×

EXCLUSIVE: จับตา High Net Worth ไทยลงทุนหุ้นนอกหลายพันราย โดนรีดภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ฟากกองทุนรวมต่างประเทศรอด

19.09.2023
  • LOADING...
ภาษีเงินได้

กรณีที่กรมสรรพากรออกประกาศเตรียมเริ่มเก็บภาษีเงินได้จากต่างประเทศ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงเงินได้หรือผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศกับนักลงทุน แม้ว่าจะนำเงินได้จากการลงทุนกลับเข้ามาในปีภาษีอื่นๆ ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีด้วย จากเดิมจะคำนวณเก็บภาษีเฉพาะที่นำเงินกลับเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป 

 

จากกรณีนี้ ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ให้สัมภาษณ์ความเห็นกับ THE STANDARD WEALTH ว่าสาเหตุที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากต้องการกระจายความเสี่ยงการลงทุน โดยเฉพาะในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งตลาดหุ้นไทยที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้นักลงทุนไทยเริ่มทยอยออกไปลงทุนในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น

 

ทั้งนี้ หลังจากสรรพากรประกาศว่า จะเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในต่างประเทศกับนักลงทุนจากการลงทุนกลับเข้ามาไทย เบื้องต้นยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อลูกค้าของโบรกเกอร์ที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้น โบรกเกอร์ทั่วไปต้องกลับมาวางแผนใหม่เพื่อรับมือกับกรณีที่เกิด โดยต้องให้นักกฎหมายนำข้อมูลกฎหมายภาษีในต่างประเทศในแต่ละประเทศมาศึกษา ว่าประเทศใดมีหรือไม่มีสัญญา หรือ อนุสัญญาภาษีซ้อนหรือกับประเทศไทยเพื่อช่วยในการวางแผนกับนักลงทุนที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ

 

เก็บภาษีลงทุนนอก เกิดความไม่เท่าเทียม

นอกจากนี้ อาจมีคำแนะนำให้นักลงทุนหันไปลงทุนผ่านกองทุนรวมลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะปัจจุบันจะไม่ถูกจัดเก็บภาษี แต่ยังไม่มีความมั่นใจว่าในอนาคตกรมสรรพากรจะมีแผนในการจัดภาษีกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมอีกด้วยหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีกองทุนรวมของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมากด้วยเช่น

 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยคงต้องไปหารือกับกรมสรรพากรหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องว่าสโคปเรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะตอนนี้มีประกาศที่ออกมาเพียง 1 หน้า ยังไม่มีรายละเอียดต่างๆ ที่ชัดเจนในการเก็บภาษีส่วนนี้ออกมา หากมีรายละเอียดแล้วจะนำมาวางแผนปรับตัวกันใหม่ ถ้ามองในแง่บวกคือภาครัฐไม่อยากให้นักลงทุนไปลงทุนต่างประเทศมากเกินไป ส่วนแง่ลบคือทำให้นักลงทุนไม่สามารถกระจายความเสี่ยงการลงทุนได้ ซึ่งถือว่ากระทบคนจำนวนมาก เพราะถ้ารวมกันทุกโบรกเกอร์น่าจะมีคนถูกกระทบหลักหลายพันคน”

 

สำหรับปัจจุบัน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส มีกลุ่มลูกค้า High Net Worth ที่ออกไปลงทุนต่างประเทศหลักหลายร้อยรายที่มีการลงทุนสม่ำเสมอ (Active) ในสินทรัพย์ต่างประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ เพราะในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา บล.เอเซีย พลัส เริ่มเปิดให้บริการและสนับสนุนให้ลูกค้าออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสในการทำผลตอบแทนที่ดีขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มผู้ลงทุน High Net Worth ของไทยที่เปิดบัญชีลงทุนในโบรกเกอร์บริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง ซึ่งกลุ่มนักลงทุนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นนำเงินได้หรือผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมาเข้ามายังประเทศ โดยสามารถฝากสินทรัพย์ไว้กับบัญชีที่เปิดไว้ในต่างประเทศได้ หรือกรณีที่เป็นกลุ่มการบริการสำหรับลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (Private Banking) แต่สามารถเก็บทรัพย์สินของลูกค้าไว้ในต่างประเทศซึ่งภาครัฐของไทยจะไม่สามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ได้ ดังนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดความไม่เทียมระหว่างนักลงทุนไทยที่ฝากสินทรัพย์ไว้ในต่างประเทศกับนักลงทุนไทยรายได้กลับเข้ามาประเทศไทยด้วย

 

กองทุนรวมลงทุนนอกรอด ไม่โดนภาษี

ชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย และนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ประเมินว่าการเก็บภาษีในกรณีนี้จะไม่มีผลกระทบเชิงลบภาพรวมของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ เพราะประกาศของสรรพากรดังกล่าวไม่ได้มีผลครอบคลุมกองทุนรวมในต่างประเทศซึ่งไม่ได้ถูกเรียกเก็บภาษีในส่วนนี้

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าอาจจะมีผลกระทบเงินลงทุนของนักลงทุนไทยที่ออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของกลุ่มผู้ที่ความมั่งคั่ง (Wealth) หรือกลุ่มการบริการสำหรับลูกค้าที่มีสินทรัพย์สูง (Private Banking)

“ประเด็นนี้ไม่ได้มีผลเชิงลบกับกองทุนรวม แต่จะเป็นบวกหรือไม่ต้องรอดูต่อไป เพราะวัตถุประสงค์ที่นักลงทุนไทยไปลงทุนต่างประเทศ เพราะต้องการบริหารเงินลงทุนส่วนบุคคล ซึ่งเรื่องภาษีเป็นส่วนหนึ่งในนั้น หากภาษีเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ก็ต้องตามผลที่จะตามมาในอนาคตดูว่าคนที่ไปลงทุนต่างประเทศแล้วถือเงินข้ามปีภาษีแล้วจึงนำเงินกลับเข้าไทยมีเยอะหรือไม่ ถ้ามีเยอะอาจจะเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมกองทุนรวม แต่ถ้ามีไม่เยอะคงเป็นผลบวกไม่มาก” ชวินดากล่าว

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศ หรือ ธปท. เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่มีข้อมูลเกี่ยวกับนักลงทุนไทยที่มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศแล้วถือเงินได้จากการลงทุนรอข้ามปีภาษีเพื่อให้ได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังไม่ได้เปิดเผยออกมา ดังนั้นจึงต้องรอข้อมูลดังกล่าวเพื่อนำมาประเมินถึงผลเชิงบวกที่จะเกิดขึ้นกับกองทุนรวมต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่ากรมสรรพากรจะประสานเพื่อขอข้อมูลกับ ธปท. ต่อไปเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X