เป็นโปรเจกต์ที่น่าติดตามไม่น้อยสำหรับ #HATETAG โปรเจกต์ภาพยนตร์ขนาดสั้นที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท กู๊ดธิงแฮพเพ่น จำกัด และ บริษัท หับโห้หิ้น บางกอก จำกัด ที่ชักชวน 5 ผู้กำกับมากฝีมือ ได้แก่ โอ๋-ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ (Homestay), พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ (ละคร ฉลาดเกมส์โกง), แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน (One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ) และ 2 ผู้กำกับโฆษณารุ่นใหม่ การันตีด้วยรางวัลมากมายอย่าง ต้น-วุฒิดนัย อินทรเกษตร และ บอม-นิทรรศ สินวัฒนกุล มาร่วมตีความหมายของคำว่า ‘สังคมไซเบอร์ไทย’ และบอกเล่าผ่านภาพยนตร์สั้น 10 เรื่อง เพื่อให้ผู้ชมได้ตระหนักว่า ทุกแท็กและทุกข้อความที่คุณโพสต์ล้วนทรงพลังมากกว่าที่คุณคิด
โดยตอนนี้โปรเจกต์ #HATETAG ได้ปล่อยภาพยนตร์สั้นสองเรื่องแรก ได้แก่ #saveตูดคอร์กี้ ผลงานจากแคลร์ และ #NextDoor ผลงานจากบอม ออกมาให้ได้ชมเป็นที่เรียบร้อยเมื่อวันที่ 29-30 พฤษภาคมที่ผ่านมา
เริ่มกันที่ภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกอย่าง #saveตูดคอร์กี้ ที่จะพาผู้ชมไปติดตามเรื่องราวของ โบล่า (ก้อย-อรัชพร โภคินภากร) หญิงสาวผู้ยึดมั่นในหลักความเท่าเทียมกันของทุกสิ่งบนโลกมนุษย์ เมื่อไรก็ตามที่เธอเห็นใครสักคนโพสต์ข้อความที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมลงในโซเชียล เธอจะรีบเข้าไปคอมเมนต์ตักเตือนในทันที จนกระทั่งวันหนึ่งโบล่าเห็นเพื่อนในเฟซบุ๊กโพสต์รูปตูดหมาคอร์กี้ ซึ่งเธอทนไม่ได้ที่เห็นหมากำลังโดนคุกคามทางเพศ เธอจึงเข้าไปคอมเมนต์เพื่อทวงคืนความปลอดภัยให้กับหมาคอร์กี้
“ไอเดียของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้จริงๆ คือแคลร์ทำเพื่อด่าตัวเอง (หัวเราะ)” แคลร์เล่าถึงไอเดียตั้งต้นของภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ “มันมีช่วงหนึ่งที่เราอินกับ Political Correctness (ความถูกต้องทางการเมือง) มาก เหมือนเราอยากเป็นประชากรโลกที่ดี อยากเห็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน พอเห็นคอมเมนต์ในโซเชียลเข้าข่ายไม่ Political Correctness เราก็จะไปต่อว่าเขา ไปหาว่าเขาเป็นคนเหยียดเพศบ้าง Body Shaming (การล้อเลียนรูปร่างหน้าตาของคนอื่นให้อาย) ซึ่งบางทีมันเหมือนเป็นคำพูดที่เกิดจากความไม่รู้มากกว่าจะตั้งใจทำร้ายความรู้สึกกัน
“ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เป็นแนวตลกเสียดสี คิดว่าคนดูน่าจะสนุกไปกับมัน และจะดีใจมากถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสามารถทำให้คนดูได้ฉุกคิดและย้อนมองพฤติกรรมการใช้โซเชียลของตัวเอง เพราะโลกโซเชียลมันไวมากเลยค่ะ ก่อนที่เราจะพิมพ์ อ่าน แชร์ หรือตัดสินใจใครผ่านโซเชียล อยากให้ตรึกตรองกันเยอะๆ ค่ะ”
#NextDoor บอกเล่าเรื่องราวของ เอ็มมี่ (แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช) หญิงสาวที่พึ่งจะย้ายเข้ามาอยู่ในคอนโดสุดหรูที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ไม่นาน แต่เธอกลับพบว่าชายหนุ่มปริศนาที่อาศัยอยู่ห้องข้างๆ ของตัวเองคืออดีตฆาตกรโหดที่พึ่งจะพ้นโทษออกมา ด้วยความหวาดกลัวว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เธอจึงตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองลงในทวิตเตอร์เพื่อขอคำปรึกษาจากโลกโซเชียล
“เรื่องนี้มาจากที่ผมเห็นข่าวฆาตกรรมดังๆ ในอดีตแล้วคิดว่า ผู้กระทำความผิดในข่าวจะมีชีวิตอย่างไรในสังคมหลังรับโทษ” บอมเล่าถึงจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้ “คนที่อยู่รอบข้างจะรู้สึกอย่างไรที่ต้องอยู่ใกล้คนที่เคยฆ่าคนมาแล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่อยากอยู่ใกล้ๆ เหมือนกัน จึงใช้ไอเดียนี้มาปรับให้เข้ากับการใช้โซเชียลมีเดียของคนในปัจจุบัน”
แม้ว่าภาพยนตร์สั้นทั้งสองเรื่องจะถูกนำเสนอด้วยจังหวะจะโคนที่แตกต่างกันไป เช่น #saveตูดคอร์กี้ ที่โดดเด่นด้วยจังหวะการตัดต่อที่กระชับฉับไว และเสริมด้วยซาวด์ดนตรีเฮฟวีเมทัล เพื่อนำเสนอคาแรกเตอร์ของตัวละครอย่าง โบล่า ที่มีนิสัยอารมณ์ร้อน คิดไว พิมพ์ไว ตอบไว ในขณะที่ #NextDoor มาในบรรยากาศของภาพยนตร์เขย่าขวัญ
แต่จุดร่วมข้อหนึ่งที่ภาพยนตร์สั้นทั้งสองเรื่องพยายามนำเสนอ คือการเชิญชวนให้ทุกคนลองสำรวจพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียของตัวเองดูว่า เรากำลังใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการ ‘ใส่ร้ายผู้อื่น’ โดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า
ทั้งเรื่องราวของโบล่าที่แม้ว่าจุดประสงค์ในการตักเตือนของเธอคือการเรียกร้องความเท่าเทียม แต่เธอกลับตัดสินใจไปก่อนแล้วว่าเพื่อนของเธอทำผิด โดยไม่รู้ว่าจุดประสงค์จริงๆ ในการโพสต์รูปตูดคอร์กี้ของเพื่อนคืออะไร รวมถึงเรื่องราวของเอ็มมี่ที่ตีโพยตีพายไปเองว่าอดีตฆาตกรโหดอาจบุกเข้ามาทำร้ายเธอ เธอจึงเลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการปกป้องตัวเอง
และจุดที่เราชื่นชอบมากๆ คือการที่ผู้กำกับได้ทิ้งคำถามสำคัญให้เราได้ร่วมกันขบคิดต่อว่า หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ แล้วใครล่ะจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในเมื่อทุกคนที่เข้ามาคอมเมนต์ แชร์ หรือรีทวีต ต่างก็มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้าใจผิดที่แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ในขณะที่สองตัวละครหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดกลับไม่สามารถแก้ไขอะไรได้เลย
บางทีข้อความเพียงไม่กี่บรรทัดที่เราโพสต์โดยไม่คิดไตรตรองให้ดีเสียก่อน มันอาจเปลี่ยนชีวิตของใครคนหนึ่ง ‘ไปตลอดกาล’
สามารถติดตามชมภาพยนตร์สั้นทั้ง 10 เรื่องจากโปรเจกต์ #HATETAG ได้ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 17.15 น. ทางอมรินทร์ทีวี ช่อง 34 และสามารถรับชมแบบออนไลน์ที่แรกบน LINE TV เท่านั้น เวลา 19.00 น.
รับชมภาพยนตร์สั้น 2 ตอนแรกได้ที่นี่
ติดตามความเคลื่อนไหวของโปรเจกต์ #HATETAG ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ