เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์
ข้อมูลจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เผยว่าจำนวนผู้สูงอายุปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็น 20.70% จากประชากรทั้งหมด แต่ประเด็นที่น่ากังวลยิ่งไปกว่านั้นคือ มีการคาดการณ์ว่าในปี 2578 จะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด
แม้ที่ผ่านมาภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ จะมีนโยบายและแนวทางเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสังคมสูงอายุ แต่ก็ยังมีประเด็นเปราะบางอีกมากที่ยังไม่ถูกหยิบยกมาแก้ไข
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปรียบเสมือนลมใต้ปีกที่คอยขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมและงานนโยบายสาธารณะ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไทยอย่างรอบด้าน ด้วยการสร้างเครือข่ายเสริมพลังภาคีทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ที่จะสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับผู้สูงอายุ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ฉายภาพกว้างให้เห็นถึงมิติสำคัญที่ สสส. พยายามขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายงานด้านผู้สูงอายุเพื่อลดปัญหา ลดช่องว่าง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ได้แก่ เรื่องสุขภาพ สังคม สภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจ
“ประเด็นที่เราค่อนข้างกังวลของผู้สูงอายุวัยเกษียณคือเรื่องความเหงา ความจน และการเข้าไม่ถึงสิทธิ์ต่างๆ โดยเฉพาะบริการสุขภาพ เนื่องจากหลักประกันไม่ครอบคลุม ทั้งหลักประกันทางสุขภาพ หลักประกันทางสังคมในการใช้ชีวิต แต่ที่เร่งด่วนจริงๆ คือกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังในครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 12% และอยู่ลำพังกับคู่สมรส 21.1% ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความเปราะบางต่อปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ไปจนถึงปัญหาด้านสุขภาพ
“เรื่องการเงินก็เป็นเรื่องที่พวกเขากังวล เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเงินเก็บ ผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งต้องพึ่งพาเบี้ยยังชีพจากภาครัฐเป็นหลัก ส่วนใหญ่พอต่อการดำรงชีวิต พันธกิจของเราคือ จะทำอย่างไรให้พวกเขามีชีวิตอยู่ได้ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่แข่งขันสูงและเหลื่อมล้ำสูง”
ที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนสร้างเสริมและพัฒนาเพื่อสร้างสุขให้กับผู้สูงวัยครบทุกมิติข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น
- มิติทางสุขภาพ พัฒนาชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ การพัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายและการส่งเสริมกลไกความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้สูงอายุ เป็นตัวกลางเชื่อมประสานให้กลุ่มชาติพันธุ์มีบัตรประชาชนเพื่อเข้าถึงสิทธิ์สุขภาพได้ รวมไปถึงนโยบาย ‘80 ปี ฟันดี 20 ซี่ เติมเต็มคุณภาพชีวิต’ ของกระทรวงสาธารณสุข
- มิติทางเศรษฐกิจ สนับสนุนข้อมูลวิชาการ งานวิจัย พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อภาครัฐ เรื่องการขยายอายุและโอกาสการทำงานในระบบของผู้สูงอายุ ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- มิติทางสังคม พัฒนาชมรมผู้สูงอายุต้นแบบกว่า 260 แห่ง ส่งเสริมโรงเรียนและหลักสูตรการเรียนรู้ผู้สูงอายุ พัฒนานวัตกรรมธนาคารเวลา สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกันในชุมชนท้องถิ่น เขตเมืองและองค์กร
- มิติสภาพแวดล้อม สร้างเสริมสุขภาวะผู้สูงอายุในที่พักอาศัยและสถานที่สาธารณะ ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อทุกคน
“เรื่องที่อยู่อาศัยเราโฟกัสไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ด้วยการสนับสนุนงานวิชาการของคณะคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ใน 12 มหาวิทยาลัย เพื่อให้คำแนะนำแก่ผู้สูงอายุชนชั้นกลางที่พอมีเงินและต้องการปรับปรุงบ้าน ส่วนกลุ่มที่ต้องการงบปรับบ้านในระดับพื้นที่ เราทำหน้าที่เชื่อมโยงภาคีในการบูรณาการงบประมาณของแต่ละหน่วยให้สามารถใช้ร่วมกันได้และง่ายต่อการเข้าถึงสิทธิ์”
ส่วนมิติด้านสังคม หนึ่งในเป้าหมายคือการเพิ่มกิจกรรมทางเลือกให้กับผู้สูงอายุ โดยที่ผ่านมา สสส. จะใช้วิธีหาภาคีที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มาทำงานร่วมกัน
“ตอนนี้เราโฟกัสไปที่ผู้สูงอายุในเมืองที่ไม่ค่อยมีช่องทางเชื่อมต่อกัน มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกันน้อย การทำให้ผู้สูงอายุมีพื้นที่พบปะเพื่อนวัยเดียวกันเป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะการมีเพื่อนจะทำให้สุขภาพจิตดีและมีความสุข การได้ออกนอกบ้าน แต่งตัวเพื่อไปเจอเพื่อนวัยเดียวกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน สำหรับวัยอื่นอาจเป็นเรื่องปกติแต่คนวัยนี้มันคือความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งพอนึกถึงหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเรื่องการจัดกิจกรรมและสร้างพื้นที่ที่ผู้สูงอายุจะได้เข้ามามีส่วนร่วม เรานึกถึง ‘ยังแฮปปี้’”
สสส. และ ยังแฮปปี้ จึงจับมือทำภารกิจทลายกำแพงความเหงาและจุดประกายคุณค่าในตัวเองให้กลับอีกครั้ง ปีที่แล้วก็เพิ่งจับมือจัดงาน ‘Eldergy Festival: บูสพลังเก๋า เติมคุณค่าไม่มีหมด’ ภรณีบอกว่า ปีนี้นอกจากจะร่วมต่อยอดความสำเร็จงาน ‘Eldergy Festival’ เป็นปีที่ 2 ทาง สสส. ยังมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนา ‘Happy Job’ แพลตฟอร์ม รวบรวม งานสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุในประเทศไทย ซึ่งอยู่ภายใต้ ‘ยังแฮปปี้พลัส’ คอมมูนิตี้แพลตฟอร์มของยังแฮปปี้เช่นกัน
“ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่ได้มีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายหลังเกษียณ คนที่พึ่งพาเบี้ยยังชีพอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ในขณะที่บางคนต้องการทำงานเพราะอยากมีคุณค่าในตัวเอง แต่โจทย์คือ ไม่ใช่ทุกงานที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องนำมาพิจารณา เช่น จำนวนชั่วโมง ลักษณะงาน ค่าตอบแทน ซึ่ง Happy Job จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อและช่วยประเมินงานที่เหมาะสม ครอบคลุมทั้งงานประจำ งานพาร์ตไทม์ และงานอิสระ”
ภรณีบอกว่า นอกจากเงินงบประมาณในการดำเนินงานและพัฒนา Happy Job บทบาทสำคัญอีกด้านคือการประสานภาคีเครือข่าย เชื่อมโยงทีมนักวิจัย นักวิชาการ ในการศึกษาค้นคว้าเพื่อให้ทีมยังแฮปปี้สามารถขยายผลโครงการได้อย่างรวดเร็ว
“ถ้าอยากเห็นภาพสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ ต้องเร่งขับเคลื่อน 4 มิติไปพร้อมๆ กัน และทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ทั้งระบบการดูแลสุขภาพต้องดีและทั่วถึง สิทธิ์ของผู้สูงอายุต้องครอบคลุมทุกมิติ มีกิจกรรมทางเลือกเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีพื้นที่ของการพบปะ ไม่รู้สึกถูกทอดทิ้ง ขณะเดียวกันผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพควรมีงานที่เหมาะสมรองรับ เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจเห็นคุณค่าในตนเอง ช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ยาวนานที่สุด ท้ายที่สุดคือ สภาพแวดล้อมภายในบ้านต้องเหมาะสม สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย” ภรณีกล่าว
ชาคิต พรหมยศ CEO ยังแฮปปี้
ชาคิต พรหมยศ CEO ยังแฮปปี้ ก็เชื่อเช่นกันว่า การสร้างสุขภาวะให้กับผู้สูงวัยในระดับโครงสร้างไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง
ตลอด 8 ปีของการขับเคลื่อนพันธกิจสร้าง ‘ความสนุก มีคุณค่า พึ่งพาตนเองได้’ เพื่อแก้เกม ‘ความเหงา ความว่าง และคุณค่าที่ลดลง’ ของกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่การลงพื้นที่จัดกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ ในฐานะจิตอาสา นำไปสู่การพัฒนาคอมมูนิตี้แพลตฟอร์ม ‘YoungHappyPlus’ ไปจนถึงการพัฒนา ‘Happy Job’ แพลตฟอร์มรวบรวมงานสำหรับผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วประเทศกว่า 45,000 คน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยคนเมือง
“เราอยากเป็นเหมือนคนที่จุดประกายการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้มองผู้สูงอายุในมิติใหม่ หากประชาชน หน่วยงานและองค์กรต่างๆ เปลี่ยนมุมมองใหม่ต่อตลาดนี้ เชื่อว่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อผู้สูงอายุและองค์กรที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
“แต่ประเด็นที่น่ากังวลของสังคมสูงวัยยุคนี้ก็ยังไม่หนีห่างจากเดิมเท่าไร โดยเฉพาะคนรุ่นใหญ่วัยเกษียณที่อยู่ในเมืองกรุง” ชาคิตบอกว่า ‘ความเหงา’ ยังเป็นปัญหาหลักเพราะส่งผลกระทบต่อจิตใจที่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ มีงานวิจัยพบว่า ผลกระทบจากความเหงาส่งผลต่อสภาพร่างกายเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน
“กลุ่มคนเมืองแม้จะดูเหมือนว่ามีสุขภาวะทางกายที่ดี ดูแลตัวเองได้ แต่สุขภาพใจอาจไม่ได้รับการดูแล สังคมเริ่มแคบ นำไปสู่ความเหงา ความว่าง และมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ถ้าดูสถิติผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเห็นว่ามีกลุ่มใหญ่คือ คือกลุ่มผู้สูงวัยที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐมีมากถึง 58% หรือกว่า 7.66 ล้านคน แต่อย่าลืมว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่รัฐบาลและหน่วยงานก็เข้าไปให้การช่วยเหลือ รัฐเองก็มีกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุฟรีมากมาย ขณะเดียวกันก็ยังมีกลุ่มคนสูงวัยเพียงแค่ 2% ประมาณ 2.6 ล้านคน ที่สามารถดูแลตัวเองได้ มีรายได้มากพอที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสุขสบาย ในขณะที่กลุ่มสูงวัยในสังคมเมืองที่มากถึง 40% ในประเทศไทย หรือประมาณ 5.28 ล้านคน กลายเป็นกลุ่มที่ถูกละเลย”
ความน่ากลัวคือ สัดส่วนผู้สูงอายุที่เป็นโสดกำลังเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน 12% อีก 5 ปี ข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 20%
“แต่ที่โหดร้ายสุดคือ สูงอายุ โสด จนและอยู่ในเมือง ประกอบกับแนวโน้มในช่วง 3-5 ปีที่ผ่าน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของตลาดนี้ คนสูงวัยมองเห็นคุณค่าของตัวเองและหันมาดูแลตัวเองมากขึ้น แต่อัตราส่วนพึ่งพิงก็ไม่ได้ลดลงเท่าไรเพราะจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น สังคมเริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลูกหลาน ภาคประชาชน บริษัท หรือภาครัฐ ขณะเดียวกันตอนนี้เจน X กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ข้อดีคือคนกลุ่มนี้ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีมาก่อนแล้ว และมีความรู้เตรียมความพร้อมมาระดับหนึ่ง ถือเป็นสัญญาณที่ดี คำถามคือ จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้สามารถดูแลตัวเองทั้งในแง่ของสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพเงิน”
นำไปสู่ภารกิจใหม่ของยังแฮปปี้คือการสร้าง ‘Empowering’ เปลี่ยนจากการพึ่งพิงให้สามารถกลับมาเป็นที่พึ่งพาให้ผู้อื่น
“สิ่งที่เราทำคือ เราเปิดพื้นที่กิจกรรมมากขึ้น จับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อขยายการเข้าถึงกิจกรรมให้มากที่สุด แต่ละเดือนเราสร้างพื้นที่กิจกรรมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้กับผู้สูงวัยเข้าร่วมไปต่ำกว่า 4,000 คน ถ้าเขาไม่เหงา ไม่ซึมเศร้า สุขภาพกายดี สุขภาพใจดี ก็ไม่เป็นภาระกับลูกหลาน ลูกหลานเองก็หมดห่วง
“ต่อมาคือเรื่องของงาน การทำงานคือการสร้างคุณค่าให้ตัวเอง หาเงินได้เองไม่ต้องขอเงินลูกหลานเขาก็ภูมิใจ ที่ผ่านมาเราพัฒนา Creative Jobs มากมาย มีการจัดอบรมทักษะต่างๆ Upskill Reskill ให้ทันยุคสมัย เช่น e-commerce, youtuber พอเขาได้ทักษะใหม่ๆ จะกลับไปทำงานในระบบก็ได้ หรือทำงานนอกระบบ เช่น เป็นที่ปรึกษา เป็นครูสอนภาษา เปิดบ้านทำโฮมสเตย์ ขายของออนไลน์ หรือจะทำงานอาสาก็ได้ ตอนนี้เราจัด Happy Senior Volunteer อาสารุ่นใหญ่ ใจถึงทำถึง ชวนคนที่มีความรู้และศักยภาพมาแบ่งปันทักษะและประสบการณ์ให้เพื่อนวัยเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เราทำงานร่วมกับ สสส.
“สุดท้ายคือเรื่องของ Generation Gap เพราะถ้าจะแก้ปัญหาสังคมสูงวัยให้ยั่งยืนต้องแก้ตั้งแต่คุณยังไม่เข้ามา การเตรียมความพร้อมสำคัญมาก เขาสามารถวางแผนได้เลยว่าถ้าวันหนึ่งจะแก่ อยากแก่แบบไหน แล้วจะทำให้เขาเข้าใจและเรียนรู้ได้อย่างลึกซึ้งก็ต้องให้เขาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง เราจึงมีโครงการ Happy Volunteer กิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัย เรียนรู้สังคมของผู้สูงวัยเพื่อให้เขาเข้าใจและเห็นภาพชัดขึ้น”
ชาคิตบอกว่าเป้าหมายของการสร้าง ‘Empowering’ คือการทำให้คนสูงวัยมีเป้าหมายในชีวิตใหม่
“วัยเกษียณไม่ใช่จุดจบ มันเป็นแค่การเริ่มต้นใหม่ แค่ต้องหาเป้าหมายใหม่ให้เจอ หน้าที่ของเราคือ สร้างสังคมที่ปลอดภัย ทำหน้าที่เป็นเพื่อนร่วมทางคอยแนะนำ เพื่อให้เขาได้ค้นพบช่วงเวลาใหม่ที่มีความหมาย เราคาดหวังว่าสิ่งที่เราขับเคลื่อนตอนนี้และต่อๆ ไป สามารถสร้างนักเรียนรู้ชีวิตได้มากกว่า 80% และ 30-50% จะกลายเป็นนักลงมือทำ สุดท้ายคือพวกเขาทุกคนจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนวัยเดียวกัน”
“ผมเชื่อเรื่องโอกาส ถ้าเขามีโอกาสได้ลองทำอะไรใหม่ๆ เพื่อหาเป้าหมายใหม่จะทำให้เขากลับมาเห็นคุณค่าตัวเองอีกครั้ง”
วริศรา กลีบบัว CEO ยังแฮปปี้พลัส
ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยสร้างโอกาสและกรุยทางโอกาสใหม่ๆ อยู่ในคอมมูนิตี้แพลตฟอร์ม ‘ยังแฮปปี้พลัส’ วริศรา กลีบบัว CEO ยังแฮปปี้พลัส บอกว่า ยังแฮปปี้พลัส คือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้สูงอายุทุกคนสามารถเข้าถึงกิจกรรม สังคม รวมไปถึงโอกาสในการทำงาน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในเมืองไทย
“เราเริ่มตั้งคำถามว่า สิ่งที่ยังแฮปปี้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการทำเวิร์กช็อป เทรนนิ่ง และกิจกรรมกลุ่มในชุมชนต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ จะขยายผลไปสู่ผู้สูงวัยทั่วประเทศได้อย่างไร ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นเกิดโควิด เราจึงพัฒนาแพลตฟอร์ม ‘ยังแฮปปี้พลัส’ ให้เป็นคอมมูนิตี้แพลตฟอร์มที่ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น เรียนภาษา ทำอาหาร ศิลปะ ออกกำลังกาย ยังมีภารกิจต่างๆ ให้ร่วมสนุก พอเป็นออนไลน์เราเข้าถึงคนได้มากกว่า ก็ช่วยคนได้มากขึ้น”
วริศราบอกว่า เมื่อคอมมูนิตี้ในแพลตฟอร์มเริ่มแข็งแรง มีกิจกรรมและคลาสพัฒนาทักษะเกิดใหม่มากมาย ก็เริ่มมีโจทย์ใหม่เข้ามา
“ผู้สูงวัยหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า เรียนแล้วไปทำอะไรต่อดี เราพบว่าส่วนหนึ่งอยากทำงานเพราะอยากมีรายได้ไม่อยากเป็นภาระลูกหลาน แต่ส่วนใหญ่คือ รู้สึกอยากมีคุณค่า เราเห็นคนในคอมมูนี้ตี้ไม่น้อยที่นำทักษะที่ได้ไปต่อยอด บางคนเปิดเพจขายของออนไลน์ บางคนเป็นครูสอนภาษา นั่นหมายความ กิจกรรมของเราต่อยอดให้เขาได้ เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้ตัดสินใจทำ Happy Job
นอกจากพาร์ตเนอร์หลักอย่าง สสส. ยังแฮปปี้ยังทำงานร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทั้งในแง่ของการนำข้อมูลมาต่อยอดและการเชื่อมโยงเครือข่ายงานให้กว้างและครอบคลุมความต้องการของผู้สูงวัย
‘Happy Job’ คือระบบรวบรวมงานที่เชื่อมโยงความต้องการของผู้สูงอายุที่ยังมีศักยภาพในการทำงานกับผู้ประกอบการที่ต้องการแรงงานที่มีประสบการณ์ ครอบคลุมทั้งงานประจำ งานพาร์ตไทม์ และงานอิสระ โดยผู้สูงอายุสามารถเลือกได้ตามความถนัด ไปจนถึงพื้นที่ที่ต้องการทำงาน
“เรามีฟีเจอร์ที่สามารถใส่รหัสไปรษณีย์เพื่อค้นหางานในพื้นที่ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องการทำงานในใกล้บ้านหรือบางคนมีกรอบเวลาชัดเจน ตอนเช้าส่งหลาน กลางวันว่างก็อยากหารายได้เสริมก่อนไปรับหลาน”
ทั้งนี้ ขอบเขตงานใน Happy Job ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
- Creative Jobs งานที่สามารถทำจากที่บ้านได้ เช่น เขียนบล็อก เปิดร้านออนไลน์
- Happy Job งานใหม่วัยเกษียณ สำหรับผู้ที่ต้องการกลับเข้าสู่ระบบงานประจำ
- Volunteer งานจิตอาสา
“เราทำหน้าที่เป็นเหมือน Job Board รวบรวมงานจากผู้ประกอบการกับผู้สูงวัยที่ต้องการทำงาน ผู้ที่สนใจสามารถสมัครใช้งานได้ฟรี ตอนนี้มีตำแหน่งงานกว่า 500 รายการในระบบ และยังเปิดรับบริษัทเอกชนที่ต้องการเข้าร่วมโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”
การได้ทำงานคลุกคลีกับกลุ่มผู้สูงอายุในหลากหลายกิจกรรม วริศรามองว่าผู้สูงอายุก็เหมือนวัยรุ่นอายุ 18 ที่ทำได้ทุกอย่างแค่ยังไม่รู้ว่าจะหาตัวตนของตัวเอง (อีกครั้ง) เจอได้อย่างไร
“วันนี้ถ้าเราไม่ตัดสินใครจากอายุ แต่ตัดสินด้วยความสามารถจะพบว่าคนกลุ่มนี้ก็เหมือนวัยรุ่นอายุ 18 ที่กำลังเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และต้องไม่ลืมว่าเขาก็คือคนมีประสบการณ์ที่ปรับตัวมาเยอะมาก ฉะนั้นเขาทำได้เยอะกว่ามุมมองที่คนมอง ผู้สูงอายุในบ้านเราหรือที่ไหนก็ตามมีหลายแบบ เราอย่าเหมารวมว่าคนอายุ 60 เท่ากับหมดศักยภาพ ที่เขาเกษียณเพราะมันเป็นกฎว่าต้องเกษียณตอนอายุเท่านี้
“การทำงานไม่ว่าจะงานที่ทำแล้วได้เงินหรืองานจิตอาสามันช่วยสร้างความภาคภูมิใจและทำให้เขาเห็นคุณค่าตัวเองอีกครั้ง”
วริศราบอกว่า แนวคิดนี้จะขยายผลเป็นวงกว้างไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส.
“ที่ผ่านมา สสส. ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทั้งเรื่องของงบประมาณและการเชื่อมโยงภาคีเครือข่าย นอกจากแพลตฟอร์ม Happy Job ที่คงจะมีการพัฒนาร่วมกันต่อไปเรื่อยๆ วันที่ 30 พฤษภาคมนี้ เราจะจัดงาน ‘Eldergy Festival’ อีกครั้งที่ ศูนย์การค้าเอสพละนาด รัชดา ชั้น G
วริศราบอกว่า ปีนี้ ‘Eldergy Festival’ จะมาในคอนเซปต์การเติมไฟหลังเกษียณ สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง ด้วยโอกาสใหม่ๆ ในการทำงาน ผ่านแพลตฟอร์ม ‘Happy Job งานใหม่ วัยเกษียณ’
“เราตั้งใจให้ Eldergy Festival เป็นพื้นที่ให้คนสูงวัยได้มาแสดงให้เห็นว่า วัยเกษียณไม่ใช่วัยที่หมดอายุ ยังไปต่อได้ ภายในงานจะมีกิจกรรมหลากหลายตอบโจทย์ทุกมิติ ไม่แต่เฉพาะเรื่องสุขภาพ แต่ยังมีแง่มุมของอาชีพการงาน ที่สำคัญคือ หลายคนที่เป็นสมาชิกในแฮปปี้พลัส เขาอยากมาพบปะเพื่อนในออนไลน์ ข้อดีของงานแบบนี้มันเหมือนออนไลน์ทูออฟไลน์ บรรยากาศงานมันเลยอวลไปด้วยความอบอุ่นของมิตรภาพ ได้มาเจอ มาจอย มาทำกิจกรรมร่วมกัน และได้ความรู้จากเวทีเสวนาในหัวข้อต่างๆ มีบูธงานที่มาดูได้ว่ามีตำแหน่งงานไหนน่าสนใจ รวมถึงตัวอย่างคนสูงวัยที่ทำงานเป็นแรงบันดาลใจ ว่าทำไมยังไม่หยุดทำงาน
“นอกจากพี่ๆ ผู้สูงอายุที่เราอยากชวนให้วัยอื่นๆ มาพิสูจน์ว่าวัยเกษียณไม่ใช่วัยที่หมดอายุ จึงอยากชวนคนทุกวัยให้มาร่วมงานด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเองที่จะก้าวไปสู่สังคมสูงวัยในอนาคต เราอยากให้ทุกคนได้เห็นว่า สังคมสูงวัยที่ปลอดภัยหน้าตาเป็นแบบไหน”
เพราะ ‘สังคมสูงวัย’ เป็นเรื่องของทุกคน
ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน‘Eldergy Festival’ ฟรี! คลิก https://form.typeform.com/to/IgSyx87m