หัวหน้าฝ่ายการจัดการเหตุฉุกเฉินของเกาะเมาวี รัฐฮาวาย ออกมาชี้แจงวานนี้ (16 สิงหาคม) ว่า การที่หน่วยงานไม่ได้เปิดไซเรนเตือนภัยพิบัติขณะเกิดไฟป่าครั้งรุนแรงเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จนประชาชนเริ่มแสดงข้อกังขา บ้างก็โกรธแค้นนั้น เป็นเพราะสัญญาณเตือนอาจทำให้คนเข้าใจผิด แม้ในความเป็นจริงอาจช่วยชีวิตผู้คนได้มากกว่านี้ก็ตาม ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่มีการอัปเดตล่าสุดอยู่ที่อย่างน้อย 110 คน
เฮอร์แมน อันดายา (Herman Andaya) ผู้บริหารสำนักงานจัดการเหตุฉุกเฉินเมาวีเคาน์ตี กล่าวว่า โดยปกติแล้วไซเรนในฮาวายจะใช้เพื่อเตือนผู้คนให้ระวังสึนามิ ซึ่งการใช้ผิดวัตถุประสงค์ในช่วงไฟป่าอาจทำให้ผู้คนต้องอพยพไปยังพื้นที่ที่อันตรายกว่าเดิมได้
อันดายาอธิบายว่า หากผู้คนเข้าใจว่าเสียงไซเรนที่ดังอยู่นั้นเป็นเสียงเตือนภัยสึนามิ พวกเขาก็จะอพยพขึ้นสู่ที่สูงเพื่อหนีน้ำ เขาจึงกลัวว่าผู้คนจะรีบหนีไปที่ไหล่เขา ซึ่งเป็นจุดที่กองไฟกำลังปะทุอยู่ ด้วยเหตุนี้ เกาะเมาวีจึงใช้วิธีการเตือนภัยในสองรูปแบบด้วยกัน หนึ่งคือการส่งข้อความไปยังโทรศัพท์ของประชาชน และสองคือการออกประกาศเตือนภัยฉุกเฉินผ่านทางสถานีโทรทัศน์และวิทยุ
นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมด้วยว่า ไซเรนเตือนภัยของฮาวายปกติแล้วจะติดตั้งอยู่บริเวณแนวชายหาด ฉะนั้นแล้วการเปิดไซเรนก็อาจไม่ได้ดังไปถึงคนที่อยู่บนเกาะด้วย
แต่ถึงเช่นนั้น ประชาชนหลายคนก็แย้งว่าในช่วงที่เกิดไฟป่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือนั้นล่มไปแล้ว บางพื้นที่ก็เกิดปัญหาไฟดับ ทำให้หลายคนอาจไม่ได้รับการแจ้งเตือน
ก่อนหน้านี้ จอช กรีน ผู้ว่าการรัฐฮาวาย ได้สั่งการให้อัยการสูงสุดของรัฐดำเนินการทบทวนการตอบสนองต่อเหตุภัยพิบัติ ซึ่งจะมีการนำผู้สืบสวนและผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาช่วยดูด้วย แต่เมื่อวานนี้เขากล่าวย้ำอีกครั้งว่า การทบทวนดังกล่าว “ไม่ใช่การสอบสวนทางอาญาแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญที่สุดที่เราสามารถทำได้ ณ วันนี้ คือการเรียนรู้วิธีทำให้ตัวเราเองปลอดภัยยิ่งขึ้นในอนาคต” กรีนกล่าว
ภาพ: Justin Sullivan / Getty Images
อ้างอิง: