×

‘ฮาร์ลีย์นำขบวน’ 74 ปีของจักรยานยนต์เกียรติยศ สัญลักษณ์แห่งความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศ

08.04.2024
  • LOADING...

ทีมข่าว THE STANDARD มีโอกาสได้ร่วมบันทึกภาพการฝึกซ้อมขบวนจักรยานยนต์เกียรติยศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ฮาร์ลีย์นำขบวน ที่ถนนอักษะ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ของกองบัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะออกมาฝึกตามวงรอบเพื่อให้รถมีสมรรถนะพร้อมต่อการเรียกใช้งานตลอดเวลา

 

ความเป็นมาของจักรยานยนต์เกียรติยศ 

 

เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 ตำรวจสันติบาลมีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร โดยเป็นการนำจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน (Harley-Davidson) ระบบเกียร์มือ มีรถพ่วงข้างออกตรวจบริเวณรอบพระราชวังดุสิตและพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งถือเป็นภารกิจการถวายความปลอดภัยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ต่อมาใน พ.ศ. 2511 กองพลาธิการกรมตำรวจ ได้จัดซื้อจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์-เดวิดสันรุ่นใหม่ให้ตำรวจสันติบาลเพื่อใช้ในภารกิจ เช่น นำ-แซงขบวนถวายความปลอดภัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง, นำ-แซงขบวนเพื่อให้เกียรติบุคคลในระดับประมุขรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาลในฐานะแขกรัฐบาล เอกอัครราชทูตต่างประเทศที่เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นตราตั้ง อักษรสาส์นตราตั้ง ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศไทย

 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจักรยานยนต์เกียรติยศจึงถูกนำมาใช้ในภารกิจ นำ-แซงขบวนถวายพระเกียรติ เทิดพระเกียรติ ถวายความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึงพระราชอาคันตุกะ เอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย ผู้นำรัฐบาลต่างประเทศ และแขกรัฐบาลอย่างเป็นทางการ

 

จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรมตำรวจ เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2541 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ได้กลายเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจถวายความปลอดภัยและอารักขาบุคคลสำคัญของขบวนรถจักรยานยนต์เกียรติยศ ซึ่งขบวนรถฮาร์ลีย์-เดวิดสันนี้ นับเป็นต้นแบบของรถจักรยานยนต์นำขบวนอื่นๆ รวมถึงขบวนของตำรวจนครบาลด้วย

 

ทำไมต้องเป็น ‘ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน’ 

 

เนื่องจากในบางภารกิจของจักรยานยนต์เกียรติยศต้องใช้ความเร็วสูง จึงจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่ และมีสมรรถนะที่ดีกว่ารถจักรยานยนต์ทั่วไป ซึ่งรถฮาร์ลีย์-เดวิดสันเหมาะต่อการใช้ในภารกิจนำ-แซงขบวน อีกเหตุผล คือ กองบัญชาการตำรวจสันติบาลใช้รถจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์-เดวิดสันเป็นจักรยานยนต์เกียรติยศมาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 อยู่แล้ว 

 

ปัจจุบันจักรยานเกียรติยศของกองบัญชาการตำรวจสันติบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 70 คัน ใช้ปฏิบัติภารกิจได้จำนวน 65 คัน ประกอบด้วยรุ่น

 

  • Harley-Davidson รุ่น Pan Shovel Police ขนาด 1,200 ซีซี 
  • Harley-Davidson รุ่น Electra Glide Police ขนาด 1,200 ซีซี
  • Harley-Davidson รุ่น Road King Police ขนาด 1,340 ซีซี
  • Harley-Davidson รุ่น Electra Glide Police ขนาด 1,690 ซีซี
  • Harley-Davidson รุ่น Electra Glide Police ขนาด 1,745 ซีซี
  • Harley-Davidson รุ่น Electra Glide Police ขนาด 1,868 ซีซี

 

การฝึกตำรวจขับฮาร์ลีย์นำขบวน

 

ผู้ทำหน้าที่ขับขี่รถจักรยานยนต์เกียรติยศ จะต้องเข้ารับการฝึกโครงการขับขี่ปลอดภัยฮอนด้าเพื่อฝึกหลักสูตรอบรมขับขี่ปลอดภัย หลังจากนั้นจึงเข้าฝึกอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ขับขี่จักรยานยนต์เกียรติยศจำนวน 5 วัน รูปแบบการฝึก เช่น สถานีฝึกจูงรถ สถานียกรถ สถานีสลาอ่าม สถานีเลขแปด และสถานีวงกลม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขับขี่รถจักรยานยนต์เกียรติยศมีความสามารถในการขับขี่รถทั้งในรูปแบบขบวนช้าและเร็ว

 

ซึ่งที่ผ่านมาจักรยานยนต์เกียรติยศได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ เช่น ขับรถนำ-แซงขบวนเกียรติยศในพิธีมอบกุญแจเมืองแด่สมเด็จพระราชาธิบดี และสมเด็จพระราชินีแห่งมาเลเซีย องค์ที่ 4 เมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2556 และขับรถนำ-แซงขบวนเกียรติยศ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

 

ประชาชนที่สนใจเยี่ยมชมจักรยานยนต์เกียรติยศ กองบัญชาการตำรวจสันติบาลมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์จักรยานยนต์เกียรติยศไว้ที่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีการรวบรวมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่พร้อมประวัติในแต่ละรุ่นให้ประชาชนทุกคนได้ร่วมศึกษา

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising