×

ส่องเทียบนโยบาย ‘แฮร์ริส-ทรัมป์’ ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลังรู้ผลเลือกตั้งจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างไร

29.10.2024
  • LOADING...

สิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า หลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ มีความคาดหวังว่าจะเกิด Election Rally

 

ทั้งนี้ จากสถิติช่วง 3-6 เดือนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นช่วงที่มีการแข่งขันสูง และมีความสูสีของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นของสหรัฐฯ ให้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะแนวโน้มผลการเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน

 

ประเมินผลกระทบหลังเลือกตั้งต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ 

 

สำหรับผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะแบ่งได้ออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

 

  1. กรณี Sweep คือ กรณีที่สภาบนและสภาร่างครองเสียงข้างมากจากพรรคเดียวหรือเป็นรัฐบาลพรรคเดียว โดยในกรณีที่เป็นรัฐบาลพรรคเดียว ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกัน ซึ่งจะเป็นกรณีที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ประเมินว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนประมาณ 14-14.5% 

 

  1. Divided คือ กรณีที่สภาสูงและสภาล่างที่มาจากต่างพรรคจะให้ผลตอบแทน 7.3-12%

 

ทั้งนี้ คาดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะให้ผลตอบแทนที่สูง แต่ยังต้องระมัดระวังหากในกรณีผลการเลือกตั้งออกเป็นแบบ Divided ยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ แต่ยังให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในกรณีอื่นๆ

 

นอกจากนี้หากมีการเปรียบเทียบนโยบายของผู้สมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นบวกกับตลาดหุ้นมากกว่ากรณีที่ คามาลา แฮร์ริส พรรคเดโมแครต ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

 

เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเน้นให้ความสำคัญในด้านของเศรษฐกิจจุลภาคหรือภาคธุรกิจมากกว่าเศรษฐกิจมหภาค ขณะที่นโยบายของ คามาลา แฮร์ริส จะให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมหภาคหรือภาพใหญ่ของเศรษฐกิจ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับภาพของภาคธุรกิจมากนัก เพราะมีมุมมองว่าหากเศรษฐกิจมหาภาคดีก็จะส่งผลให้ภาคธุรกิจดีขึ้นตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ คามาลา แฮร์ริส ที่มีพื้นฐานทำงานมาจากอัยการ จึงมีแนวคิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด (Antitrust) มาโดยตลอด ส่วนกรณีของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีประเด็นดังกล่าวที่น้อยกว่า

 

อย่างไรก็ดี กรณีของจีนไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งแต่ยังมีนโยบายที่กระทบกับตลาดหุ้นของจีน โดยเฉพาะหากเป็นกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง จะมีนโยบายที่เป็นผลลบกับตลาดหุ้นจีนที่มากกว่าฝั่งของ คามาลา แฮร์ริส

 

อีกทั้งจากการศึกษานโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่อัตรา 60% หากไม่มีการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในตลาดหุ้นจีนประมาณ 10-15% และส่งผลต่อมูลค่าของหุ้นจีนประมาณ 5-10% ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ประมาณ 15-25% ขึ้นอยู่กับความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นว่าผู้ประกอบการจีนที่ส่งออกสินค้ามายังสหรัฐฯ ไปยังผู้บริโภคว่าจะสามารถทำได้มากหรือน้อยอย่างไร

 

ส่องความเสี่ยงจากนโยบาย 2 ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

ดังนั้นมีมุมมองว่า หากกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ นักลงทุนต้องมีความระมัดระวังการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในการลงทุนในตลาดหุ้นจีน

 

ส่วนกรณีที่ คามาลา แฮร์ริส ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจมีผลกระทบกับตลาดหุ้นจีนบ้าง แต่จะน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

สิทธิชัยกล่าวต่อว่า กรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประเมินว่ามีกลุ่มหุ้นที่จะได้ประโยชน์ ดังนี้

 

  1. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์สันดาป
  2. กลุ่มพลังงาน
  3. กลุ่มธนาคารพาณิชย์
  4. ภาคอสังหาริมทรัพย์ 

 

สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากนโยบายของของ โดนัลด์ ทรัมป์ คือ ตลาดหุ้นจีน, หุ้นกลุ่มเฮลท์แคร์ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนต่อไป 

 

ส่วนในกรณีที่ คามาลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดว่ากลุ่มหุ้นหลักที่จะได้ประโยชน์มีดังนี้ 

 

  1. กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ EV
  2. อสังหาริมทรัพย์

 

ส่องปม ‘หุ้นไทย’ ทำไมเริ่มปรับลง

 

นอกจากนี้ประเมินว่าหาก คามาลา แฮร์ริส พรรคเดโมแครต ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คาดว่าจะมีนโยบายที่จำกัดการเติบโตในภาคเทคโนโลยีของจีน ขณะที่มีมุมมองว่าการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ ในลักษณะนี้จะมีผลกระทบต่อสหรัฐฯ ในระยะยาว เนื่องจากผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 25% มาจากตลาดของจีน

 

สำหรับมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยที่เริ่มปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากได้รับผลกระทบจากค่าเงินดอลลาร์ที่มีทิศทางแข็งค่า เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงเร็วอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้

 

ขณะที่ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า ส่งผลให้กระแสการลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้ามาลงทุนใน Emerging Market หายไป อีกทั้งนักลงทุนผิดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาผิดไปจากที่คาดหวังไว้ ส่งผลให้เริ่มมีการถอนการลงทุนออกจาก Emerging Market รวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย

 

อีกทั้งปัจจัยการเมืองภายในประเทศของไทยที่กลับมามีปัญหาความไม่แน่นอนอีกครั้งหลังจากเริ่มเห็นการยื่นคำร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทย ส่งผลให้ภาพปัจจัยทางการเมืองของไทยเริ่มมีความไม่ชัดเจนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาพของการส่งออกของไทยที่มีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคยานยนต์ 

 

นอกจากนี้ภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลให้จีนเร่งส่งออกสินค้าราคาถูกออกมาในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีมาตรการป้องกันควบคุมดูแลสินค้าเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็ว

 

ขณะที่ไทยยังมีความคาดหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่เศรษฐกิจของไทยมีการชะลอตัวลงจากปัจจัยผลกระทบจากเศรษฐกิจต่างประเทศ 

 

“ภาพเศรษฐกิจของไทยอาจผ่านช่วงที่ได้รัฐบาลใหม่และช่วยสร้างความเชื่อมั่นมาพอสมควรแล้ว ตอนนี้กลับมาสู่โลกความเป็นจริงด้วยภาพ Sentiment รวมที่มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังพอทำได้ แต่ในช่วงเวลานี้ปัจจัยแวดล้อมจากภายนอกไม่ได้เอื้อต่อตลาดหุ้นไทยสักเท่าไร ส่วนปัจจัยภายในของไทยก็ดูเหมือนมีเรื่องดราม่าเยอะ ทำให้การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นไทยคงไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นได้เร็วหรือแรงตามตลาดหุ้นในภูมิภาค” สิทธิชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising