เทรนด์คนรักสุขภาพโตไม่หยุด ผลักดันเศรษฐกิจการดูแลสุขภาพทั่วโลกขยายตัว 8.6% ไทยโดดรับโอกาสเข้าร่วมงาน World Expo 2025 Osaka, Kansai, Japan หวังดึงนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้ามาสร้างรายได้ในประเทศ
สถานการณ์โควิดทำให้บริบทของสังคมเปลี่ยน ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยมุ่งไปในเทรนด์ของการป้องกันมากกว่าการรักษา ส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สะท้อนจากการประเมินภาพรวมของเศรษฐกิจด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก คาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวสูง 8.6% จนถึงปี 2570 โดยมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ ราว 306 ล้านล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เทรนด์สุขภาพมาแรงจนโรงแรมในญี่ปุ่นปิ๊งไอเดีย เสนอแพ็กเกจเข้าพักพร้อมอดอาหาร จ่ายราคา 32,150 บาทต่อคืน
- ทำงานหนัก = สุขภาพพัง? เปิดผลร้ายจากการทุ่มเทให้กับงานมากเกินไป เสี่ยงสุขภาพจิตพัง ชีวิตครอบครัวร้าว
- นักโภชนาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสมองของฮาร์วาร์ด แนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหาร 5 ชนิดนี้เพื่อรักษา ‘ความจำและโฟกัสให้เฉียบคม’
หากย้อนไปในปี 2568 เศรษฐกิจสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่าอย่างน้อย 7 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 230 ล้านล้านบาท ตลาดนี้สร้างเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ในด้านการพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 13 หมุดหมายสำคัญตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 (พ.ศ. 2566-2570)
จากปัจจัยดังกล่าวรัฐบาลจึงมีนโยบายยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพผ่านการเข้าร่วมงาน World Expo 2025 Osaka, Kansai, Japan นครโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 13 เมษายน – 13 ตุลาคม 2568 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Designing Future Society for Our Lives’ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี คาดว่าจะมีประเทศสมาชิกและองค์กรระหว่างประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมงานประมาณ 28.2 ล้านคน
ซึ่งจากจำนวนผู้เข้าร่วมงานดังกล่าวคาดว่าจะมีประเทศกลุ่มเป้าหมายที่ประเทศไทยมุ่งขยายตลาดเศรษฐกิจสุขภาพเข้าร่วมงานอีกเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น, กลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) 6 ประเทศ คือซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์, บาห์เรน รวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV คือกัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม รวมทั้งจีน
แน่นอนว่าการที่ประเทศไทยเข้าร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ไปแสดงศักยภาพสาธารณสุขไทยบนเวทีโลก พร้อมนำกลับมาต่อยอดในไทยได้หลายด้าน ประกอบด้วย 1. สาธารณสุข แสดงศักยภาพในการบริหารจัดการเกี่ยวกับสุขภาพ และระบบสาธารณสุขไทยให้ทั่วโลกรับรู้ ตามด้วย 2. เศรษฐกิจ ดึงดูดให้ผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ตามด้วย 3. อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับหลายๆ ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวทั้งหมดจะช่วยผลักดันให้ไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางสุขภาพโลก (Medical and Wellness Hub) และจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตในระยะยาว