หลังกรุงเทพมหานคร ออกประกาศให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากอนามัยระหว่างออกนอกบ้านหรือเคหสถาน พร้อมกำหนดโทษปรับตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท ทำให้มีกระแสความตื่นตัว และข้อสงสัยที่เกี่ยวเนื่องตามมาถึงแนวปฏิบัติ ทั้งขณะขับรถ จัดรายการโทรทัศน์ เป็นต้น
THE STANDARD สำรวจชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกว่า ‘คนไร้บ้าน’ ซึ่งปกติมีชีวิตที่ต้องอาศัยพื้นที่สาธารณะในการอยู่อาศัย รวมถึงสุขอนามัยที่มีปัญหา เนื่องจากสภาพการเป็นอยู่ รวมถึงการเข้าถึงบริการจากภาครัฐด้วย
ลุงเล็ก ซึ่งอยู่บริเวณศาลพระแม่ธรณีธรณีบีบมวยผม ถนนราชดำเนิน ใกล้สนามหลวง บอกว่าตัวเองหน้ากากอนามัยไม่ค่อยขาดแคลน มีคนเอามาแจกเกือบทุกวัน แต่ต้องประหยัดใช้ ใช้วันละอัน ส่วนตัวลุงเล็กไม่ค่อยจะเชื่อว่าใส่หน้ากากอนามัยแล้วจะป้องกันได้ 100% “ขนาดคนรวยๆ เขาป้องกัน เขาดูแลตัวเองเป็นอย่างดียังติดกันเยอะแยะ” ลุงเล็กกล่าว
ส่วน ลุงรัตน์ ที่อยู่ริมคลองหลอดบอกว่า ก็ใส่ไปอย่างนั้น ป้องกันการถูกจับ แต่ “ถ้าโดนจับก็คงไม่มีเงินเสียค่าปรับ คงติดคุกจ่ายค่าปรับเอา” ลุงรัตน์บอก
ขณะที่ น้าบุญช่วย อยู่บริเวณริมคลองผ่านฟ้า เล่าว่าจากเคยขับแท็กซี่ได้วันละพันบาท เพียงพอที่จะส่งรถ เติมแก๊สแล้วยังพอมีให้เหลือเก็บ แต่เวลานี้ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปเรื่อยๆ เงินไม่พอใช้ ลูกค้าหาย แถมก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองจะป่วยเป็นโควิด-19 วันไหน เหมือนกัน “มันคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว” น้าบุญช่วยเล่า
สุดท้าย น้าแสงและครอบครัว ที่อาศัยอยู่ริมบาทวิถี ราชดำเนิน เล่าว่า ก็กลัวถูกเจ้าหน้าที่ปรับเงินมากๆ ต้องหาหน้ากากอนามัยมาสวมไว้ เพราะทุกวันนี้จะกินยังแทบไม่มี ถ้าโดนจับโดนปรับอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน
นี่คือเสียงสะท้อนจากกลุ่มเปราะบางในสังคม ในวันที่มาตรการคุมโรคของรัฐ พันธนาการชีวิต และความเสี่ยงอีกแง่มุมของชีวิตพวกเขาไว้เพิ่ม ทั้งหมดได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นในไม่ช้า
หมายเหตุ: THE STANDARD ได้รับอนุญาตจากบุคคลในภาพ ให้เผยแพร่ภาพและเรื่องราวได้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์