ฝนที่กระหน่ำลงมาไม่ขาดสาย ทำให้หลังเลิกงานเช่นทุกวันของชาวกรุงโซลกลายเป็นประสบการณ์เอาตัวรอดจากน้ำท่วมเฉียบพลันครั้งใหญ่ที่สุดในรอบทศวรรษ
ไฟฟ้าดับ น้ำไหลทะลักลงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน อาคารบ้านเรือนถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะเขตคังนัม ย่านธุรกิจสำคัญของเกาหลีใต้ ที่ร้านค้าไฮเอนด์และที่พักสุดหรูได้รับผลกระทบหนัก รถยนต์ราคาหลายล้านต้องจมอยู่ใต้น้ำ แต่มากกว่าทรัพย์สินเสียหาย คือ ชีวิตของผู้คนอย่างน้อย 11 คนที่ต้องสูญเสียไป
หายนะครั้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรในเมืองหลวงที่ขึ้นชื่อว่าเรื่องความเป็นเลิศอันต้นๆ ของเอเชีย และกรุงเทพมหานครของเราที่เปราะบางต่อฝนตกจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไหม เมื่อสำนักอุตุนิยมวิทยาเกาหลีให้เหตุผลว่า ‘ภาวะโลกรวน’ เป็นตัวการ
-
เหตุแห่งฝน
คืนเกิดเหตุวันที่ 8 สิงหาคม สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเกาหลีใต้ (KMA) รายงานว่า กรุงโซลมีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง โดยบางพื้นที่มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 141.5 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นปริมาณน้ำฝนสูงที่สุดในรอบ 80 ปี ขณะที่ปริมาณน้ำฝนสะสมตั้งแต่เที่ยงคืนวันจันทร์จนถึงเช้าวันที่ 9 สิงหาคมอยู่ที่ 420 มิลลิเมตร สูงเป็นประวัติการณ์
ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและวิทยบริการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า นอกจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก สถานการณ์น้ำท่วมเฉียบพลันของกรุงโซลครั้งนั้นจำเป็นต้องพิจารณาลักษณะภูมิประเทศประกอบด้วย โดยบริเวณด้านขวาของโซลติดเทือกเขาสูง และเป็นเมืองอกแตก หรือมีแม่น้ำฮันไหลผ่านกลางเมือง ประกอบกับทิศตะวันตกใกล้เคียงกับทะเลเหลือง เมื่อฝนตกลงมา 141 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เมืองที่มีแต่ตึกและถนนคอนกรีตจึงไม่อาจอุ้มน้ำไว้ได้ ส่งผลให้น้ำจากเทือกเขาไหลทุกทิศทางลงไปสู่กลางเมืองอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันลมทะเลที่พัดมาจากทิศตะวันตกก็ส่งผลให้น้ำระบายได้ช้าลง นี่จึงเป็นสถานการณ์เหมือนถูกหวย เพราะทุกปัจจัยแห่งหายนะเวียนมาบรรจบกันพอดี
แม้ปัจจุบันสถานการณ์ในกรุงโซลจะคลี่คลายแล้ว แต่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาเกาหลีใต้กล่าวว่า เกาหลีใต้มีฝนตกหนักเป็นประจำในฤดูร้อน แต่ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และฝนตกหนักบ่อยครั้ง เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในช่วง 40 ที่ผ่านมาความถี่ของฝนตกหนักในโซลเพิ่มขึ้น 27% และสภาพอากาศสุดขั้วที่ไม่สามารถคาดเดาได้เช่นนี้จะเห็นได้บ่อยยิ่งขึ้นในอนาคต เพราะวิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังทำให้อุณหภูมิของโลกและมหาสมุทรสูงขึ้น ส่งผลให้ปริมาณไอน้ำบนชั้นบรรยากาศหนาแน่นขึ้นเช่นกัน
จากการวิเคราะห์ข้อมูลในเดือนมิถุนายนปีนี้ เปรียบเทียบกับ 50 ปีก่อน พบว่าอุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.2-5 องศาเซลเซียส โดยแถบภูมิภาคยุโรปเพิ่มขึ้นราว 4-5 องศาเซลเซียส ส่วนประเทศเกาหลีใต้อุณหภูมิสูงขึ้นราว 3-4 องศาเซลเซียส ขณะประเทศไทยเพิ่มขึ้นมา 2 องศาเซลเซียส ตามทฤษฎีอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส จะมีไอน้ำหรือความชื้นในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น 7%
ดังนั้น ในยุโรปอุณหภูมิที่สูงขึ้น 5 องศาเซลเซียส จึงเท่ากับว่ามีไอน้ำเพิ่มขึ้น 35% รวมถึงมีปัจจัยเกาะความร้อนภายในเมืองที่อาจกระตุ้นให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเข้าฤดูร้อน ยุโรปจึงเผชิญกับคลื่นความร้อน และปลายฤดูต้องเผชิญกับฝนตกหนัก
ทั้งนี้ รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ยังระบุด้วยว่า หลายประเทศในเอเชียตะวันออกกำลังประสบกับปริมาณน้ำฝนในแต่ละวันมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากมรสุมฤดูร้อนที่คาดว่าจะรุนแรงและคาดเดาไม่ได้มากกว่าเดิม
ย้อนกลับมามองเกาหลีใต้ ฝนตกหนักผิดปกติเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภัยพิบัติทางธรรมชาติในอนาคตเท่านั้น เพราะนักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าคาบสมุทรเกาหลีบางส่วนจะจมน้ำภายในปี 2030 ซึ่งรวมถึงเมืองใหญ่ที่สุด 3 แห่งของเกาหลีใต้ อย่าง โซล อินชอน และปูซาน ด้วย
-
คนจนอยู่ยาก
อุทกภัยครั้งที่ผ่านมาในกรุงโซลถูกเปรียบเทียบว่าไม่ต่างจากซีนภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำชื่อดังอย่าง ‘Parasite’ ของผู้กำกับ บงจุนโฮ ที่ชนะรางวัลออสการ์ปี 2020 ในสถานการณ์เดียวกัน คนยากจนต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากมวลน้ำมหาศาล ขณะที่คนมั่งคั่งใช้ชีวิตสงบสุขอยู่ในคฤหาสน์หลังงาม
ตามรายงานจากสื่อท้องถิ่นเกาหลีใต้ระบุว่า มีประชาชนหลายร้อยคนต้องไร้ที่อยู่จากน้ำท่วมรอบนี้ แต่โศกนาฏกรรมสะเทือนใจที่สุดคือ สมาชิกครอบครัวหนึ่งในบ้านกึ่งใต้ดิน หรือเรียกกันว่า ‘พันจีฮา’ (Banjiha) ต้องเสียชีวิตลงเพราะอพยพออกมาไม่ทัน
ไม่ว่าจะเกิดภัยธรรมชาติใดขึ้น ‘คนยากจน’ มักเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เห็นได้จากหลายเหตุการณ์ในหลายประเทศ เช่น ประเทศอินเดีย ชุมชนแออัดต้องเจอน้ำท่วมทำลายบ้านเรือนของพวกเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือในบังกลาเทศ ผู้คนจำนวนมากต้องอพยพจากชนบทไปยังเขตเมืองเพื่อหนีน้ำท่วมที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคนเปราะบางของสังคมอย่างครอบครัวที่มีรายได้น้อย คนผิวสี และคนละติน มีแนวโน้มจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง
นอกเหนือจากปัญหาการพลัดถิ่นเรื้อรังและการดำรงชีวิตที่หยุดชะงัก น้ำท่วมยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ จากการป่วยเป็นโรคท้องร่วง โรคไข้เลือดออก และมาลาเรีย และส่งผลกระทบให้ครอบครัวยากจนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลหรือวิธีการอื่นๆ ได้
ขณะที่ในกรุงโซล ชาวพันจีฮาต้องเผชิญอันตรายถึง 2 เท่าจากน้ำท่วมและคลื่นความร้อน เนื่องจากที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมต่อการรับมือต่อสภาวะเหล่านั้น และตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2020 พบว่ามีประชากรอาศัยอยู่ในพันจีฮาถึง 2 แสนครัวเรือน
ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ได้ออกกฎหมายไม่อนุญาตให้สร้างพันจีฮาบนพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเป็นประจำมาตั้งแต่ปี 2012 แต่ความพยายามต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า หลังกฎหมายออกมายังคงมีการสร้างพันจีฮาเพิ่มอีก 40,000 แห่ง และผู้เชี่ยวชาญมองว่าตราบใดที่ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงโซลสูงลิ่ว ผู้อยู่อาศัยในพันจีฮาจะไม่มีทางหมดไป
-
กรุงโซลต้องเปลี่ยนแผน
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรุงโซลต้องเผชิญกับฝนตกหนัก เมื่อ 11 ปี ก่อน เขตคังนัมก็เคยประสบกับน้ำท่วม ดินถล่ม ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 16 ราย ทว่าแม้จะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง เงินป้องกันน้ำท่วมของโซลกลับลดลงเรื่อยๆ ซึ่งปีนี้ลดลง 17.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
การพัฒนาเมืองที่รวดเร็ว ทำให้กรุงโซลที่เคยมีประชากรเพียง 3 ล้านคนในปี 1960 มีประชากรเพิ่มเป็น 10 ล้านคนในปี 1990 และขาดการวางแผนอย่างละเอียดสำหรับการรับมือน้ำท่วม พื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยต้นไม้ถูกแทนที่ด้วยอาคารก่อสร้างและถนนคอนกรีต โดยปัจจุบันพื้นที่มากกว่า 50% ในกรุงโซล น้ำไม่สามารถซึมได้ ซึ่งส่งผลให้น้ำไหลจากที่สูงลงมาที่ต่ำได้มากขึ้นจนเกิดน้ำท่วมขังตามมา รวมถึงความสามารถในการระบายน้ำของโซลยังต่ำกว่าความจำเป็นสำหรับจัดการกับอุทกภัยที่จะส่งร้ายต่อพื้นที่ลุ่มๆ ดอนๆ เช่น เขตคังนัม เพราะสภาพอากาศสุดขั้วเหล่านี้กำลังกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โอเซฮุน นายกเทศมนตรีกรุงโซล เพิ่งประกาศจะทุ่มเงินราว 1.5 ล้านล้านวอน เพื่อรื้อแผนสร้างอุโมงค์ใต้ดินขนาดใหญ่ 6 แห่งที่เคยพับไป ให้กลับมารองรับปริมาณน้ำฝนได้เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันรองรับได้เพียง 95 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ให้เป็น 100 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และกำหนดดำเนินการเสร็จภายในทศวรรษหน้า
-
กรุงเทพฯ จะน้ำท่วมเหมือนกรุงโซลหรือไม่?
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มจะทำให้กรุงเทพฯ เกิดฝน 100 ปีได้ในอนาคต โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตพบว่า ปริมาณฝน 100 ปีของกรุงเทพฯ อยู่ที่ 144 มิลลิเมตรต่อ 3 ชั่วโมง และ 213 มิลลิเมตรต่อวัน ดังนั้นปริมาณน้ำฝน 420 มิลลิเมตรต่อวันที่เกิดขึ้นในโซล จึงเทียบเท่าฝน 1,000 ปีในกรุงเทพฯ หรือหมายความว่าโอกาสกรุงเทพฯ จะเกิดฝนตกหนัก 400 มิลลิเมตรต่อวัน เป็นไปได้ต่ำ แต่หากดูเป็นรายชั่วโมง ปริมาณน้ำฝนที่โซลวัดได้ 141 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง หรือเทียบเท่าฝน 200 ปีในกรุงเทพฯ ปริมาณระดับนี้สามารถเกิดขึ้นได้แน่นอนในอนาคต ซึ่งปกติคนมักเข้าใจผิดว่าฝน 100 ปี จะเกิดขึ้นในอีก 100 ปีข้างหน้า แต่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นปีไหนก็ได้ในรอบ 100 ปี เช่น อาจจะเกิดปีถัดไป หรือปีที่ 10
ที่สำคัญกรุงเทพฯ ไม่ได้เจอเฉพาะปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ แต่ต้องเจอน้ำเหนือหลากด้วย โดยการวิเคราะห์ข้อมูลของ รศ.ดร.เสรี พบว่าปริมาณน้ำฝนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างสูงขึ้นชัดเจน ส่งผลให้กรุงเทพฯ มีโอกาสเจอน้ำเหนือหลากมากขึ้นจนอาจซ้ำรอยปี 2554 ได้
อย่างไรก็ตาม ดร.พูนเพิ่ม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า น้ำท่วมเฉียบพลันแบบเกาหลีนั้นเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ได้ยาก เพราะภูมิประเทศแตกต่างกัน กรุงเทพฯ อยู่ห่างจากเทือกเขาทางเหนือ 800 กิโลเมตร การที่น้ำจากทางเหนือจะไหลแบบเฉียบพลันจึงแทบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย แต่จังหวัดทางเหนือมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะลักษณะภูมิประเทศคล้ายกับเกาหลีใต้ ขาดเพียงปัจจัยน้ำทะเลหนุนเท่านั้น
-
ทำไมต้องกังวลฝนปลายปี
บางคนอาจบอกว่าอีกหลายสิบปีกว่ากรุงเทพฯ จะจม ทว่า รศ.ดร.เสรี กางข้อมูลให้เห็นว่า น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกไม่กี่เดือนต่อจากนี้ โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย และทุกปัจจัยต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกัน
ปัจจัยแรกคือ ฝนก่อนฤดู เมื่อเทียบกับข้อมูลปี 2564 ตั้งแต่ต้นปี 2565 ทุกภาคของประเทศไทยฝนตกเพิ่มขึ้นชัดเจน มีเว้นช่วงไปเพียงเดือนมิถุนายนเท่านั้น ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม
ปัจจัยที่สองคือ ปรากฏการณ์ลานีญา หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณเส้นศูนย์สูตรในมหาสมุทรแปซิฟิกกลางและตะวันออกมีค่าต่ำกว่าปกติ องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ (NOAA) สหรัฐอเมริกา คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์ลานีญาในช่วงกลางปีนี้จะเพิ่มกำลังจากเดิมเล็กน้อย ทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเดือนสิงหาคมเป็นต้นไปมีโอกาสเกิดขึ้นเกิน 70%
ปัจจัยที่ 3 ปรากฏการณ์ไอโอดี (IOD) หรือการสลับขั้วของน้ำอุ่นและน้ำเย็นในมหาสมุทรอินเดีย ที่ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลฝั่งตะวันออกของมหาสมุทรอินเดียสูงกว่าฝั่งตะวันตก
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงหรือเบาลง เช่น จำนวน ทิศทาง และความรุนแรงของพายุ โดยคาดการณ์ว่าปีนี้จะเกิดพายุ 23 ลูกด้วยกัน ในช่วงครึ่งปีแรกเกิดพายุ 8 ลูก ยังเหลืออีกประมาณ 15 ลูก ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าพายุในครึ่งปีหลังจะหนาแน่น
-
กรุงเทพฯ มีแผนรับมืออย่างไร
ปัจจุบันขีดความสามารถของระบบระบายน้ำในกรุงเทพฯ สามารถรองรับปริมาณฝนตกสะสมรวมได้ไม่เกิน 78 มิลลิเมตรใน 1 วัน หรือแปลงเป็นความเข้มของฝนไม่เกิน 58.7 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
ระยะหลังมานี้การรับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่ถูกกล่าวถึงคือ อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ ที่ระบุว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำบริเวณเขตลุ่มต่ำและพื้นที่ที่ระบบระบายน้ำมีขีดจำกัดให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ไม่ต้องผ่านระบบคลองตามปกติ
ปัจจุบันมีการดำเนินการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร และมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวม 192 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่กำลังดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 6 โครงการ ความยาวรวม 39.65 กิโลเมตร มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 280 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดย 4 แห่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง ขณะที่อีก 2 แห่งกำลังอยู่ในขั้นตอนขอจัดสรรงบประมาณประจำปี 2566 เพื่อก่อสร้าง ทั้งหมดนี้รวมเป็นวงเงินมูลค่ารวมกว่า 2.65 หมื่นล้านบาท
ไม่ใช่แค่อุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่กรุงเทพฯ ลงทุนไปเพื่อการแก้ปัญหาน้ำท่วม ในช่วงปี 2558-2565 ยังมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกจำนวน 212 โครงการ ทั้งการลงทุนเพื่อจัดการกับบ่อพักและท่อระบายน้ำ
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามุ่งบริหารจัดการน้ำผ่านเมกะโปรเจกต์จนละเลยเส้นเลือดฝอยไป ต่อไปนี้กรุงเทพฯ จะมุ่งเน้นการดูแลเส้นเลือดฝอยผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพคลอง 2 ส่วนด้วยอีกทาง
ส่วนที่ 1 จะมุ่งเน้นการขุดลอกคลองที่มีความตื้นเขินให้ลึกขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับน้ำ และส่วนที่ 2 จะเป็นการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมหรือเขื่อนริมคลอง ซึ่งที่ผ่านมาหากไม่มีแนวป้องกันน้ำท่วมจะเกิดปัญหาน้ำกัดเซาะริมคลอง ทำให้ตะกอนดินจากการกัดเซาะทำให้คลองตื้นเขิน
แม้กรุงเทพฯ จะสรรหาสารพัดวิธีมาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แต่ทุกวันนี้เกือบทุกครั้งเมื่อมีฝนตกน้ำยังคงท่วมในบางพื้นที่อยู่เสมอ ฝนตกหนักในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลายจุดในกรุงเทพฯ ต้องรอน้ำระบายข้ามวัน จากปริมาณน้ำฝนประมาณ 150 มิลลิเมตรต่อวัน ไม่อยากจะคิดเลยว่าหากปลายปีเราเจอต้องทั้งฝนตกหนัก ทั้งน้ำเหนือหลาก ความอลหม่านจะเป็นอย่างไร
น้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาที่เพิ่งเริ่มถกเถียงกันในกรุงเทพฯ แต่เวลาไม่คอยท่า เช่นเดียวกับภาวะโลกรวนไม่คอยเรา ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อวิกฤตนี้ หากประเทศขาดการเตรียมพร้อมสำหรับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะมาตรการป้องกันในระยะยาว กรุงเทพฯ จมอยู่ใต้บาดาลก็คงไม่ใช่อนาคตอันไกล