ฉากเล็กๆ ที่ดูไม่ได้สลักสำคัญเท่าใดนักในหนังเรื่อง Holy Spider และจุดประสงค์ก็เพื่อบอกเล่าบรรยากาศทางสังคมของหนังตามอัตภาพ กลับกลายเป็นช่วงเวลาที่มีความหมายใหญ่โตอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อมันถูกนำไปผูกโยงกับเหตุการณ์สดๆ ร้อนๆ ที่เกิดขึ้น
ฉากดังกล่าวอยู่ในช่วงต้นเรื่อง ตัวเอกซึ่งเป็นนักข่าวหญิงเดินทางไปที่เมืองสำคัญทางศาสนาของอิหร่านเพื่อสืบสวนเหตุฆาตกรรมต่อเนื่องหญิงค้าบริการทางเพศสิบกว่าราย และตำรวจยังจับมือใครดมไม่ได้สักคนเดียว (ซึ่งสร้างจากเรื่องจริงในช่วงต้นทศวรรษ 2000) นักข่าวหญิงเช็กอินที่โรงแรมแห่งหนึ่ง และทั้งๆ ที่จองห้องไว้ล่วงหน้า เจ้าตัวกลับถูกบ่ายเบี่ยงให้เข้าพักเพราะเธอยังไม่แต่งงานและเดินทางตามลำพัง จนเธอต้องควักบัตรนักข่าวมาโชว์เพื่อสยบเรื่องยุ่งยาก กระนั้นก็ตาม รีเซฟชันของโรงแรมก็ยังไม่วายทักท้วง (ด้วยเรื่องที่ดูหยุมหยิมปลีกย่อย) ให้เธอสวมใส่ฮิญาบหรือผ้าคลุมผมที่รั้งไปทางข้างหลังให้เรียบร้อย เพราะไม่อยากมีปัญหากับ ‘ตำรวจศีลธรรม’ ซึ่งตัวเอกของเราก็ตอบกลับไปทำนองว่า ‘ไม่ใช่ธุระกงการอะไรของคุณ (มึง)’
อย่างที่หลายคนน่าจะลากเส้นประได้ไม่ยากเย็น การประท้วงที่ขยายขอบเขตกลายเป็นเหตุจลาจลในหลายเมืองใหญ่ ซึ่งแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นในอิหร่านมาก่อน และมีคนตายเป็นร้อย อีกทั้งสถานการณ์จนถึงขณะเขียนต้นฉบับนี้ยังคงไม่จบสิ้น ก็เป็นเรื่องเดียวกับที่เอ่ยถึงข้างต้นนั่นเอง
เผื่อใครไม่รับทราบเรื่องนี้ หญิงสาวชาวเคิร์ดซึ่งเดินทางมาเยี่ยมญาติที่กรุงเตหะรานถูกตำรวจศีลธรรมจับกุมช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ข้อหาไม่สวมฮิญาบปกปิดผมอย่างมิดชิด (แต่ข่าวบางกระแสบอกว่าเธอใส่กางเกงรัดรูปเกินไป ซึ่งก็ไม่ได้เปลี่ยนความหมายแต่อย่างใด) ก่อนที่จู่ๆ เธอจะหมดสติขณะถูกควบคุมตัวและเสียชีวิตอีก 3 วันต่อมาในโรงพยาบาล ทางการระบุสาเหตุว่าเธอหัวใจวาย และปฏิเสธข้อกล่าวหาของพยานรู้เห็นที่บอกว่าเธอถูกตำรวจศีลธรรมใช้กระบองทุบตีที่ศีรษะระหว่างอยู่ในรถแวน
เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นเดือดดาลให้กับผู้หญิงอิหร่านจำนวนมาก และตอบโต้ด้วยการจุดไฟเผาฮิญาบของตัวเองเป็นการประท้วง (ซึ่งสำหรับสังคมที่ศาสนาเป็นตัวบทกฎหมาย สิ่งที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเรื่องรุนแรง) และก็อย่างที่กล่าวก่อนหน้า สถานการณ์ก็ลุกลามบานปลายกลายเป็นการขับไล่ผู้นำประเทศ
ช่วยไม่ได้ที่ฉากเล็กๆ ข้างต้น น่าจะทำให้ผู้ชมจินตนาการได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกความจริง หรือว่าไปแล้ว หนึ่งในเป้าประสงค์สำคัญของหนังเรื่อง Holy Spider งานกำกับของ Ali Abbasi (ซึ่งเป็นชาวอิหร่านที่อพยพไปอยู่เดนมาร์ก) ก็คือการสาธยายให้คนดูได้รับรู้ถึงสถานการณ์อันยากลำบากและน่าอึดอัดของการเป็นผู้หญิงในสังคมที่เข้มงวดทางศาสนาอย่างชนิดที่แทบไม่มีอากาศถ่ายเท และไม่ว่าพวกเธอจะอยู่ในชนชั้นวรรณะแบบไหน สถานะที่แท้จริงก็คือประชาชนชั้นสองหรือสาม
ไม่มีข้อสงสัยว่าหนังเรื่อง Holy Spider ซึ่งถ่ายทำกันในจอร์แดน จะถูกรัฐบาลอิหร่านต่อต้าน หรือจริงๆ แล้ว รัฐมนตรีวัฒนธรรมถึงกับประกาศว่าชาวอิหร่านในประเทศคนไหนที่เกี่ยวข้องกับ Holy Spider จะต้องโดนลงโทษ ซึ่งนอกจากไม่มีผลทางปฏิบัติแล้ว (เพราะทีมงานอยู่นอกประเทศ รวมถึงนักแสดงนำที่ลี้ภัยอยู่ฝรั่งเศส) กลับยิ่งสร้างความน่าฉงนสนเท่ห์ให้กับตัวหนัง กระทั่งสนับสนุนแก่นสารของสิ่งที่ผู้สร้างบอกเล่าได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และไหนๆ ก็ไหนๆ หนังของ Abbasi เรื่องนี้ก็ดุเดือดและจาบจ้วงทั้งในแง่ของภาพ (เซ็กซ์และความรุนแรง) และเนื้อหา (การวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานรัฐและความงมงายในศาสนา) ในระดับที่น่าจะทำให้เหล่าผู้นำทางจิตวิญญาณนั่งก้นไม่ติดเก้าอี้จริงๆ
สมมติว่าจะต้องผ่าพิสูจน์ Holy Spider (ซึ่งชนะรางวัลนักแสดงนำหญิงจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด รวมถึงเป็นตัวแทนจากประเทศเดนมาร์กชิงออสการ์สาขาหนังนานาชาติ) บอกเล่าเรื่องที่ยึดโยงขนบของหนังเขย่าขวัญอย่างหลวมๆ หรือว่ากันตามจริง หนังไม่ได้มุ่งเน้นความตื่นเต้น หรือสถานการณ์ที่ชวนอกสั่นขวัญแขวน เท่ากับการพาผู้ชมไปสอดส่องชีวิตของตัวละครที่เกี่ยวข้อง ไล่เรียงตั้งแต่โสเภณีสองสามคนที่จับพลัดจับผลูกลายเป็นเหยื่อเคราะห์ร้ายของฆาตกร ซึ่งว่าไปแล้ว วาระแอบแฝงของคนทำหนังก็คือการเน้นย้ำให้เห็นว่าพวกหล่อนไม่ใช่สิ่งโสโครกที่ต้องถูกชำระล้างตามความเชื่อของคนที่เลื่อมใสหรือหมกมุ่นในศาสนาด้วยประการทั้งปวง และทุกคนล้วนมีใครบางคนอยู่ข้างหลังเสมอ
ขณะที่ในส่วนของฆาตกรก็ไม่ได้ถูกแอบซ่อนในเงามืด และคนดูได้พบ Saeed Haneai (รับบทโดย Mehdi Bajestani) ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งไม่มากไม่น้อย เขาเป็นชายวัยกลางคนที่ดูธรรมดาสามัญ ทหารผ่านศึกสงครามอิหร่าน-อิรักในช่วงทศวรรษ 1980 ที่กลายมาเป็นคนงานก่อสร้าง พ่อลูกสามของครอบครัวชนชั้นแรงงานที่ไม่ได้ขัดสนในทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด และอีกอย่างที่ต้องระบุก็คือ เขาไม่ได้ส่อวี่แววเจ็บไข้ได้ป่วยทางจิตเหมือนนักฆ่าต่อเนื่องที่เราเห็นในหนังแนวนี้
กระนั้นก็ตาม หนังก็ไม่ได้ปิดบังเหตุผลของปฏิบัติการอันโหดเหี้ยมซึ่งอยู่ในบทสนทนากับเพื่อนที่เคยร่วมรบด้วยกัน และมันไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ตอนไปรบก็ไม่ได้รับบาดเจ็บทุพพลภาพหรือพลีชีพ และงานก่อสร้างที่ทำอยู่ก็ไม่ใช่อาชีพที่เชิดหน้าชูตา สิ่งที่ละไว้ฐานเข้าใจก็คือ การฆ่าโสเภณีหมายถึงการได้ทำอะไรสักอย่างที่ถือเป็นคุณประโยชน์แก่ศาสนา หรือบางทีเจ้าตัวคงมองว่ามันคือเสียงเพรียกจากพระผู้เป็นเจ้า เป็นทั้งวีรกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และการเสียสละที่ควรได้รับการยกย่อง หรือจริงๆ แล้ว เขาถึงกับโทรศัพท์ไปบอกนักข่าวหลังลงมือ และเดินตรวจแผงขายหนังสือพิมพ์เพื่อชื่นชมผลงาน
แต่ประเด็นที่น่าขบคิดจริงๆ และเป็นสิ่งที่คนทำหนังตั้งธงเพื่อค้นหาคำตอบก็คือ ทั้งๆ ที่การฆ่าไม่ได้ซับซ้อนและน่าเชื่อว่าเจ้าตัวต้องทิ้งหลักฐานจำนวนมากให้แกะรอยได้แน่ๆ (รอยนิ้วมือ, ดีเอ็นเอ, บาดแผลจากการต่อสู้ขัดขืน, พยานรู้เห็น) แต่ด้วยเหตุผลกลใด หมอนี่ถึงยังคงลอยนวลอยู่ได้ตั้งนาน และลงเอยด้วยการฆ่าหญิงค้าบริการทางเพศถึง 16 คนในช่วงเวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งจนแล้วจนรอด มันอธิบายได้สั้นๆ ง่ายๆ ว่า ยกเว้นคนที่เป็นเครือญาติของเหยื่อแล้ว ไม่มีใครคิดว่าตัวเองเสียผลประโยชน์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หรือมองเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และความตายของผู้หญิง ‘ชั้นต่ำ’ ไม่มีความหมายแต่อย่างใด
หรืออีกนัยหนึ่ง จุดโฟกัสจริงๆ ของหนังเรื่อง Holy Spider ไม่ได้อยู่ที่การฆ่าของตัวฆาตกร หากได้แก่สังคมที่หล่อหลอมทัศนคติและค่านิยมเลือดเย็นแบบนี้ขึ้นมา หรือท้ายที่สุด หนังถึงกับให้เห็น Saeed กลายเป็นวีรบุรุษของชุมชน ข้อสำคัญ อุดมการณ์ความเชื่อของเขายังได้รับการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นอานิสงส์ในทางศาสนาไปโดยปริยาย
แต่พูดอย่างถี่ถ้วนจริงๆ ‘ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ตามที่ถูกบอกเล่าในหนังไม่ใช่แค่คนชายขอบที่มีอาชีพพิเศษเท่านั้น แต่รวมถึงผู้หญิงทุกคน ที่สุดท้ายแล้วต้องเผชิญวิบากกรรมของการตกเป็นเบี้ยล่างเหมือนกัน ในกรณีของนักข่าวหญิง (Zar Amir Ebrahimi ในบทบาทการแสดงที่สะดุดตา และว่ากันว่าเธออาจได้ชิงออสการ์สาขานำหญิงยอดเยี่ยมปีหน้า) ที่พยายามคลี่คลายปมฆาตกรรม เรื่องอื้อฉาวแต่หนหลังที่เธอถูกเจ้านายลวนลามทางเพศ กลับกลายเป็นชนักติดหลังทั้งๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของเธอแม้แต่นิดเดียว (เผื่อเป็นข้อมูล ตัว Ebrahimi เองก็ตกเป็นข่าวอื้อฉาวจากกรณีคนนำภาพบันทึกบุคคลใบหน้าคล้ายเธอมีเซ็กซ์กับผู้ชายคนหนึ่งไปปล่อยในอินเทอร์เน็ต และทั้งๆ ที่เธอเป็นผู้เสียหาย เธอกลับกลายเป็นผู้ต้องหาและต้องหนีออกจากประเทศ) หรือฉากที่หัวหน้าตำรวจถือวิสาสะบุกเข้าไปถึงห้องพักของเธอ ก็ตอกย้ำสภาวะที่เปราะบางอ่อนไหวของการเป็นผู้หญิงในสังคมที่พวกเธอไม่ได้รับอนุญาตให้มีปากมีเสียง หรือเป็นตัวของตัวเอง
อีกครั้งหนึ่ง ส่วนที่พิเศษของหนังได้แก่ความไม่ประนีประนอมทั้งเนื้อหาและภาพที่นำเสนอ ซึ่งก็ต้องบอกว่าหนักหน่วงเอาการ กระนั้นก็ตาม มันก็ยังไม่ถึงกับฉวยโอกาสจากความอุจาดเบื้องหน้า แม้ว่าภาพเหล่านั้นจะหลอกหลอนความรู้สึกทีเดียว แต่ในทางกลับกัน ส่วนที่ทำให้หนังดูยวบและรวบไปหน่อยได้แก่ความพยายามจะพาคนดูไปรับรู้มุมมองความเห็นของผู้คนรอบข้างในช่วงราวๆ ครึ่งค่อนชั่วโมงหลัง และมันส่งผลต่อความราบรื่น เป็นธรรมชาติและชวนให้นึกสงสัยถึงความเป็นไปได้อยู่พอสมควร
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งก็คือ ตอนที่ Abbasi ทำหนังเรื่อง Holy Spider เขาไม่มีทางล่วงรู้ได้แน่ๆ ว่า จนแล้วจนรอด หนังมันจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการประท้วงเรียกร้องเสรีภาพของผู้หญิงในอิหร่านตอนนี้อย่างไร และสองสามอย่างที่สามารถสรุปได้ก็คือ สิ่งที่ถูกบอกเล่าในหนังเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เสกสรรปั้นแต่งหรือการตั้งข้อกล่าวหาอย่างเลื่อนลอย เพราะมันเชื่อมโยงเข้ากับโลกความจริงอย่างแนบเนียน และฆาตกรต่อเนื่องที่แท้จริงในที่นี้ก็ไม่ใช่ตัวบุคคล หากได้แก่ความหมกมุ่นงมงายในศาสนา ความคิดที่ล้าหลัง ดักดาน และคับแคบ การใช้อำนาจบาตรใหญ่จนเคยตัว การมองเห็นความเป็นมนุษย์ไม่เท่ากัน การมองเห็นตัวเองในฐานะ ‘บุรุษที่หนึ่ง’ ตลอดเวลา
Holy Spider (2022)
กำกับ: Ali Abbasi
ผู้แสดง: Mehdi Bajestani, Zar Amir Ebrahimi, Arash Ashtiani
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่