×

เปิดข้อถกเถียงรอบใหม่ในอังกฤษ เมื่อที่ปรึกษาทางการแพทย์ของรัฐบาลพูดถึงวิธี Herd Immunity สู้โควิด-19

16.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เซอร์แพทริก วัลลานซ์ ที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของรัฐ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนระบุถึงเป้าหมายของรัฐบาลว่า ต้องการชะลอการระบาดในช่วงที่มีอัตราการระบาดสูงสุดออกไปให้ยาวนานขึ้น โดยมีอัตราการระบาดสูงสุดที่ต่ำ และให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Herd Immunity’ หรือ ‘ภูมิคุ้มกันกลุ่ม’ ขึ้น
  • Herd Immunity จะเกิดจากกรณีที่เมื่อมีผู้ได้รับเชื้อแล้วร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง และส่วนใหญ่เมื่อหายป่วยแล้วก็ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ ซึ่งเมื่อมีผู้ได้รับเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันได้ในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยสู่คนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันนั้นลดลง 
  • นักวิทยาศาสตร์ 229 คนจากหลากหลายสาขา ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงรัฐบาล ระบุว่า การเพิ่มความเข้มงวดให้กับมาตรการเพิ่มระยะห่างในสังคม หรือ Social Distancing จะช่วยชะลอการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้อย่างมาก และจะช่วยผู้คนได้หลายพันคน นอกจากนี้ยังแสดงความเห็นว่าวิธีสร้าง Herd Immunity นั้นไม่อยู่ในข่ายจะที่ปฏิบัติได้
  • อดัม คูการ์สกี นักระบาดวิทยา ระบุว่า เขารู้สึกไม่สบายใจที่เกิดการสื่อสารในทำนองที่ว่า Herd Immunity คือเป้าหมายหลักของสหราชอาณาจักรในการรับมือกับโควิด-19 เพราะหากว่ากันด้วยหลักฐานในขณะนี้แล้ว โควิด-19 ดูเหมือนจะไม่สามารถถูกควบคุมได้ในระยะยาว ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้อง ‘Flatten the Curve’ (หรือทำให้การระบาดยาวนานขึ้น แต่อัตราการระบาดสูงสุดต่ำลง)

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (13 มีนาคม) ตามเวลาท้องถิ่นของสหราชอาณาจักร เกิดประเด็นซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการรับมือกับโควิด-19 ของรัฐบาล เมื่อเซอร์แพทริก วัลลานซ์ ที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของรัฐให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระบุถึงเป้าหมายของรัฐบาลว่า ต้องการชะลอการระบาดในช่วงที่มีอัตราการระบาดสูงสุดออกไปให้ยาวนานขึ้น โดยมีอัตราการระบาดสูงสุดที่ต่ำ และให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Herd Immunity’ หรือ ‘ภูมิคุ้มกันกลุ่ม’ ขึ้น

 

เหตุผลของการชะลอการระบาดคือเพื่อไม่ให้ภาระตกไปอยู่กับระบบสาธารณสุขเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาเดียว และทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้นในฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่คนส่วนใหญ่หายจากโรคทางเดินหายใจที่มักมีอาการในช่วงฤดูหนาว แต่คำว่า Herd Immunity นี้เองที่กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงในขณะนี้

 

Herd Immunity จะเกิดจากกรณีที่เมื่อมีผู้ได้รับเชื้อแล้วร่างกายจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง และส่วนใหญ่เมื่อหายป่วยแล้วก็ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ ซึ่งเมื่อมีผู้ได้รับเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันได้ในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้โอกาสในการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยสู่คนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันนั้นลดลง 

 

โดยเซอร์แพทริกระบุว่า จะต้องมีประชากรสหราชอาณาจักรราวร้อยละ 60 หรือประมาณ 40 ล้านคนที่จะได้รับเชื้อก่อโรคโควิด-19 เพื่อที่จะทำให้เกิด Herd Immunity ขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็จะคุ้มครองคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ จากการติดเชื้อโควิด-2019 ไปพร้อมกันด้วย โดยเซอร์แพทริกเชื่อว่าโควิด-19 จะกลายมาเป็นโรคประจำฤดูกาลต่อไป

 

คำให้สัมภาษณ์ของเซอร์แพทริกเกิดขึ้นท่ามกลางข้อวิจารณ์ของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรอย่าง เจเรมี ฮันต์ ที่แสดงความกังวลว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดมากพอในการรับมือกับโควิด-19 เช่น การยังไม่สั่งปิดโรงเรียน ซึ่งอาจนำไปสู่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรระบุว่า จากคำแนะนำทางวิทยาศาสตร์นั้น การปิดโรงเรียนจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องในภาครัฐระบุถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่พ่อแม่อาจจะต้องหาคนมาดูแลบุตรหลาน หรือมาอยู่บ้านกับบุตรหลานเอง และอาจทำให้เด็กต้องอาศัยร่วมกับผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโควิด-19

 

หลังจากคำให้สัมภาษณ์ดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ 229 คนจากหลากหลายสาขาได้เขียนจดหมายเปิดผนึกส่งถึงรัฐบาล แสดงความกังวลว่ามาตรการที่รัฐบาลมีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ 

 

นอกจากนี้มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังทำอยู่อาจเป็นการเพิ่มความเครียดภายในระบบสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS และเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตผู้คนเกินกว่าที่จำเป็น จดหมายเปิดผนึกดังกล่าวยังบอกว่า การเพิ่มความเข้มงวดให้กับมาตรการเพิ่มระยะห่างในสังคม หรือ Social Distancing จะช่วยชะลอการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้อย่างมาก และจะช่วยผู้คนได้หลายพันคน นอกจากนี้ยังแสดงความเห็นว่าวิธีสร้าง Herd Immunity นั้นไม่อยู่ในข่ายจะที่ปฏิบัติได้

 

 

ขณะที่ แอนโทนี คอสเตลโล กุมารแพทย์และอดีตผู้อำนวยการแผนกสุขภาพมารดา เด็กและวัยรุ่นขององค์การอนามัยโลก ก็ทวีตข้อความถึงกรณี Herd Immunity โดยระบุว่า “นี่ไม่ใช่กลยุทธ์ แต่นี่คือการยอมจำนน” เขาตั้งคำถามไว้หลายคำถามถึงสิ่งที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังทำ เช่น จะทำให้มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในระยะเวลาอันใกล้หรือไม่, จะทำให้การจำกัดการระบาดอ่อนแอลงหรือไม่, โควิด-19 จะทำให้เกิด Herd Immunity ได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นเหมือนไข้หวัดที่อาจมีการเกิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นทุกปี, วัคซีนอาจเป็นทางออกที่ปลอดภัยกว่า ดังนั้นการใช้นโยบายที่อาจส่งผลต่อจำนวนผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตบนพื้นฐานของอนาคตที่ไม่แน่นอนนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปตามจรรยาบรรณแล้วหรือไม่

 

จากนั้นทวีตต่อๆ มาของเขาก็แสดงทรรศนะว่า การปฏิบัติตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ได้แก่ การทดสอบ, การแกะรอยการติดต่อของโรค, การกักตัว และการรักษาระยะห่างทางสังคม ซึ่งเขาระบุว่าถูกใช้ได้ผลในจีน, เกาหลีใต้, สิงคโปร์ และไต้หวัน คือแนวทางที่ดีที่สุด เขายังระบุว่าขั้นตอนการรับมือกับโรคในจีนหลายขั้นตอนล้วนเป็นสิ่งที่สหราชอาณาจักรสามารถทำได้ เช่น ลดระยะเวลารอผลตรวจโรค, การวินิจฉัยแบบเคลื่อนที่, การสร้างแอปพลิเคชันแบ่งปันข้อมูล เป็นต้น

 

แต่อีกด้านหนึ่ง โฆษกของกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรกลับออกมาระบุว่า คำให้สัมภาษณ์ของเซอร์แพทริกเกี่ยวกับ Herd Immunity ถูกตีความอย่างผิดความหมาย 

 

โดย BBC รายงานคำให้สัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงที่ชี้ว่า Herd Immunity นั้นไม่ได้ ‘อยู่ในแผนปฏิบัติการ’ ในการรับมือโควิด-19 แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาโดยธรรมชาติจากโรคระบาด แต่เป้าหมายที่แท้จริงของรัฐบาลอยู่ที่การช่วยชีวิต ปกป้องบุคคลในกลุ่มเสี่ยง และลดความกดดันในระบบ NHS 

 

ส่วน อดัม คูการ์สกี นักระบาดวิทยาจาก London School of Hygiene & Tropical Medicine ก็บอกว่า เขารู้สึกไม่สบายใจที่เกิดการสื่อสารในทำนองที่ว่า Herd Immunity คือเป้าหมายหลักของสหราชอาณาจักรในการรับมือกับโควิด-19 เขาระบุว่า หากว่ากันด้วยหลักฐานในขณะนี้แล้ว โควิด-19 ดูเหมือนจะไม่สามารถถูกควบคุมได้ในระยะยาวในสหราชอาณาจักร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้อง ‘Flatten the Curve’ (หรือทำให้การระบาดยาวนานขึ้น แต่อัตราการระบาดสูงสุดต่ำลง) ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งอาจจะยังทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่ก็ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้นด้วย เขายังย้ำว่ามีความจำเป็นที่จะต้องลดผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่การปิดโรงเรียนหรือการยกเลิกงานอีเวนต์จะไม่ช่วยแก้ปัญหา พร้อมทั้งยังแสดงวิธีการคำนวณอย่างคร่าวๆ ให้เห็นว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน ได้แก่ การแยกตัวอยู่คนเดียวเมื่อป่วย การล้างมือ หรือการลดการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นแบบใกล้ชิด จะช่วยลดการติดเชื้อรายใหม่ได้เป็นอย่างมาก

 

อนึ่ง เอกสารข่าวแถลงจากกลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์เพื่อสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ SAGE ของสหราชอาณาจักรที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐบาลเมื่อวันเสาร์ที่ 14 มีนาคม ระบุว่า มาตรการในขั้นต่อไป ซึ่งได้แก่การป้องกันกลุ่มเสี่ยง และการแยกที่อยู่อาศัย จะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้ นอกจากนี้จะมีการเปิดเผยข้อมูลและแบบจำลองข้อมูลที่ใช้ในการพิจารณามาตรการออกสู่สาธารณะ ส่วน Sky News รายงานว่า สหราชอาณาจักรเตรียมห้ามการรวมตัวกันเกิน 500 คนเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค

 

ก่อนหน้านี้สหราชอาณาจักรได้ประกาศให้ผู้ที่มีอาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ได้แก่ อุณหภูมิร่างกายสูงและไออย่างต่อเนื่อง ให้แยกตัวเองอยู่ในบ้าน และห่างจากสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ เป็นเวลา 7 วัน และหากอาการไม่ดีขึ้นใน 7 วัน หรืออาการแย่ลง หรือไม่สามารถรับมือกับอาการป่วยได้ จึงค่อยแจ้งหน่วยบริการสาธารณสุขแห่งชาติ หรือ NHS และในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 70 ปี อาจถูกขอให้อยู่แต่ภายในบ้านเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อป้องกันการรับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย

 

ยอดผู้ติดเชื้อล่าสุดในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 15 มีนาคม อยู่ที่ 1,391 ราย และผู้เสียชีวิตรวม 35 ราย โดยมีการยืนยันผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 330 ราย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแต่ละวันนั้นมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising