วันนี้ (14 สิงหาคม) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับรายงานการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจากสถาบันบำราศนราดูร จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
พบว่าผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย อายุ 34 ปี มีประวัติเป็นไข้ ปวดศีรษะ คัน มีผื่นและตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2566 และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2566 แพทย์สงสัยเป็นโรคฝีดาษลิง จึงส่งตัวอย่างตรวจยืนยันผลพบสารพันธุกรรมของไวรัสฝีดาษลิง
ขณะเดียวกันยังตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีและเชื้อซิฟิลิส ต่อมาผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอ ตรวจพบภาวะติดเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสของเอชไอวี ส่วนบริเวณผิวหนังมีผื่นแผลจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว ได้รับการรักษาจนครบ 4 สัปดาห์ แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้
ต่อมาวันที่ 9 สิงหาคม ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย หายใจลำบาก ญาติจึงนำผู้ป่วยมารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ตรวจพบว่ามีผื่นจากโรคฝีดาษลิงกระจายทั่วตัว และมีการตายของเนื้อเยื่อที่จมูกและคอเป็นบริเวณกว้าง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนที่แขนและขา มีภาวะปอดอักเสบ และอาการสมองอักเสบ ผลตรวจเม็ดเลือดขาว CD4 เท่ากับ 16 เซลล์ต่อมิลลิลิตร แสดงถึงภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง แพทย์ได้ให้ยาต้านไวรัสฝีดาษลิงและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย ต่อมาผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในคืนวันที่ 11 สิงหาคม 2566
นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย สถานการณ์ล่าสุด ข้อมูล ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2566 มีรายงานผู้ป่วยรวม 189 รายในไทย เป็นสัญชาติไทย 161 ราย ชาวต่างชาติ 28 ราย มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น ซึ่งระยะแรกพบผู้ป่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ก่อนแพร่ไปจังหวัดอื่น
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และมีติดเชื้อเอชไอวีร่วมด้วยจำนวน 82 ราย (ร้อยละ 43) ปัจจัยเสี่ยงหลักคือการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักที่เป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีผื่น/ตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ปาก หรือตามร่างกาย และมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด สัมผัสแนบชิด หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้สงสัยฝีดาษลิงหรือผู้ป่วยฝีดาษลิง ให้สังเกตตนเองภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน
หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ต่อมน้ำเหลืองโต มีผื่น หรือตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก ให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพหรือโรงพยาบาลทันที โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงประกอบการวินิจฉัย
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โรคฝีดาษลิงระบาดเพิ่มขึ้น สะท้อนถึงพฤติกรรมเสี่ยงที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ป่วยฝีดาษลิงรายใหม่เป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบครึ่งหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว มักมีการติดเชื้อฉวยโอกาสอื่นร่วมด้วยได้ง่ายทำให้เกิดอาการรุนแรงจนเสียชีวิต
ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิงเสียชีวิต 152 รายแล้วตั้งแต่เริ่มการระบาดในยุโรปและหลายประเทศตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 โดยปัจจุบันประเทศไทยได้รับมอบยาต้านไวรัสชื่อ Tecovirimat (TPOXX) จำนวนหนึ่งจากองค์การอนามัยโลก มาใช้รักษาผู้ป่วยฝีดาษลิงที่มีอาการมากที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และจะต้องมีการวัดประสิทธิผลของยานี้ไปพร้อมกัน
ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงสามารถป้องกันได้ โดยงดเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่สัมผัสแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น จึงขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังติดตามกลุ่มเสี่ยง และสื่อสารวิธีการป้องกันแพร่เชื้อโดยงดการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าและไม่สัมผัสแนบเนื้อผู้มีอาการสงสัยโรคฝีดาษลิง
โดยหากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422