×

ผลัดใบจาก ‘เฮเซ’ สู่ ‘เรวะ’ 30 ปีแห่งยุคสมัยของป๊อปคัลเจอร์ที่กลายเป็นตำนานของประเทศญี่ปุ่น

01.04.2019
  • LOADING...

ญี่ปุ่นเตรียมกล่าวลายุคสมัย ‘เฮเซ’ ด้วยการประกาศชื่อ ‘เรวะ’ (Reiwa 令和) เป็นนามแห่งยุคสมัยต่อไป ที่จะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการหลังจากพิธีสละราชสมบัติของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะในวันที่ 30 เมษายน และมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะ ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019

 

THE STANDARD POP ชวนทุกคนย้อนรำลึกถึงส่วนหนึ่งของ ‘ป๊อปคัลเจอร์’ ระดับตำนาน ซึ่งถูกสร้างขึ้นในช่วงระยะเวลา 30 ปีของยุคเฮเซ เราเชื่อเหลือเกินว่าหลายสิ่งหลายเรื่องราว ไม่เพียงสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการบันเทิงประเทศญี่ปุ่น หากแต่ยังส่งอิทธิพลต่อชีวิต กระทั่งเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดทางวัฒนธรรมให้กับคนทั่วโลก

 

เริ่มต้นจากวงการมังงะ ที่หลายเรื่องประสบความสำเร็จได้รับความนิยมในระดับโลก เช่น Dragon Ball Z (1989) การต่อสู้ของยอดมนุษย์ ‘ต่างดาว’ จากปลายปากกาของ อากิระ โทริยามะ ที่พัฒนาเส้นเรื่องจากแนวการ์ตูนแก๊ก จนขยายเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ระดับจักรวาล ที่ยังขยายสเกลการต่อสู้ไปแบบไม่รู้จบมาจนถึงทุกวันนี้

 

อีกหนึ่งการ์ตูนที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในยุคนี้ที่เริ่มต้นจากประโยคสั้นๆ แต่แสนยิ่งใหญ่ “ฉันจะเป็นราชาโจรสลัดให้ได้เลย” จากเรื่อง One Piece (1997) โดย โอดะ เออิจิโร การ์ตูนแห่งยุคสมัยใหม่ที่ถูกบันทึกไว้โดย Guinness World Records ว่าเป็นการ์ตูนที่ทำยอดขายได้มากที่สุดในโลก ด้วยจำนวนที่มากถึง 450 ล้านเล่ม ซึ่งตอนนี้ลูฟี่และเพื่อนๆ ก็ยังคงออกผจญภัยบนท้องทะเลต่อไป โดยยังไม่มีท่าทีว่าจะจบลงง่ายๆ เช่นเดียวกัน

 

ขยับไปที่วงการแอนิเมชัน กับ Evangelion (1995) การ์ตูนแอนิเมชันระดับตำนานของผู้แต่งและผู้กำกับ ฮิเดอากิ อันโนะ ที่โดดเด่นด้วยการตัดต่อแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง A Cruel Angel’s Thesis ที่สะเทือนวงการเพลง ที่ Anisong Taisho ยกย่องให้เป็นหนึ่งใน 100 เพลงประกอบแอนิเมชันที่ดีที่สุดแห่งยุคเฮเซ

 

แอนิเมชันของญี่ปุ่นคืองานที่โดดเด่นและได้รับเสียงชื่นชอบตลอดกาล Spirited Away (2001) My Neighbor Totoro (1988) ผลงานการกำกับโดย Hayao Miyazaki จากสตูดิโอจิบลิ นอกจากนั้นยังมีแอนิเมชันระดับตำนาน Akira (1988) ของ Katsuhiro Otomo และแอนิเมชันสองภาคต่อ Ghost in the shell (1995) Innocence (2004) งานระดับมาสเตอร์พีซของ Mamoru Oshii ที่โด่งดัง และส่งต่อจินตนาการไปสู่คนทั่วโลก  

 

วงการโทรทัศน์หรือ ‘โทคุคัตสึ’ ในยุคนี้ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยกรณีศึกษาที่น่าสนใจในซีรีส์ Kamen Rider ที่เริ่มเข้าสู่ขาลงของเหล่ายอดมนุษย์ ‘ไอ้มดแดง’ ที่หลังจากเงียบหายไปนาน 12 ปี หลังจากซีรีส์ Kamen Rider Black RX จบไปในปี 1988 ก่อนที่จะกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้งในซีรีส์ Kamen Rider Kuuga

ในปี 2000

 

รวมทั้งอีกหนึ่งซีรีส์โทคุคัตสึหมวด ‘ซูเปอร์เซนไต’ หรือขบวนการ 5 สีที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยมี ‘จูเรนเจอร์’ ที่ดึงรูปลักษณ์และพลังของสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างไดโนเสาร์มาใช้ได้อย่างมีเสน่ห์ จนได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ เชื่อว่าเด็กๆ ในยุคนั้นต้องเคยแบ่งสีตัวละคร ทำท่าแปลงร่าง และออกไปจำลองฉากต่อสู้กับสัตว์ประหลาดมาด้วยกันทั้งนั้น

 

นอกจากนี้จูเรนเจอร์ยังนับเป็นขบวนการเซนไตเรื่องแรกที่ถูกดัดแปลงใหม่ในเวอร์ชันอเมริกาในชื่อ Mighty Morphin Power Rangers (1993) อีกด้วย

 

สำหรับวงการดนตรีเองก็ไม่แพ้กัน ที่มีศิลปินมากมายได้แจ้งเกิดในยุคนี้ เช่น Namie Amuro, Utada Hikaru, Mr.Children, Arashi, AKB48, ONE OK ROCK ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งยุคที่วงการเพลงญี่ปุ่นเติบโตขึ้นจนสามารถเดินทางไปสู่ผู้ฟังทั่วโลกได้

 

ขอย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ที่เรายกตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นภาพความยิ่งใหญ่ของวงการบันเทิงตลอดระยะเวลา 30 ปีของยุคเฮเซเท่านั้น ถ้าใครมีความทรงจำเกี่ยวกับ ‘ป๊อปคัลเจอร์’ ในยุคเฮเซนอกเหนือจากนี้ สามารถร่วมแบ่งปันประสบการณ์คืนวันเก่าๆ กับเราได้

 

ก่อนที่นาฬิกาจะเริ่มนับเวลาถอยหลังเพื่อบอกลาหนึ่งในยุคสมัยที่น่าจดจำที่สุด ก่อนที่จะมาติดตามพร้อมกันว่า จะมีผลงานที่น่าตื่นเต้นเรื่องไหนเกิดขึ้นมาอีกบ้าง ในยุค ‘เรวะ’ ที่กำลังจะมาถึง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X