วันนี้ (4 มีนาคม) ที่สำนักงานประกันสังคมสำนักงานใหญ่ รักชนก ศรีนอก สส. กทม., สหัสวัต คุ้มคง สส. ชลบุรี, อนุสรณ์ แก้ววิเชียร สส. นนทบุรี และ พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส. สมุทรปราการ พรรคประชาชน เข้าพบ มารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อหารือแนวทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการบริหารจัดการประกันสังคม
มารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยหลังการประชุมว่า การพูดคุยกันในวันนี้มี 3 ประเด็น เรื่องแรกคือ กรณีหนังสือของผู้อำนวยการกองกฎหมายสำนักงานประกันสังคมได้ลงนามกฎหมายกำชับเปิดเผยข้อมูลว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการกำชับตามหน้าที่ในฐานะหน่วยงานและผู้บังคับบัญชา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกคนในหน่วยงานดำเนินการไปตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ทั้งสองฉบับ คือ พ.ร.บ.ข้อมูลคุ้มครองส่วนบุคคล และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร
ประเด็นที่ 2 คือ การเผยแพร่ผลการประชุมหรือมติการประชุมต่างๆ สามารถเผยแพร่บนเว็บไซต์ได้หรือไม่ มารศรียืนยันว่าสามารถทำได้ โดยสำนักงานประกันสังคมจะรีบดำเนินการภายในสัปดาห์หน้า โดยขอเวลาติดตามว่าข้อมูลอยู่ส่วนไหนเพื่อที่จะนำเว็บไซต์ต่อไป
ประเด็นที่ 3 คือ การรวมกองทุน สปสช. กับสำนักงานประกันสังคม มารศรีกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้ได้มีการขับเคลื่อนในระยะหนึ่งแล้ว โดยเป็นนโยบายที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องต่อตรงที่ขับเคลื่อนต่อไปในวิธีรักษาพยาบาลในทุกๆ กองทุนให้เป็นสิทธิเดียวกัน
ขณะที่ รักชนก ศรีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการหารือในวันนี้ว่า มีการหารือเรื่องการเปิดเผยข้อมูลคือหนังสือเวียนที่มีการส่งให้กับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้สำนักงานประกันสังคม ข้อมูลส่วนใหญ่เกือบ 90% หนังสือเวียนเรื่องการประพฤติมิชอบ แต่หนังสือเวียนที่มีความเกี่ยวข้องกับการไม่ให้ข้อมูลนั้นมีเพียง 2 ฉบับ เรื่องแรกคือ การไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตน และเรื่องที่สองคือ ห้ามส่งข้อมูลอย่างเป็นทางการเข้าสู่ระบบแอปพลิเคชัน LINE
หลังจากที่มีการพูดคุยกันนั้นเห็นว่าหนังสือฉบับดังกล่าวนี้ไม่ได้มีกฎหมายใดรองรับ ซึ่งข้อมูลบางอย่างนั้นสามารถเปิดเผยได้ ซึ่งจึงมีการพูดคุยกันว่าส่วนของประกันสังคมนั้นจะต้องมีข้อมูลที่ดีขึ้นและมีความคืบหน้ามากยิ่งขึ้น ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกองทุนนี้จะได้รับความร่วมมือหากทาง กมธ. มีการขอข้อมูลเข้ามา
ส่วนเรื่องมติของบอร์ดประกันสังคม ในการประชุมคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณครั้งล่าสุด ซึ่งตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ระบุไว้ว่า มติของบอร์ดที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีหรือแต่งตั้งโดยกฎหมายนั้นสามารถเปิดเผยข้อมูล รวมถึงรายงานการประชุมด้วย ซึ่งบุคคลที่เป็นปัญหากับการเปิดเผยครั้งนี้ไม่ใช่หน่วยงานราชการ แต่เป็นบุคคลที่อยู่ในสัดส่วนของนายจ้างที่ยืนยันว่าไม่ยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมติของบอร์ดรวมถึงรายงานการประชุม
รักชนกกล่าวย้ำว่า ความต้องการส่วนตัวของท่านไม่สามารถมาอยู่เหนือกฎหมาย เพราะ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และโลก ไม่ได้หมุนรอบตัวท่าน เราทุกคนที่อยู่ตรงนี้ต้องทำงานภายใต้กฎหมายและเชื่อว่าสำนักงานประกันสังคมจะทำตามกฎหมาย
รักชนกกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมไม่ได้ทำตามกฎหมายที่ยังไม่ได้มีการเปิดเผยมติรวมถึงรายงานการประชุม ซึ่งอาจจะผิดมาตรา 157 ได้ แต่เรื่องราวอาจไม่ถึงขนาดนั้น เนื่องจากเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้ยืนยันว่าภายใน 1 สัปดาห์ สำนักงานประกันสังคมจะทยอยเปิดมติของทั้ง 4 บอร์ด คือ บอร์ดใหญ่ไตรภาคี บอร์ดแพทย์ บอร์ดตรวจสอบ และบอร์ดอุทธรณ์ ซึ่งในสัปดาห์หน้าตนเองจะจับตาหากยังไม่มีการเปิดข้อมูล ก็ต้องยืนยันทำหน้าที่ของตนเองต่อไปที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายได้
ส่วนเรื่องของการควบรวมกองทุนประกันสังคมและกองทุน สปสช. รักชนกกล่าวว่า เรื่องนี้ข้าราชการไม่สามารถตัดสินใจแทนรัฐมนตรีได้ เรื่องดังกล่าวนี้เป็นอำนาจของผู้ดำเนินการนโยบาย ซึ่งตามกฎหมายบอร์ดไตรภาคีจะต้องเป็นผู้ตอบ ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่สามารถที่จะตัดสินใจเองได้ เพราะระบบราชการไม่มีใครที่อยากจะปล่อยอำนาจที่ตัวเองมี
รักชนกจึงมองว่าเรื่องนี้จะต้องถามนายกรัฐมนตรี หากเป็นเรื่องที่ยังไม่สามารถที่จะตัดสินใจเองได้ ระยะเวลาผ่านมาแล้ว 23 ปี หากมีการพูดคุยแบบเดิม ไม่มีการกระทุ้งจากคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ชาตินี้คงไม่ได้เห็นการควบรวม ดังนั้นเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งศึกษาการควบรวมสิทธิไปแล้ว หากมีความจริงใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ จะต้องมีการกำหนดระยะเวลา นานแค่ไหนว่าเรื่องนี้จึงจะเกิดขึ้น การกำหนดระยะเวลาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะตอนนี้เราศึกษากันมา 23 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า