“เกมผีเป็นเกมที่คนดูเยอะ คนอยากเล่นน้อย คนมันกลัวผีไง”
คือประโยคสั้นๆ ในบทสัมภาษณ์ของ แซ็ค-ศรุต ทับลอย Game Director ของเกม Home Sweet Home ที่สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางน่าเป็นห่วงบางอย่าง ว่าแม้ตัวเกมภาคแรกจะได้รับความนิยมมากขนาดไหน แต่ก็ยังมีช่องทางที่เราจะช่วยสนับสนุนให้เกม ‘ผี’ ฝีมือคนไทย เดินทางไปได้ไกลมากกว่านี้
หลังจาก Home Sweet Home บุกไปสร้างความหลอน และเรียกเสียงกรี๊ดจากเกมเมอร์ทั่วโลก จนกลายเป็นปรากฏการณ์ของเหล่าแคสเตอร์ไปตั้งแต่ปี 2560 ก็ถึงเวลาแล้วที่ ‘ความหลอน’ ที่ถูกยกเครื่องมาใหม่ ใน Home Sweet Home EP.2 ที่เพิ่งปล่อยขายในราคา 456 บาท บนเว็บ http://store.steampowered.com/ แบบสดๆ ร้อนๆ ช่วงเช้าวันนี้ (25 กันยายน 2562)
เนื้อเรื่องหลักๆ จะยังเน้นการไขปริศนา ตามหาภรรยาของตัวเองเหมือนภาคแรก โดยมี ‘ผีนางรำ’ ที่ปรากฏตัวในช่วงท้ายๆ ของภาคแรกกลายมาเป็นอีกหนึ่งตัวละครสำคัญมาช่วยสร้างความหลอนในครั้งนี้ด้วย
ในส่วนเกมเพลย์ของ Home Sweet Home EP.2 ยังคงเก็บบรรยากาศลึกลับ ซับซ้อน จัมป์สแกร์จังหวะคมๆ (คมขนาดไหนถามเอก Heartrocker สตีมเมอร์ชื่อดังที่เกือบเสียผู้เสียคนจากเกมนี้มาแล้วดูได้) และการไข Puzzle ในเกมที่เพิ่มความยากและท้าทายมากขึ้น
และเพิ่มส่วนที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจมากๆ คือโหมด ‘ต่อสู้’ ที่จากเดิมเราทำได้แค่คอยหลบ และวิ่งหนีผีไปเรื่อยๆ แต่คราวนี้เราจะสามารถหันกลับมาต่อสู้กับผีเหล่านั้นได้บ้าง และลองคิดตามหลักความเชื่อไสยศาสตร์แบบไทยๆ ของเราดู จะเห็นว่ามีเครื่องมือมากมาย ทั้งน้ำมนต์, ข้าวสารเสก, สายสิญจน์, มีดลงอาคม, หวาย ฯลฯ และอุปกรณ์มากมายที่สามารถครีเอตให้น่าสนใจได้มากกว่าเกมระดับโลกหลายๆ เกมด้วยซ้ำ
รวมทั้งการแก้ปัญหาระบบการออโต้เซฟเมื่อเจอเช็กพ้อยต์ได้เท่านั้นในภาคเก่า ที่สร้างความลำบากให้กับผู้เล่น เวลาตายห่างจุดเซฟมากๆ ด้วยการเปลี่ยนเป็นระบบให้ผู้เล่นสามารถบริหารการเซฟได้ด้วยตัวเอง และกิมมิกตอนใช้จุดเซฟ ที่ต้องเอาเครื่องเซ่นไปวางไว้บนศาลเจ้า แล้วมีมือผีมาหยิบไป ก็นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่หยิบความเป็นไทยมาใช้ได้อย่างยอดเยี่ยม จนอยากปรบมือให้ทีมผู้พัฒนาเกมอย่าง YGGDrazil Group ดังๆ อีกสักที
ถ้าดูจากรายละเอียดจะเห็นว่าทีมผู้พัฒนาเกมใส่ใจทุกรายละเอียด และตั้งใจสร้างสรรค์เกม Home Sweet Home EP.2 ออกมาจริงๆ แต่ก็ยังมีเรื่องน่าเป็นห่วงที่เราพูดถึงเอาไว้ตั้งแต่แรก ว่าการสร้างเกมผีที่น่ากลัวและสมจริงจนเกินไป ก็อาจเป็นดาบสองคมที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวผู้ผลิตได้ เพราะทุกคนมัวแต่ ‘กลัว’ ที่จะไปเล่นด้วยตัวเอง เลยคิดเอาไว้ว่า เดี๋ยวรอแคสเตอร์หลายๆ คนเล่นให้ดูก่อนดีกว่า แล้วค่อยกลับมาซื้อเล่นเองทีหลัง
แต่ด้วยความที่เป็นเกมแนวสยองขวัญ ที่มีจุดขายอยู่ที่การผูกเนื้อเรื่องซับซ้อน และยิงจัมป์สแกร์ให้ผู้เล่นได้ลุ้นและตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา พอเห็นเซอร์ไพรส์ทั้งหมดจากคนที่เล่นไปแล้ว บางคนก็หมดความสนใจ และไม่กลับมาซื้อเกมแล้วเล่นด้วยตัวเองเหมือนที่ตั้งใจเอาไว้
ทำให้ตัวเกมที่ทุกคนชื่นชมทั้งเรื่องคุณภาพ ความน่ากลัว ความหลอน ฯลฯ เป็นเสียงเดียวกัน แต่มีใครบ้างที่ได้รับประสบการณ์ทั้งหมดในฐานะผู้เล่นจริงๆ เพราะถ้าดูจากยอดขายในประเทศไทย Home Sweet Home ภาคแรก ทำยอดขายได้ไม่ถึงหลักหมื่นด้วยซ้ำ!
มีอีกหนึ่งประโยคที่ผู้กำกับเกมนี้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “การทำเกมของพวกเราเป็นเรื่องของการสร้างให้คนไทยศรัทธาในความสามารถของคนไทยด้วยกันเอง” ซึ่งดูจากผลงานยืนยันได้อยู่แล้วว่าพวกเขาสร้างความ ‘ศรัทธา’ แบบนั้นขึ้นมาได้จริงๆ
แต่ความศรัทธาจากการนั่งดูคนอื่นเล่นเกมเพียงอย่างเดียว ไม่อาจสนับสนุนรายได้ให้กับทีมงานที่ตั้งใจพัฒนาสร้างสรรค์เกมนี้ขึ้นมาได้โดยตรง (สตีมเมอร์หรือแคสเตอร์คือคนที่ได้เงินมากที่สุด)
“เกมนี้ไม่ใช่เกมที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เรายังทำได้ดีกว่านี้ ถ้ามีเวลา มีเงินทุน เราอยากทำเกมที่มันยิ่งใหญ่กว่านี้ ตามสิ่งที่เราจินตนาการทั้งหมดได้จริงๆ”
เราเชื่อว่าไม่ใช่แค่พวกเขาเท่านั้น แต่คนไทยทุกคนมีความสามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่แบบนั้นได้เหมือนกัน เพียงแต่นอกจากฝีมือ ความตั้งใจของทีมงาน การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมที่ส่งถึงผู้สร้างโดยตรงก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน
ลองเปลี่ยนจากการดูอยู่ห่างๆ แล้วเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจักรวาล ‘บ้านหวาน’ ด้วยตัวเองดูสักครั้ง แล้วจะรู้ว่ามันมีความบันเทิงประเภทหนึ่ง ที่ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องรับรู้ ต้องกรี๊ด เลือดสูบฉีด หัวใจเต้นแรงด้วยตัวเองเท่านั้นถึงจะสัมผัสได้
ภาพ: Home Sweet Home
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: