได้จริงๆ คือการปรากฏตัวของเฌอปรางในบท พาย ที่มีหลายประเด็นน่าสนใจให้พูดถึง เริ่มจากประเด็นพื้นฐานคือการแสดง ที่เมื่อถึงเวลาน่ารักก็ละลายหัวใจคนได้ทันที พอถึงบทต้องเศร้าและอยู่ในภาวะบีบคั้นก็ทิ้งภาพจำของไอดอลผู้แสนเข้มแข็งไปได้ อาจจะรู้สึกติดขัดอยู่บ้างในเรื่องการออกเสียง การหัวเราะ และบุคลิกบางอย่างที่ยังไม่สามารถสลัดภาพเก่าของตัวได้ แต่โดยรวมในฐานะคนที่ไม่เคยผ่านงานแสดงมาก่อนก็ถือว่าสอบผ่าน

 

 

ประเด็นต่อมาคือบริบทที่ลงตัวมากๆ ระหว่างเฌอปรางและพาย จนเราไม่แน่ใจว่า ‘เฌอปรางเกิดมาเพื่อบทนี้’ หรือ ‘บทนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพราะเฌอปราง’ กันแน่ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ต้องชมผู้กำกับที่เลือกใช้บริบทตรงนี้มาเน้นย้ำปมความเจ็บปวดของเด็กผู้หญิงที่เก่ง เพอร์เฟกต์ มีความฝัน และพยายามทำทุกอย่างเพื่อรักษาสถานะที่ตัวเองต้องเผชิญได้อย่างเด็ดขาด

 

ถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องดี เพราะจริงๆ เวลาดูภาพยนตร์เราควรแยกตัวตนของนักแสดงและตัวละครให้ขาดออกจากกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเห็นภาพ ‘แคปเฌอ’ แห่ง BNK48 ซ้อนทับขึ้นมานั้นช่วยเพิ่มพลังให้กับทุกซีนของพายที่พยายามทำทุกอย่างเพื่อการไปชิงเหรียญดาราศาสตร์โอลิมปิกได้มากจริงๆ

 

ประเด็นสุดท้ายคือหลายๆ ฉากและหลายๆ บริบทของพายในเรื่องนี้ นอกจากจะเป็นการพิสูจน์ความสามารถด้านการแสดงของเฌอปรางให้ทุกคนได้รู้ ยังเป็นการ ‘พิสูจน์’ คุณภาพและทัศนคติของผู้ปวารณาตัวเองเป็น ‘โอตะผู้พิทักษ์ไอดอล’ ที่เคยวางเฌอปรางรวมทั้งสมาชิกคนอื่นๆ ไว้เหนือหิ้งจนไม่สามารถจับต้องได้

 

 

เพราะต้องยอมรับว่ามีอยู่หลายฉากและหลาก ‘ประเด็น’ ที่อาจทำให้โอตะหัวใจสลาย และอาจพานไปถึงขั้นแอนตี้ตัวค่าย (ต้องยอมรับในความกล้าของค่าย BNK48 ที่ยอมให้เฌอปรางรับบทนี้) ตัวบุคคล หรืออาจถึงขั้น ‘หมดใจ’ ไปได้เลย หากแต่นี่เป็นเพียงบันไดขั้นแรกของอนาคตในวงการที่แสนยาวไกลของไอดอลที่เพิ่งเริ่มต้นเดินทางได้เพียง 2 ปี และ ‘แคปเฌอ’ ได้ตัดสินใจทลายกำแพงเพื่อพาตัวเองไปสู่โอกาสที่เปิดกว้างและท้าทายมากขึ้นในฐานะ ‘นักแสดง’ คนหนึ่ง ส่วนตอนนี้ก็ถึงเวลาของเหล่าโอตะอีกเช่นกันที่จะพิสูจน์ด้วยว่าพร้อมที่จะเดินทางไปกับ ‘กัปตัน’ ที่พวกเขาพูดว่า ‘รัก’ ในทุกๆ เส้นทางจริงหรือเปล่า

 

แต่ก็มีบางจุดที่ควรระวัง คือมีอยู่หลายฉากที่เห็นชัดเจนว่าหยิบเอาความน่ารักของเฌอปรางมาเป็นจุดขายโดยเฉพาะ ซึ่งอย่างที่บอกว่าพอเป็นเฌอปราง ไม่ว่าทำอะไรก็ดูดีไปหมด เพียงแต่การใส่ฉากจีบกันของมินและพายออกมาเซอร์วิสมากแบบนี้อาจทำให้บางคนรู้สึกว่าถูกจับยัดด้วยความน่ารักของคู่นี้เกินไป เพราะเมื่อให้เวลากับฉากแสดงความรักมากเกินไป เวลาที่จะนำมาเล่าว่า ‘ทำไม’ ทั้งคู่ถึงรักกันมากขนาดนี้จึงน้อยตามลงไปด้วย

 

 

ส่วนประเด็นนอกเหนือจากนี้จะเรียกว่าข้อบกพร่องของหนังก็ไม่ถูกนัก แต่อาจเป็นเพียงสิ่งที่ผู้เขียนรู้สึกว่าค่อนข้างได้รับจาก Homestay น้อยเกินกว่าที่หวังไว้พอสมควร คือคอนเซปต์ของ ‘ผู้คุม’ ที่โดดเด่นมากๆ ตั้งแต่ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ออกมา แต่ในการดำเนินเรื่องกลับใช้ประโยชน์ของตัวละครเหล่านี้เพียงน้อยนิด (บางตัวละครแทบมีบทบาทเท่าที่เห็นในตัวอย่างภาพยนตร์) แถมการตั้งใจวางคาแรกเตอร์จัดๆ ตามสไตล์ตัวละครญี่ปุ่นก็ทำให้แม้แต่การแสดงของ ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม, พลอย-เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์ ที่ควรจะดูน้อยแต่มากก็ดูล้นๆ เกินๆ ผิดสัดส่วนไปหมด จะมีก็ซีนของ เอก-ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ที่ทำให้เชื่อได้มากที่สุด

 

เรื่องสุดท้ายคือเมื่อเข้าสู่พาร์ตความจริงอันแสนเจ็บปวดที่มินค่อยๆ รับรู้และทำให้จิตใจของเขาค่อยๆ พังทลายลง ทำให้เราจมกับไปกับความหดหู่นั้นจนแอบรู้สึกไปว่านี่คือ สูญสิ้นความเป็นคน ของดะไซ โอซามุ เวอร์ชันคนแสดงอยู่หรือเปล่า  

 

 

จากวิญญาณเร่ร่อนที่ได้รับรางวัลกลายเป็นเพียงคนที่ถูกพ่อ แม่ พี่ และทุกคนบนโลกนี้โบยตีจนไม่เหลือชิ้นดี (ต้องยกความดีความชอบให้นักแสดงอย่าง โรจ ควันธรรม, ณัฐสิทธิ์ โกฏิมนัสวนิชย์ โดยเฉพาะ สู่ขวัญ บูลกุล ที่แสดงฉากร้องไห้ได้ปวดร้าวถึงใจมาก) แต่พอบทจะคลี่คลาย ทุกอย่างก็ดูง่ายดายไปเสียหมดจนปรับอารมณ์แทบไม่ทัน

 

ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างล้วนมีเหตุผลมาอธิบายที่เข้าใจได้ ทั้งบริบทของตัวละครในเรื่อง บริบทของค่ายและสังคม รวมทั้งเวอร์ชันนิยายต้นฉบับที่ทำให้พอเดาได้ว่าควรจะออกมาเป็นแบบไหน และเราเชื่อว่า GDH รักษามาตรฐานตรงนี้ได้ดีมาตลอด

 

แต่อย่างที่บอกว่านี่เป็นเพียงความคาดหวังส่วนตัวที่บางครั้งเราก็อยากเห็นหนังของ GDH ปลดล็อกข้อจำกัดบางอย่างแล้วข้ามไปสู่การพาตัวละครไปสู่ตอนจบอีกระดับได้อย่างเฉียบขาด มีเหตุผล สมจริง โดยไม่ต้องวกกลับมาตามแบบที่เคยเป็นมาในหลายๆ เรื่อง

 

เพราะถ้ามองจากต้นทุนบุคลากรและทุนทรัพย์ ก็เห็นจะมีแต่ค่าย GDH นี่ล่ะที่เรามองเห็นโอกาสความเป็นไปได้มากที่สุดในตอนนี้

FYI
  • ชื่อ ‘มิน’ มีความหมายตามหลักคณิตศาสตร์คืออันดับคะแนนที่มีค่าต่ำสุด ส่วน ‘พาย’ มากจากเครื่องหมาย π คือค่าคงที่ทางคณิตศาสตร์ที่เกิดจากการนำความยาวของเส้นรอบวงหารด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลม โดยมีค่าคงที่ใช้ตามหลักสากลคือ 3.14 หากแต่จริงๆ แล้วตัวเลขหลังจุดทศนิยมของค่าพายนั้นสามารถคำนวณต่อไปได้ไม่รู้จบ โดยที่ไม่มีตัวเลขชุดใดซ้ำกัน
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising