นับแต่เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชประสงค์ พระบรมราโชบาย และพระราชดำริ เพื่อดูแลทุกข์สุขของพสกนิกรทั่วทั้งแผ่นดิน โครงการในพระราชดำริน้อยใหญ่เกิดขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด ทรงมีพระราชดำริให้ริเริ่ม ทรงให้เชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาโครงการ ทรงติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินโครงการ พระราชทานคำแนะนำเพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น และเสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการต่างๆ
ภาพ: ฐานิส สุดโต
พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9
เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ให้หลังการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นเวลา 6 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ศูนย์กลางแห่งความจงรักภักดีของคนทั้งแผ่นดิน ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพวงมาลาและวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ในวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันนวมินทรมหาราชหรือวันคล้ายวันสวรรคต และในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันพ่อแห่งชาติของชาวไทย
ขณะที่พสกนิกรต่างปลาบปลื้มใจ เพราะหลังจากนี้พวกเขาจะได้มีพระบรมราชานุสาวรีย์ ไว้สักการะในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนที่มีพระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวงรัชกาลที่ 5 ไว้สักการะที่ลานพระราชวังดุสิต
พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 และอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ตั้งพระราชหฤทัยในการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระบรมรูปออกแบบและปั้นโดยสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร หล่อด้วยโลหะสำริด มีขนาดความสูง 7.7 เมตร หรือขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารเต็มยศของกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ พระหัตถ์ขวาทรงถือพระคทาจอมทัพภูมิพล พระหัตถ์ซ้ายทรงถือกระบี่และสายยงยศจอมทัพไทย หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับถาวรเมื่อครั้งทรงพระชนม์ และศูนย์รวมของโครงการพัฒนาน้อยใหญ่ที่ได้เกิดขึ้นตลอดรัชกาล
‘วรรณพร พรประภา’ หนึ่งในคณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้ เล่าไว้ว่า ‘สวนแห่งนี้ยังออกแบบให้มีร่องลมและแกนนำสายตา 9 แกน ฉะนั้นไม่ว่าอยู่ตรงจุดไหนในสวนแห่งนี้จะเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 เป็นจุดหมายตา เป็นหัวใจ’ ทั้งยังจัดให้มีทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เพื่อให้ประชาชนที่เข้ามาภายในอุทยานจากทั้งทางเข้าฝั่งถนนศรีอยุธยาและฝั่งถนนพิษณุโลกได้ขึ้นไปสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ได้โดยสะดวก
ภาพ: ฐานิส สุดโต
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ ร.9
อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (King Rama IX Memorial Park) มีพื้นที่ทั้งหมด 297 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมสามแยกนางเลิ้ง ด้านทิศเหนือติดถนนศรีอยุธยา ด้านทิศตะวันออกติดถนนสวรรคโลก ด้านทิศใต้ติดถนนพิษณุโลก และบางส่วนติดโรงเรียนราชวินิต มัธยม ด้านทิศตะวันตกติดถนนพระรามที่ 5 เดิมเป็นที่ตั้งของสนามม้านางเลิ้ง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายในการออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ไปยังคณะทำงานออกแบบ ซึ่งนำมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบสวนสาธารณะคือ ‘น้ำคือชีวิต จากนภา ผ่านภูผา สู่นที’ ซึ่งใกล้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2567
อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้มีลานพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 เป็นจุดศูนย์กลาง มีสระน้ำรูปเลข ๙ จำนวน 47 ไร่ เป็นพื้นที่สำคัญในการศึกษาการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ รวมถึงสามารถใช้เป็นแก้มลิงรองรับปัญหาน้ำท่วมของกรุงเทพฯ สะพานรูปเลข ๙ เป็นสะพานและทางเดินภายในสวน สะพานหยดน้ำพระทัย สื่อให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยพระองค์ที่หล่อเลี้ยงคนไทยมาตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ สะพานไม้เจาะบากง จำลองสะพานไม้เจาะบากง จังหวัดนราธิวาส ที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงงาน บริเวณโดยรอบมีท่าน้ำ น้ำตก และลำธารจำลอง ตามแบบป่าฝนเขตร้อน
พร้อมด้วยสวนป่าธรรมชาติที่มีการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ 55 พันธุ์ จำนวนมากกว่า 4,500 ต้นบนพื้นที่สีเขียวจำนวน 105 ไร่ รวมทั้งมีลานกีฬาที่เหมาะสมกับยุคสมัย ประชาชนสามารถเดินทางมายังอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ได้สะดวก ทั้งรถยนต์ จักรยาน หรือรถสาธารณะ ในอนาคตยังเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกอีกด้วย
พระราชทานเงิน 800 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ณ โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานอำนวยการจัดหาทุนอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา ทรงเฝ้าฯ รับเสด็จ
ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช เคยนำเสนอไว้ว่า “การสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เป็นโครงการสุดท้ายที่พระองค์พระราชทานเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้แก่โรงพยาบาลศิริราช” ทั้งเป็นอาคารที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า อาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษาอีกด้วย เมื่ออาคารดังกล่าวเปิดใช้บริการแบบเต็มศักยภาพจะสามารถรองรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 รายต่อปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20,000 รายต่อปี
และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานเงินรวม 800 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารและจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยได้พระราชทานเงิน 100 ล้านบาท สมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร ๘๔ พรรษา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ซึ่งในวันนั้นได้มีพระราชดำรัสกับ ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ความว่า “…ช่วยโครงการศิริราชที่ดำเนินการอยู่ หวังว่าจะช่วยได้บ้าง และขอขอบคุณที่ดูแลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และต่อมาได้พระราชทานเงิน 700 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับใช้ในอาคาร เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562
ภาพ: สำนักพระราชวัง
พระราชทาน ‘สระบ่อดินขาว’
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าป่าที่วัดช่องแค และพระราชทาน ‘สระบ่อดินขาว’ แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้ประชาชนในพื้นที่
‘สระบ่อดินขาว’ เดิมเป็นพื้นที่ที่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) มาดำเนินการขุดดินขาวส่งไปผลิตปูนซีเมนต์ที่โรงผลิตปูนซีเมนต์บางซื่อ แต่ต่อมาได้ยุติการขุดดินทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ 766 ไร่ อยู่ในเขตหมู่ 1 เชื่อมกับหมู่ 2 ตำบลพรหมนิมิต หมู่ 7 ตำบลช่องแค จากนั้นสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้ให้ประชาชนทั่วไปเช่าที่ดินบริเวณนี้เพื่อทำการเกษตรและปลูกที่อยู่อาศัย
ต่อมาได้พัฒนาสระบ่อดินขาวให้เป็นโครงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคของราษฎร โดยพัฒนาให้เป็นพื้นที่ใช้กักเก็บน้ำในฤดูฝนสำหรับสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และยังเป็นโครงการที่ช่วยสร้างแหล่งน้ำสำคัญของชุมชน ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ทั้งการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร
ภาพ: สำนักพระราชวัง
โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ฯ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี
โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการต้นแบบที่มีการก่อสร้างระบบประปาขนาดใหญ่ ทำการเจาะบ่อบาดาลพร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำบาดาล มีถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาด 2,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง หอถังเหล็กเก็บน้ำชนิดรักษาแรงดันขนาด 300 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง มีอาคารศูนย์การเรียนรู้ด้านน้ำบาดาลและจุดบริการน้ำดื่มสะอาด พร้อมสร้างแนวท่อกระจายน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ ในตำบลหนองฝ้าย เพื่อให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี โดยมีประชาชนได้รับประโยชน์จำนวน 58,000 คน 11,600 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำการเกษตรได้รับประโยชน์จำนวน 300,000 ไร่ ปริมาณน้ำที่ได้ประมาณ 2.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง โดยมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ รวมทั้งสิ้น 15 โครงการใน 11 จังหวัด ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤตภัยแล้ง ให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี มีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 37,600 ครัวเรือน หรือ 143,000 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 557,000 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 11.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยประหยัดรายจ่ายให้ประชาชนกว่า 500 ล้านบาทต่อปี จากการได้มีน้ำดื่มสะอาดบริการฟรี
ภาพ: สำนักพระราชวัง
ภาพ: สำนักพระราชวัง
โครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และทรงเปิดสนามจักรยาน ‘สราญจิตมงคลสุข’ ณ บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร
บึงสีไฟมีพื้นที่ 5,390 ไร่ เป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สำคัญเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค การเกษตร การประมง และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ ต่อมาจังหวัดพิจิตรได้จัดทำโครงการพัฒนาบึงสีไฟเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของภาคเหนือตอนล่าง มีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ปลูกต้นไม้ และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ
ทั้งยังพัฒนาพื้นที่ให้เป็นสนามแข่งขันจักรยานระดับนานาชาติ ประกอบด้วย ทางจักรยานรอบบึงสีไฟ ความยาว 10.28 กิโลเมตร สนามจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ (BMX) สนามจักรยานขาไถสำหรับเด็กเล็ก และสนามปั๊มแทร็ก ซึ่งมีพื้นผิวสนามที่ใช้วัสดุตามมาตรฐานระดับนานาชาติของสหพันธ์จักรยานสากล ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสนามจักรยาน ‘สราญจิตมงคลสุข’ อันมีความหมายว่า สนามจักรยานเป็นสถานที่ทำให้ใจสำราญเป็นมงคลและสุขสบาย
ในเย็นวันนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงฉลองพระองค์ชุดทรงจักรยาน เสด็จพระราชดำเนินไปยังลู่ปั่นจักรยาน ทรงบีบแตรสัญญาณปล่อยจักรยานในสนามจักรยานเป็นปฐมฤกษ์ แล้วทรงจักรยานร่วมกับคณะกรรมการโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ ข้าราชการ และประชาชนจังหวัดพิจิตร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ด้วยระยะทาง 1 รอบสนาม หรือ 10.28 กิโลเมตร
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงจักรยานบีเอ็มเอ็กซ์ (BMX) ซึ่งมีจุดสตาร์ทของสนามที่ระดับความสูง 5 เมตร ทรงจักรยานผ่านลูกระนาดในระดับที่ต่างกัน พร้อมทรงจักรยานที่สนามปั๊มแทร็ก ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงจักรยานด้วยความสนพระราชหฤทัย
พระราชประสงค์ พระบรมราโชบาย และพระราชดำริทั้งหลาย เป็นไปเพื่อพสกนิกรชาวไทย สมดังกับเนื้อร้องท่อนหนึ่งในเพลงสรรเสริญพระบารมี นั่นคือ “ขอบันดาล ธ ประสงค์ใด จงสฤษดิ์ดัง หวังวรหฤทัย” เพราะพระราชประสงค์นั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม