×

ฮารูกิ มูราคามิ: ที่มาของนักเขียนผู้ทำให้นักอ่านได้สัมผัสกับโลกอันเปลี่ยวเหงาผ่านตัวหนังสือ

13.01.2021
  • LOADING...
ฮารูกิ มูราคามิ ที่มาของนักเขียนผู้ทำให้นักอ่านได้สัมผัสกับโลกอันเปลี่ยวเหงาผ่านตัวหนังสือ

HIGHLIGHTS

3 mins. read
  • ฮารูกิ มูราคามิ หลงใหลในวัฒนธรรมอันเต็มไปด้วยความอิสระจากฝั่งตะวันตก กระทั่งต่อมามันได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในงานเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง
  • “เราต้องสัมผัสกับความแปลกประหลาดผิดเพี้ยน ก่อนที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นั่นแหละคือรูปแบบของเรื่องราวในหนังสือของผม คุณจะต้องผ่านความมืดมนใต้หลุมลึก ก่อนที่จะได้พบกับแสงสว่าง” 
  • การบริหารแจ๊สบาร์เป็นเวลาหลายปี ทำให้เขาไม่ได้เป็นเพียงชายผู้หลงใหลในดนตรีแห่งยุค 20 แต่เขาได้กลายเป็นคอเพลงแจ๊สผู้ช่ำชอง ที่เมื่อยกบทเพลงไหนขึ้นมาในหนังสือ ผู้อ่านจะต้องตามฟังกันแทบทุกเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงของ Miles Davis, Jumpin’ with Symphony Sid, Charlie Parker with Strings, Nat King Cole, John Coltrane และ Claude Williamson 

 

นักเขียนผู้รักสันโดษเหมือนกับตัวละครในนวนิยายของตัวเอง

ชื่อของ ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่ปัจจุบันได้ก้าววิ่งเข้าสู่วัย 71 ปี โด่งดัง ไปทั่วโลกด้วยผลงานเขียนมากมาย ทั้งนวนิยาย บทความ รวมไปถึงนอนฟิกชันที่ได้รับการแปลไปทั่วโลกกว่า 50 ภาษา 

 

ตัวหนังสือของมูราคามิครอบครองหัวใจนักอ่านขี้เหงาทั่วโลก ด้วยตัวละครในนิยายที่มักจะเต็มไปด้วยความรู้สึกแปลกแยกและโดดเดี่ยว เคล้าคลอด้วยดนตรีแจ๊ส บทเพลงคลาสสิกและเหตุการณ์เพี้ยนสุดกู่ที่มักจะปรากฏขึ้นในหนังสือของเขาอยู่เสมอ 

 

แน่นอนว่าหลังจากที่ผู้อ่านได้สัมผัสประสบการณ์เปลี่ยวเหงาอันแปลกประหลาด หลายคนคงสงสัยว่าชายคนนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และสิ่งใดที่หล่อหลอมให้เขาเป็นมูราคามิ นักเขียนระดับแถวหน้าที่มักจะพาผู้อ่านเดินเข้าสู่โลกแห่งความเดียวดายอย่างน่าอัศจรรย์

 

 

ชีวิตอันเรียบง่ายก่อนเป็นนักเขียน และที่มาของเพลงแจ๊สในหนังสือ

ฮารูกิ มูราคามิ ได้รับอิทธิพลของการรักการอ่านมาจากพ่อและแม่ของเขาที่เป็นอาจารย์สอนสาขาวรรณกรรมทั้งคู่ ถึงแม้ว่าจะเกิดและเติบโตที่ญี่ปุ่น แต่เขากลับหลงใหลวัฒนธรรมอันเต็มไปด้วยความอิสระของฝั่งตะวันตกที่ไม่เคร่งครัดแบบญี่ปุ่น ประเทศบ้านเกิด เขาเสพศิลป์ทั้งงานวรรณกรรม บทเพลงจากฝั่งอเมริกาและยุโรป นักเขียนคนโปรดที่เขามักจะกล่าวถึงในหนังสืออยู่บ่อยครั้งจนชินตาคือ ฟรานซ์ คาฟกา, ฟิโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี, ชาร์ลส์ ดิกเคนส์ และ แจ็ค เคอร์โรก

 

การเติบโตมากับวรรณกรรมตะวันตกเหล่านี้ได้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งผลต่อความคิดและสไตล์การเขียนของมูราคามิ ซึ่งมีความแตกต่างกับรูปแบบงานวรรณกรรมของฝั่งญี่ปุ่นที่มักจะมีแบบแผนอย่างเข้มงวด หนังสือทุกเล่มของมูราคามิไม่มีคำนำ แต่จะมีประวัติโดยย่อ (มากๆ) ของเขาใส่เข้ามาแทน 

 

และก็คงไม่ต่างจากงานเขียนอีกหลายคนที่ตื่นรู้ขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นนักอ่านมาตลอดว่า เขาควรจะลุกขึ้นมาเขียนงานที่ตัวเองอยากเขียนดูบ้าง และจุดเริ่มต้นของมูราคามิก็เริ่มต้นขึ้นในวัย 29 ปี ขณะกำลังชมการแข่งขันเบสบอล ในตอนนั้นเขาเปิดแจ๊สบาร์ Peter Cat ร่วมกับภรรยาสาว ชื่อบาร์อันมีที่มาจากชื่อของเจ้าแมวสัตว์เลี้ยงตัวน้อยของเขานั่นเอง 

 

การบริหารแจ๊สบาร์เป็นเวลาหลายปี ทำให้เขาไม่ได้เป็นเพียงชายผู้หลงใหลในดนตรีแห่งยุค 20 แต่เขากลายเป็นคอเพลงแจ๊สผู้ช่ำชอง ที่เมื่อยกบทเพลงไหนขึ้นมาในหนังสือ ผู้อ่านจะต้องตามฟังกันแทบทุกเพลง ไม่ว่าจะเป็นเพลงของ ไมลส์ เดวิส, Jumpin’ with Symphony Sid, Charlie Parker with Strings, แนท คิง โคล, จอห์น โคลเทรน และ โคลด วิลเลียมสัน และก็เป็นเพราะรสนิยมการฟังเพลงเป็นเลิศนี่เอง ทำให้มูราคามิมีโอกาสได้จัดรายการวิทยุ Murakami Radio – Run and Songs เมื่อปี 2018 ซึ่งนอกจากจะได้เล่าเรื่องราวแรงบันดาลใจเกี่ยวกับวรรณกรรม บทเพลง และกิจกรรมสุดโปรดของเขาอย่างการวิ่ง เขายังจัดเต็มด้วยการนำคอลเล็กชันเพลงที่สะสมมาทั้งชีวิต ทั้งผลงานบันทึกเสียงและแผ่นซีดี มาเผยแพร่ให้แฟนๆ ได้ฟัง 

 

ล่าสุดในปี 2020 เขาก็จัดรายการวิทยุอีกครั้ง เพื่อเปิดเพลงปลอบประโลมจิตใจให้แฟนๆ ยามค่ำคืนในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในนาม Stay Home Special 

 

มูราคามิ ชายหนุ่มแห่งยุค 60 ผู้เชื่อว่าหนังสือของเขาโด่งดังจากความโกลาหลแห่งโลกการเมือง

มูราคามิเกิดในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่ายุคเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นยุคที่ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็พยายามฟื้นตัวจากพิษสงครามที่กินเวลาถึง 6 ปี นอกจากนี้พ่อของ ฮารูกิ มูราคามิ ยังมีส่วนร่วม ในการรบสมรภูมิ Sino-Japanese War หรือสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ซึ่งสร้างบาดแผลในใจให้กับพ่อของเขาเป็นอย่างมาก 

 

แน่นอนว่ามูราคามิเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เขาเติบโตและใช้ชีวิตวัยหนุ่มในญี่ปุ่นช่วงยุค 60-70 ซึ่งเป็นยุคแห่งความหวัง การเปลี่ยนแปลงของคนหนุ่มสาวที่ออกมาเดินประท้วง ลัทธิมาร์กซิสเริ่มเผยแพร่อย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น ความสับสนที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเชื่อและแรงศรัทธาของคนยุคใหม่ในตอนนั้น ส่งผลโดยตรงต่อทัศนคติและความคิดของเขาเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งหมดปรากฏออกมาในรูปแบบของตัวละครที่มักจะรู้สึกแปลกแยก สับสน และโหยหาความรักอยู่เสมอ โดยเขาได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ผ่าน The Guardian ว่า 

 

“เมื่อครั้งที่ผมยังเป็นหนุ่มในช่วง 1960 มันคือช่วงเวลาแห่งอุดมคตินิยม เรามีความเชื่อว่าโลกนี้จะดีขึ้นได้หากเราพยายามกันหน่อย ผมคิดว่ามันน่าเศร้ามากที่คนสมัยนี้ไม่มีความเชื่อแบบนั้นอีกแล้ว ผู้คนพูดกันว่าหนังสือของผมมันประหลาด แต่เหนือกว่าความประหลาดคือโลกที่น่าอยู่ขึ้น” นอกจากนี้เขายังเสริมต่ออย่างน่าสนใจอีกว่า 

 

“เราต้องสัมผัสกับความแปลกประหลาดผิดเพี้ยน ก่อนที่เราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นั่นแหละคือรูปแบบของเรื่องราวในหนังสือของผม คุณจะต้องผ่านความมืดมนใต้หลุมลึก ก่อนที่จะได้พบกับแสงสว่าง”  

 

 

มูราคามิมีทฤษฎีว่า หนังสือของเขามักจะโด่งดังในช่วงที่ประเทศนั้นๆ กำลังอยู่ในช่วงสับสนอลหม่านแห่งการเปลี่ยนแปลง เขายกตัวอย่างถึงประเทศรัสเซียที่เขามีชื่อเสียงขึ้นมาในตอนที่สหภาพโซเวียตเปลี่ยนเป็นประเทศรัสเซีย และสำหรับประเทศเยอรมนี หนังสือของเขาโด่งดังในช่วงที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลายลง ผู้คนที่รู้สึกสับสนและแปลกแยกต่างก็รู้สึกเหมือนกับตัวละครในหนังสือของเขา และเหนือกว่านั้นคือ พวกเขาอยากจะหลีกหนีโลกแห่งความจริงไปสู่จินตนาการแบบเพี้ยนหลุดโลกที่มักจะปรากฏอยู่ในงานเขียนของเขาอย่างสม่ำเสมอ

 

 

นักเขียนผู้สันโดษ

หลังออกผลงานไตรภาคแห่งมุสิกและเล่มอื่นออกมา วรรณกรรมที่ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่นคือ Norwegian Wood หรือ ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย ที่กลายเป็นหนังสือขวัญใจคนหนุ่มสาวในขณะนั้น ซึ่งมูราคามิก็ไม่ได้รู้สึกดีใจต่อการที่กลายเป็นคนที่อยู่ในสปอร์ตไลต์เท่าไรนัก เพราะด้วยนิสัยสันโดษเหมือนกับตัวละครในหนังสือ เขาไม่เคยเข้าร่วมกับกลุ่มนักเขียนในญี่ปุ่น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับนักเขียนคนอื่น และถึงแม้ว่าผลงานของเขาจะได้รับการสรรเสริญชื่นชม อีกทั้งยังได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย แต่ความเซอร์เรียลที่ผ่าเหล่าจากวรรณกรรมสไตล์ญี่ปุ่น โดยเฉพาะฉากอีโรติกอันโจ๋งครึ่ม ทำให้มูราคามิได้รับคำวิจารณ์ในด้านลบจากคนญี่ปุ่นเช่นกันเมื่อครั้งที่เขาเริ่มมีชื่อเสียง แม้แต่คนในครอบครัวยังเคยขอให้เขาเลิกเขียนหนังสือหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหากับวิธีเขียน และนี่อาจจะเป็นเหตุผลหลักที่ ฮารูกิ มูราคามิ เลือกที่จะท่องเที่ยวไปตามยุโรปและอเมริกาเกือบจะตลอดเวลา อีกทั้งยังเคยปักหลักอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายปี

 

 

ภาพ: Facebook, Haruki Murakami

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising