วานนี้ (7 กรกฎาคม) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยทีมแพทย์จากศูนย์นิทราเวชและสหสาขาวิชาชีพ ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ด้วยเทคนิคใหม่ การกระตุ้นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 (Hypoglossal Nerve Stimulation: HGNS) นับเป็นแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 4 ในเอเชีย ต่อจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งจะเพิ่มทางเลือกการรักษาและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน หัวหน้าศูนย์นิทราเวช รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ และนายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) พบได้ถึง 14% ของประชากรทั่วไป และสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด การรักษาหลักคือการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (CPAP) แต่ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถทนต่อการรักษาด้วยวิธีนี้ได้
“ทีมแพทย์จึงได้ค้นหาวิธีการรักษาใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย” รศ.พญ.นฤชากล่าว
โดยล่าสุดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ประสบความสำเร็จในการใช้เทคนิค HGNS ซึ่งเป็นการผ่าตัดที่มีแผลเล็ก ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว และมีประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ป่วย OSA ระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก โดยโรงพยาบาลมีแผนจะเปิดให้บริการการรักษาด้วยวิธี HGNS ในอนาคตอันใกล้
ผศ. (พิเศษ) พญ.นทมณฑ์ ชรากร หัวหน้าหน่วยโสต ศอ นาสิกวิทยาการนอนหลับ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ อธิบายว่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มีศักยภาพสูงในการดูแลผู้ป่วยโรคจากการนอนหลับทุกประเภท โดยเทคนิค HGNS ซึ่งอุปกรณ์ได้รับการรับรองจาก อย. ไทยเมื่อปี 2567
มีหลักการคือการฝังกล่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Implantable Device) บริเวณเหนือกล้ามเนื้อหน้าอก เพื่อส่งสัญญาณกระตุ้นไฟฟ้าที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 12 ทางขวา ทำให้กล้ามเนื้อลิ้น (Genioglossus Muscle) เคลื่อนตัวไปข้างหน้า ขณะที่อุปกรณ์จับสัญญาณการหายใจ เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง ผู้ป่วยสามารถเปิด-ปิดอุปกรณ์ได้ง่ายผ่านรีโมทคอนโทรล
ผู้ป่วยที่เหมาะสมกับการรักษาด้วยวิธี HGNS ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก ไม่สามารถทนการรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกได้ และมีข้อบ่งชี้ตามเกณฑ์กำหนด เทคนิคนี้ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ตั้งแต่ปี 2557 และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ฯ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวสรุปว่า นับเป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สามารถนำเทคนิคนี้มารักษาผู้ป่วยได้สำเร็จเป็นที่แรกของประเทศไทย และเป็นลำดับที่สี่ของเอเชีย เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้กับกลุ่มผู้ป่วยโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นระดับปานกลางถึงรุนแรงมาก
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรักษาด้วยเทคนิคนี้จำเป็นต้องผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีข้อบ่งชี้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพสูงสุด