เกิดอะไรขึ้น:
ยอดขายสาขา (SSS) เติบโต YoY ในร้านค้าทุกรูปแบบใน 4Q65TD แต่ต่ำกว่า 3Q65 เพราะไม่มีการปิดสาขาสืบเนื่องมาจากการล็อกดาวน์ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้านโฮมโปร (85% ของยอดขาย) SSS เติบโต 1%YoY ใน 4Q65TD (เทียบกับ เพิ่มขึ้น 18%YoY ใน 3Q65) โดยเกิดจากฐานสูงของปีก่อนสืบเนื่องมาจากอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent Up Demand) หลังจากกลับมาเปิดร้านและจำนวนลูกค้าเข้าร้านชะลอตัวลง เนื่องจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในช่วงต้นเดือนตุลาคม
InnovestX Research คาดว่า SSS จะปรับตัวดีขึ้นใน 4Q65 หลังจากระดับน้ำลดลง (ยอดขายในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม เติบโต 10-20%HoH หลังจากฝนลดลง) การจัดงาน Homepro Super Expo ที่ร้านโฮมโปรทุกสาขาในช่วงที่เหลือของ 4Q65 และอานิสงส์จากมาตรการช้อปดีมีคืนที่คาดว่ารัฐบาลจะประกาศออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (ยอดขายของ HMPRO ได้แรงหนุนจากมาตรการนี้สูงถึง 500 ล้านบาท, 3% ของยอดขาย)
ร้านค้ารูปแบบอื่นๆ ใน 4Q65TD SSS ของร้านเมกาโฮม (13% ของยอดขาย) เติบโต 1.5%YoY (เทียบกับ เพิ่มขึ้น 6%YoY ใน 3Q65) และ SSS ของร้านโฮมโปรในประเทศมาเลเซีย (2% ของยอดขาย) เติบโต 15%YoY (เทียบกับ เพิ่มขึ้น 100%YoY ใน 3Q65)
ส่วนแผนขยายสาขา HMPRO ปรับแผนขยายสาขาในปี 2565 โดยจะเปิดสาขาใหม่ 6 สาขา (พื้นที่ขายสุทธิจะเพิ่มขึ้น 6%) จากเดิมที่เป้าไว้ 7 สาขา โดยจะเลื่อนเปิดร้านโฮมโปร 1 สาขา จากเดือนธันวาคม 2565 เป็นเดือนมกราคม 2566 ใน 4Q65 บริษัทจะเปิดร้านโฮมโปร 1 สาขา (ย้ายทำเลที่ตั้งจากร้านโฮมโปรเอสซึ่งเป็นร้านขนาดเล็ก เพราะอุปสงค์แข็งแกร่ง) ในลาดกระบัง และเปิดร้านเมกาโฮม 2 สาขา ในสุราษฎร์ธานีและขอนแก่น บริษัทตั้งเป้าขยายสาขาให้ถึง 150 สาขาภายใน 5 ปีข้างหน้า จาก 117 สาขา ณ สิ้นปี 2565
ด้าน EBIT Margin ที่กว้างขึ้น โดยอัตรากำไรขั้นต้นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น YoY ใน 4Q65 โดยได้รับการสนับสนุนจาก
- สัดส่วนยอดขายสินค้ากลุ่ม Private Brand ที่ให้มาร์จิ้นสูงต่อยอดขายที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับที่สูงกว่า 20.5% ในปี 2565 (เทียบกับ 19.5% ในปี 2564 และ 20.8% ใน 9M65)
- อำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่ดีขึ้น อันเป็นผลมาจากยอดขายที่สูงขึ้นผ่านการรวมคำสั่งซื้อสำหรับร้านโฮมโปรกับร้านเมกาโฮม
- การเพิ่มประสิทธิภาพด้านต้นทุนโลจิสติกส์จากการวางแผนจัดซื้อได้ดีขึ้น
- รายได้จากซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้นจากต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น
ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่าย SG&A/ยอดขาย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น YoY ในปี 4Q65 โดยเกิดจากค่าสาธารณูปโภค ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และค่าแรงที่สูงขึ้น โดยจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้บางส่วนหลังจากรวมร้านโฮมโปรและร้านเมกาโฮมเข้าด้วยกันในเดือนกรกฎาคม 2565
รายได้ค่าเช่าคาดว่าจะฟื้นตัว YoY ใน 4Q65 โดยเกิดจากการมีพื้นที่ให้เช่ามากขึ้น การให้ส่วนลดค่าเช่าลดลง และรายได้จากผู้เช่าที่ดีขึ้น และตั้งเป้ารายได้ค่าเช่าฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิดในปี 2566
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น HMPRO ปรับเพิ่มขึ้น 7.41%MoM สู่ระดับ 14.50 บาท ดีกว่า SET Index ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.23%MoM สู่ระดับ 1,625.02 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี 2565:
InnovestX Research คาดว่ากำไร 4Q65 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี 2565 โดยจะเติบโต YoY โดยได้รับการสนับสนุนจาก SSS ที่เติบโตดีขึ้น มาร์จิ้นที่กว้างขึ้นจากการมีสัดส่วนยอดขายที่ดีขึ้น และรายได้ค่าเช่าที่สูงขึ้น และ QoQ จากปัจจัยฤดูกาล
สำหรับในปี 2565 HMPRO ตั้งเป้า SSS ฟื้นตัวกลับมาเติบโต 5-7%YoY เร่งขยายสาขา โดยจะเปิดสาขาใหม่ 6 สาขา และมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นควบคู่กับยอดขายที่ฟื้นตัวและประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ด้วย SSS และมาร์จิ้นที่ดีขึ้น ประกอบกับรายได้ค่าเช่าที่แข็งแกร่งขึ้น จึงคาดว่ากำไรปี 2565 ของ HMPRO จะเติบโต 17%YoY
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การเปลี่ยนแปลงในด้านกำลังซื้อและต้นทุนที่สูงขึ้นจากแรงกดดันเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี