ที่ประเทศเยอรมนี แอปพลิเคชัน ‘Health’ เพื่อการดูแลสุขภาพไม่ได้เป็นแค่แอปฯ ช่วยบันทึกข้อมูลด้านโภชนาการและการออกกำลังกายของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนของ Apple อีกต่อไป เพราะมันได้กลายเป็นเครื่องมือและหลักฐานชิ้นสำคัญที่ถูกนำมาช่วยไขปริศนาคดีฆาตกรรมไปแล้ว
คดีข่มขืนและฆาตกรรมนักเรียนแพทย์หญิงผู้โชคร้ายวัย 19 ปี ‘มาเรีย ลาเดนเบอร์เกอร์ (Maria Ladenburger)’ ที่แม่น้ำ Dresiam เมืองไฟร์บวร์ก (Freiburg) ประเทศเยอรมนี เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมปี 2016 และสามารถจับกุม ฮุสเซน เค. (Hussein K.) ผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานวัย 18 ปีที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยก่อเหตุได้ในเวลาต่อมา โดยกระบวนการสอบสวนทั้งหมดดำเนินมาอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงกันยายนปี 2017
แต่ด้วยข้อมูลแวดล้อมที่มีอยู่อย่างจำกัด ข้อมูลประจักษ์พยานที่คลาดเคลื่อน และการไม่เปิดเผยคำสารภาพทุกๆ การกระทำของผู้ต้องหาจึงทำให้ทีมสืบสวนผู้รับหน้าที่ดูแลคดีนี้ไม่สามารถแกะรอยและสรุปเหตุการณ์ทั้งหมดได้แบบ 100% จนขั้นตอนการสืบสวนต้องยืดเยื้อกินระยะเวลานานเกือบ 4 เดือนเต็ม
ฮุสเซน ยังเลี่ยงการให้รหัสพิน ล็อกอินเข้าใช้งานสมาร์ทโฟนของตัวเอง จนในที่สุดทีมสืบสวนก็ต้องหันไปพึ่งกระบวนการทางนิติวิทยาศาสตร์จากบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิกเพื่อนำข้อมูลทั้งหมดในโทรศัพท์ของผู้ต้องหามาเป็นหลักฐานสืบสวนคดีฆาตกรรม โดยข้อมูลจากแอปพลิเคชัน Health ได้กลายมาเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่สรุปคดีฆาตกรรมครั้งนี้ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
ข้อมูลในแอปฯ Health ของสมาร์ทโฟนนายฮุสเซนไม่ได้เพียงแค่บอกจำนวนก้าวเดิน อัตราการเต้นของชีพจร และกิจวัตรประจำวันของเขาเท่านั้น แต่ยังบอกลึกถึงรายละเอียดสถานที่และตำแหน่งที่อยู่ไปจนถึงเวลาการทำกิจกรรมต่างๆ อีกด้วย ซึ่งข้อมูลในวันเกิดเหตุยังระบุว่านายฮุสเซนกำลัง ‘ปีนป่ายบันได’ อยู่พอดี
หลังจากนั้นตำรวจและทีมสืบสวนได้จำลองเหตุการณ์ฆาตกรรมทั้งหมดขึ้นในสถานที่จริง พร้อมพกโทรศัพท์สมาร์ทโฟนขณะที่กำลังจำลองเหตุการณ์ไปด้วย และพบว่ากิจกรรมที่แจ้งผ่านแอปฯ Health คือ ‘การปีนป่ายบันได’ แบบที่นายฮุสเซนทำในวันเวลาดังกล่าวแบบเป๊ะๆ!
ฌอน โอไบรอัน (Sean O’Brien) นักวิจัยจากแล็บ Yale Privacy ในสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงการนำข้อมูลบนแอปพลิเคชัน Heath มาใช้สืบสวนคดีฆาตกรรมกับเว็บไซต์ Motherboard ว่า “ข้อมูลหลักฐานทางดิจิทัลถูกนำมาใช้ทางกฎหมายเป็นปกติอยู่แล้ว และก็ไม่ใช่แค่ข้อมูลการวัดหน่วยด้านต่างๆ ทั่วไปเท่านั้น แต่รวมถึงการสแกนใบหน้าและการอัดเสียงจากลำโพงด้วย”
อ้างอิง: