หนึ่งในคำถามที่สำคัญที่สุดสำหรับการคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปีมาถึงจุดพีค หรือแตะระดับสูงสุดแล้วหรือยัง
โดยสิ่งที่นักลงทุนและนักวิเคราะห์กำลังจับตามองในขณะนี้คือ รายงานข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม ที่จะมีการเปิดเผยในวันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคมนี้ ซึ่งหลายฝ่ายคาดหวังว่าดัชนี CPI จะเติบโตในอัตราชะลอตัวต่อไป
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้น 7.1% ซึ่งแม้จะยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นที่สูงเป็นประวัติการณ์ แต่เป็นการลดลงอย่างเห็นได้ชัดจากการเพิ่มขึ้นของราคาสูงสุดที่ 9.1% ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ยังเป็นขยับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่ที่มีสัญญาณเงินเฟ้อสูงในเดือนธันวาคมปี 2021
สัญญาณดังกล่าวส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้งหลายหวังว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะเย็นลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมา และอัตราเงินเฟ้อจะลดลงจนแตะระดับเป้าหมายของธนาคารกลางโลก รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ 2-3%
แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันจะยังอยู่ห่างจากเป้าเงินเฟ้ออีกไกล แต่ตราบใดที่ดัชนี CPI ยังลดลง เหล่านักธุรกิจ นักลงทุน และนักวิเคราะห์ในตลาดก็น่าจะมีกำลังใจที่จะเดินหน้ากันต่อไป
Nancy Tengler ซีอีโอ และประธานเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Laffer Tengler Investments ระบุว่า เงินเฟ้อน่าจะส่งสัญญาณชะลอตัวต่อไปหลังจากที่เชื่อว่าแตะจุดพีคแล้วในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยการขึ้นและลงของอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่มีความสมมาตร กล่าวคือต้องใช้เวลาถึง 16 เดือนในการถึงจุดสูงสุด และตอนนี้คาดว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะถึงระดับที่ยอมรับได้
ทั้งนี้ การชะลอตัวของเงินเฟ้อไม่เพียงเป็นข่าวดีของผู้บริโภคชาวอเมริกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาบริษัทต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ ด้วย เพราะเงินเฟ้อที่ลดลงหมายถึงผลกำไรที่ควรเพิ่มขึ้นจากการที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายของสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง
Brett Ewing หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดของ First Franklin คาดว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อกำลังลดลง ทำให้บรรดาบริษัทเห็นสัญญาณต้นทุนการผลิตที่เริ่มจะลดลง ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มที่จะถือได้ดีกว่าที่ตลาดโดยรวมคาดไว้
ยิ่งไปกว่านั้น สัญญาณเงินเฟ้อชะลอตัวน่าจะเปิดทางให้ Fed ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยขณะนี้เทรดเดอร์ทั้งหลายต่างคาดหวังให้ Fed ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหลืออยู่เพียง 0.25% ในการประชุมถัดไปที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า พร้อมหวังว่าจะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ภายในปีนี้
โอกาสที่ Fed จะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ได้เพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยตามไปด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงคิดว่าการชะลอตัวระยะสั้นและตื้นน่าจะเป็นไปได้ แต่นั่นจะขึ้นอยู่กับความแข็งกร้าวของ Fed ที่จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปด้วย
Bob Doll หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Crossmark Global Investments มองว่า แม้จะไม่ถึงเป้าหมาย แต่ Fed น่าจะต้องยอมรับเงินเฟ้อที่ระดับ 3-4% ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้ Soft Landing มีความเป็นไปได้มากขึ้น
รายงานระบุว่าการที่ Fed จะชะลอหรือถึงขึ้นยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นข่าวดีสำหรับคนที่กำลังหาซื้อบ้านอยู่ในเวลานี้ โดยที่ผ่านมาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้อัตราสินเชื่อบ้านปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนหลายฝ่ายเกรงว่าจะทำให้เกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ซ้ำรอยช่วงปลายปี 2000 แต่ถ้าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง และ Fed ยอมยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักวิเคราะห์เห็นตรงกันว่าตลาดที่อยู่อาศัยอาจดีดตัวขึ้น
อ้างอิง: