ข่าวการจากไปของเฮนรี คิสซิงเจอร์ นับเป็นความสูญเสียของโลก เพราะนี่คือนักการทูตระดับตำนานที่มีบทบาทสำคัญทางการต่างประเทศระดับโลก
แต่คิสซิงเจอร์ก็มีอีกมุมหนึ่งที่หลายคนที่เคยได้ยินชื่อเสียงและเรื่องราวของเขาอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน
กับความรักและความหลังที่มีต่อเกมฟุตบอล ที่นำพาเขาไปสู่สแตมฟอร์ดบริดจ์ ห้องแต่งตัวของทีมชาติเปรู ราชาลูกหนังโลกเปเล่ และสโมสรเล็กๆ แห่งหนึ่งในอังกฤษอย่างกริมส์บี ทาวน์
เรื่องราวความรักที่มีต่อเกมลูกหนังของนักการทูตอเมริกันนั้นเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงวัยเยาว์
คิสซิงเจอร์ซึ่งเกิดในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี หลงใหลในเกมฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เพียงแต่สโมสรที่เขาติดตามเชียร์นั้นไม่ใช่บาเยิร์น มิวนิก สโมสรดังในยุคสมัยนี้แต่อย่างใด เพราะในยุคของคิสซิงเจอร์นั้นทีมเบอร์หนึ่งของแคว้นคือสโมสรกรอยเธอร์ เฟือร์ธ ซึ่งเป็นแชมป์ฟุตบอลเยอรมนี (ในยุคที่ยังไม่ใช่บุนเดสลีกา) 3 สมัยในระหว่างปี 1926-1929
เฮนรี คิสซิงเจอร์ กลับไปเยือนทีมรักกรอยเธอร์ เฟือร์ธ ในปี 2012
นอกจากจะตามเชียร์แล้วคิสซิงเจอร์ยังเคยเล่นฟุตบอลด้วยเช่นกัน โดยเริ่มจากตำแหน่งผู้รักษาประตู แต่โชคร้ายที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกมือหักจึงต้องเปลี่ยนตำแหน่งการเล่นใหม่ โดยตำแหน่งใหม่คือกองหน้าตัวใน (Inside-forward ตำแหน่งฟุตบอลในยุคสมัยก่อน)
ว่ากันว่าคิสซิงเจอร์เป็นหนึ่งในคนที่คิดค้นแท็กติกการเล่นฟุตบอลที่แตกต่างจากทีมอื่นในยุคสมัยนั้น ซึ่งแท็กติกการเล่นที่ว่านั้นคือการเล่นเกมรับให้เหนียวแน่นเอาไว้ก่อนพ่อสอนไว้
“ระบบนี้จะทำให้ทีมคู่แข่งสติแตก เพราะว่าเราจะไม่ยอมให้พวกเขาทำประตูได้เลย ด้วยการให้คนลงไปยืนกองหลังให้มากที่สุด ถ้าเจอคนกองอยู่หน้าประตูสัก 10 คนก็ย่อมยิงประตูได้ยากแน่นอน”
ในเวลาต่อมาโลกฟุตบอลก็มีแท็กติกการเล่นแบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ เป็นตำรับเฉพาะของชาวอิตาลีที่เรียกว่า ‘คาเตนัคโช’ (Catenaccio)
และถ้าเป็นสูตรสมัยใหม่ เด็กรุ่นนี้ก็อาจจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘จอดรถบัส’ (Park the bus) ที่มาจากโชเซ มูรินโญ
อย่างไรก็ดี เมื่อโชคชะตาทำให้คิสซิงเจอร์และครอบครัวต้องระเห็จจากบ้านเกิด เพื่อรักษาชีวิตรอดจากการตามฆ่าหมายล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของกองทัพนาซี ทำให้เขาและเกมฟุตบอลต้องห่างกันไปด้วย
แต่ความรักที่มีต่อเกมฟุตบอลทำให้เขาพยายามหาโอกาสจะเข้ามาข้องเกี่ยวกับโลกฟุตบอลใบเก่าที่คิดถึงเสมอ และบางครั้งฟุตบอลก็นำพาไปสู่เส้นทางใหม่
เช่นในปี 1973 ซึ่งขณะนั้นเขากลายเป็นผู้ช่วยด้านนโยบายการต่างประเทศของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันแล้ว ในการประชุมร่วมกับสหภาพโซเวียต คิสซิงเจอร์ได้ใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือสื่อสารเชื่อมกับเลโอนิด เบรจเนฟ นักการทูตโซเวียตในการประชุมที่กรุงมอสโก
เรื่องที่ทั้งสองพูดคุยกันคือความมหัศจรรย์ของ ‘เจ้านกน้อย’ การ์รินชา ปีกลอยลมในตำนานทีมชาติบราซิล ผู้เป็นดาวดังที่มาก่อนเปเล่
ก่อนหน้าจะพบกับเบรจเนฟ คิสซิงเจอร์ยังล่วงรู้ถึงการให้ความช่วยเหลือคิวบาของรัฐบาลมอสโก เมื่อภาพถ่ายทางอากาศจากกล้องสอดแนมเมื่อปี 1969 พบว่ามีสนามฟุตบอลอยู่บนเกาะในประเทศคิวบา
“คนคิวบาเขาเล่นเบสบอลกัน” คิสซิงเจอร์รีบรายงานบ็อบ ฮาลเดอแมน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีนิกสันทันที
ความสามารถทางการทูตของคิสซิงเจอร์ยังส่งผลต่อโลกของฟุตบอลด้วย ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนในการผลักดันให้ ชูเอา ฮาเวอลานจ์ ขึ้นแท่นเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ FIFA คนใหม่ในการเลือกตั้งประธานเมื่อปี 1974
นอกเหนือไปจากนั้น เขายังมีส่วนในเบื้องหลังการย้ายทีมครั้งประวัติศาสตร์ของ ‘The Black Pearl’ เปเล่ ที่ย้ายมาเล่นฟุตบอลในลีกของสหรัฐอเมริกากับทีมนิวยอร์ก คอสมอสในปี 1975
โดยในเบื้องหลังแล้วการย้ายทีมครั้งนี้มีเพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างสหรัฐฯ และบราซิล
ในปี 1976 ในระหว่างการเดินทางไปเยือนอังกฤษเพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์โรดีเซีย คิสซิงเจอร์ใช้เวลาว่างที่มีในการเดินทางไปเยือนบลันเดลล์พาร์ก เพื่อไปชมเกมฟุตบอลอังกฤษคู่ระหว่างกริมส์บี ทาวน์ พบกับจิลลิงแฮม ร่วมกับโทนี ครอสแลนด์ ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของกริมส์บี
วันนั้นกริมส์บี ทาวน์ คว้าชัยชนะได้ด้วย!
เฮนรี คิสซิงเจอร์ ที่สแตมฟอร์ดบริดจ์
หลังจากนั้นอีก 8 เดือนถัดมา ครอสแลนด์พาคิสซิงเจอร์มาดูเกมฟุตบอลอังกฤษอีกครั้ง คราวนี้เป็นเกมฟุตบอลระดับดิวิชัน 2 ระหว่างเชลซีที่พบกับวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ที่สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์
เกมวันนั้นจบลงด้วยการเสมอกันอย่างสุดมัน 3-3 โดยที่หลังเกมจบลงครอสแลนด์พาคิสซิงเจอร์เข้าไปเยี่ยมนักเตะในห้องแต่งตัวด้วย
สตีฟ ฟินนีสตัน ศูนย์หน้าเชลซียังจำเหตุการณ์ในวันดังกล่าวได้ “เขาบอกว่าเขารักฟุตบอล” เพียงแต่คนอื่นๆ ในทีมก็ได้แต่คิดและสงสัยว่าไอ้หมอนี่มันเป็นใคร เข้ามาได้อย่างไร
นั่นไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่คิสซิงเจอร์ไปดูเกมฟุตบอลและมีโอกาสเข้าไปในห้องแต่งตัว ซึ่งความจริงแล้วเป็น ‘ดินแดนศักดิ์สิทธิ์’ ของทีม เพราะในฟุตบอลโลก 1978 ที่ประเทศอาร์เจนตินา เขาก็หาโอกาสเข้าไปในห้องแต่งตัวด้วยเช่นกัน
แต่คราวนี้ไปในแบบที่น่าเกรงขามกว่าเยอะ เพราะเขาเข้าไปในห้องแต่งตัวของทีมชาติเปรู พร้อมกับฮอร์เก วิเดลา ผู้นำคณะปฏิวัติที่เพิ่งยึดอำนาจในประเทศอาร์เจนตินาได้
การปรากฏตัวของผู้นำปฏิวัติอาร์เจนตินากับนักการทูตชาวสหรัฐฯ ในห้องแต่งตัวทีมชาติเปรู ฟังแอบดูไม่ค่อยเข้ากันอย่างไรไม่รู้
นักเตะทีมชาติเปรูเองก็คิดเหมือนกัน เฮคตอร์ ชุมปิตาซ กัปตันทีมชุดนั้นเล่าว่า “มันเหมือนว่าพวกเขาจะมาทักทายและกล่าวยินดีต้อนรับพวกเรา
“นอกจากนี้ พวกเขายังบอกว่าหวังว่ามันจะเป็นเกมที่ดี เพราะจะเป็นการดีที่ชาวอาร์เจนตินาจะเข้าร่วมด้วย ก่อนจะอวยพรขอให้พวกเราโชคดี”
นักเตะเปรูฟังจบประโยคก็ได้แต่หันมามองหน้ากัน พลางคิดว่าพวกเขามาผิดห้องหรือเปล่า มันควรจะเป็นห้องแต่งตัวของทีมชาติอาร์เจนตินาไหม?
สิ่งที่น่าสนใจคือสถานการณ์ก่อนเกมนั้นอาร์เจนตินาจำเป็นต้องชนะเปรูให้ได้มากกว่า 4 ประตูขึ้นไปหากหวังจะเข้ารอบชิงชนะเลิศ เพราะก่อนหน้านั้นบราซิลเอาชนะโปแลนด์ไปแล้ว 3-1
ปรากฏว่าอาร์เจนตินาชนะไปในเกมนั้น 6-0 และถูกมองว่ามีการทำทุจริตหรือไม่ เพราะพบว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาได้ส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชจำนวน 35,000 ตัน และอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งให้แก่เปรู อีกทั้งธนาคารกลางยังได้ยกเลิกการอายัดทรัพย์สินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์คืนให้แก่เปรูด้วย
ไม่มีใครบอกได้ว่าการเข้าไปในห้องแต่งตัวทีมชาติเปรูของคิสซิงเจอร์ในวันนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลการแข่งขันหรือไม่ เพราะฟากของคนใกล้ชิดคิสซิงเจอร์ก็ยืนยันว่า “เขาจำเหตุการณ์นี้ไม่ได้” ในขณะที่เกมการแข่งขันจริงๆ ในสนามก็ไม่ใช่เปรูจะเล่นแบบหงอๆ รอโดนยิง ในทางตรงกันข้ามมีโอกาสยิงชนเสาด้วย ส่วนอาร์เจนตินาก็ฮึกเหิมเล่นตามเสียงเชียร์ที่ปลุกเร้าของแฟนบอล
เรื่องนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าถึงความรักและหลงใหลในเกมฟุตบอลของนักการทูตระดับตำนาน
คนที่อาจจะเป็นคนแรกที่ทำให้เราได้เห็นว่ากีฬาและการเมืองมันก็เรื่องเดียวกัน
อ้างอิง: