สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งหรือการผลิต ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่ซัพพลายเริ่มมีไม่เพียงพอ ทำให้หลายประเทศเผชิญกับวิกฤตการขาดแคลนพลังงาน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนกดดันการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก
โดยราคาถ่านหินช่วงเดือนตุลาคม 2564 พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 269 ดอลลลาร์ต่อตัน ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นทะลุระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นับเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.565 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู พุ่งขึ้นประมาณ 30% ภายในระยะเวลาไม่นาน
ศราวุธ เตโชชวลิต ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อาร์ เอช บี (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ราคาพลังงานในตลาดโลกช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ยังมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางขาขึ้นและทรงตัวในระดับสูงจากความต้องการใช้พลังงานของจีนที่มีจำนวนมาก ขณะที่สหรัฐฯ และยุโรปเริ่มทยอยเปิดประเทศ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัว
ทั้งนี้มองว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานจะส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มเหล่านี้โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่ม ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมด้านพลังงานขนาดใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) รวมถึง บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) และบมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) (ESSO) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน
“ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก เป็นปัจจัยหนุนหุ้นกลุ่มพลังงาน ทำให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันได้รับความสนใจจากนักลงทุน ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่ค่าการกลั่น (GRM) ที่เพิ่มขึ้น ทำให้หุ้นกลุ่มโรงกลั่นน่าสนใจมากขึ้น”
สำหรับความเคลื่อนไหวของหุ้นกลุ่ม ปตท. ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดย PTT ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วราว 23% ขณะที่หุ้น PTTEP เพิ่มขึ้นมาแล้ว 44%
ส่วนกลุ่มโรงกลั่นพบว่า ราคาหุ้น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เพิ่มขึ้น 51% ขณะที่ IRPC เพิ่มขึ้น 98% บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เพิ่มขึ้น 33% และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) เพิ่มขึ้น 59%
ศราวุธ กล่าวด้วยว่า ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในกลุ่มเรียวเซ็กเตอร์ รวมทั้งกลุ่มที่ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก เช่น กลุ่มขนส่ง เพราะจะมีต้นทุนค่าน้ำมันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้นโยบายควบคุมราคาพลังงานของรัฐจะช่วยให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาคเรียวเซ็กเตอร์และกลุ่มขนส่งเป็นไปอย่างจำกัด
กิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มสายการบิน กลุ่มขนส่ง และกลุ่มที่มีต้นทุนด้านพลังงานในระดับสูง เช่น ธุรกิจปูนซีเมนต์ จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มสายการบิน ซึ่งมีราคาน้ำมันอากาศยานเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายหลัก รวมทั้งปัจจุบันธุรกิจยังประสบปัญหาจำนวนผู้โดยสารไม่เต็มลำจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด
ขณะที่กลุ่มขนส่งคาดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากภาครัฐมีการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นมากก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก
ด้าน มงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวถึงกรณที่ภาครัฐตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ระดับไม่เกิน 30 บาท จะช่วยบรรเทาผลกระทบของกลุ่มขนส่งลงบางส่วน แต่จะทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานประเภทปั๊มน้ำมันและโรงกลั่นเสียโอกาสในการทำกำไร ขณะที่กลุ่มสายการบินถือเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องทั้งจากปัจจัยลบสถานการณ์โควิดและจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากภาวะปกติ
“ผมมองว่าโอกาสที่ราคาน้ำมันจะวิ่งแรงและยืนสูงๆ เป็นเวลานาน คงจะไปแบบนั้นได้ไม่ไกล เพราะถ้าต้นทุนสูงขึ้นทั่วโลกจะมีแรงกดดันให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันผลิตเพิ่มมากขึ้น ตอนนี้ผู้ผลิตก็มีมากขึ้น มองแล้วราคาน่าจะอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดูๆ แล้วส่วนใหญ่น่าจะผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ ยกเว้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ทำสัญญาฟิกซ์ราคาไว้ ส่วนธุรกิจปูนกระทบแน่นอนหากใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลัก” มงคล กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP