×

‘ธนาคารปันอิ่ม’ ปันน้ำใจ ปันความสุข ให้กลุ่มประชากรผู้เปราะบาง บนวิกฤตโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
12.05.2020
  • LOADING...

ท่ามกลางกระแสตู้ปันสุขและปรากฏการณ์แบ่งปันอาหารที่มีให้เห็นในหลากหลายชุมชนทั่วประเทศไทยในเวลานี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อแบ่งปันในสังคมไทย และความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารในประเทศ

 

การช่วยกันแบ่งปันอาหารให้ผู้ขาดแคลนหรือสนับสนุนการดำเนินงานของธนาคารอาหาร กลุ่มชุมชนหรือองค์กรการกุศลที่มอบอาหารให้กับกลุ่มประชากรผู้เปราะบาง การแสดงน้ำใจให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยากเป็นเรื่องสำคัญในภาวะวิกฤตที่ทุกคนกำลังเผชิญร่วมกัน นับเป็นหนึ่งในคำแนะนำหลักขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติต่อทุกประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญภาวะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

 

โดยจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของธนาคารอาหารปันอิ่มเกิดขึ้นที่ซอยวัดกัลยาณ์ ตั้งแต่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้มีธนาคารอาหารปันอิ่มกระจายอยู่ 15 จุด ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้ง ชัยภูมิ จันทบุรี นครศรีธรรมราช และปันอิ่มไปแล้วมากกว่า 11,500 อิ่ม ภายในระยะเวลาเพียงแค่เดือนเดียวหลังจากที่เริ่มโครงการ

 

นอกจากนี้ การปันอิ่มไม่เพียงแค่มีอยู่ในชุมชนเมืองเท่านั้น เพราะโครงการนี้ยังเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี รอยต่อชายแดนไทย-กัมพูชา มีการแบ่งปันอาหารให้กับแรงงานไทยและข้ามชาติที่เดินทางกลับบ้านที่ไม่มีงานทำ พระภิกษุสงฆ์ และคนไข้ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านปะตงด้วย 

 

ทั้งนี้ บนโลกออนไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งที่ที่เราสามารถแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ‘เทใจดอทคอม’ คือองค์กรไม่หวังผลกำไรที่จัดตั้งเพื่อการระดมทุนช่วยเหลือสังคมในลำดับต้นๆ ที่ได้ประกาศโครงการช่วยเหลือให้กลุ่มประชากรผู้เปราะบางเข้าถึงอาหารได้ในภาวะโควิด-19 ด้วยการส่งต่อชุดยังชีพให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ครอบครัวรายได้น้อย อาหารให้คนไร้บ้าน รวมถึงกองทุนฉุกเฉินสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ที่อยู่แนวหน้า 

 

โดยถุงยังชีพของเทใจมีความพิเศษคือไม่มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่อาหารโดยรวมประกอบไปด้วยข้าวสาร เครื่องปรุงสำหรับประกอบอาหาร ปลาแห้ง หอม กระเทียม ยารักษาโรคเพราะกลุ่มผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่ยังคงประกอบอาหารรับประทานเอง จะได้ไม่ต้องออกไปนอกบ้านและเสี่ยงต่อการติดโควิด-19

 

นอกจากถุงยังชีพสำหรับประชากรผู้เปราะบาง ‘เอด้า จิรไพศาลกุล’ กรรมการผู้จัดการเทใจดอทคอมกล่าวเพิ่มเติมว่า เทใจยังมีโครงการแจกคูปองอาหารให้กับผู้อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตย ชาวบ้านในพื้นที่ที่ประกอบอาชีพรับจ้างและมีรายได้รายวันได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตครั้งนี้ทำให้ไม่มีทั้งงานและรายได้ โครงการคูปองอาหารจะช่วยทั้งผู้ที่ตกงานให้อิ่มอย่างที่ตนเองอยากทาน เพราะสามารถนำคูปองไปให้กับร้านอาหารที่อยากทานได้ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าและเศรษฐกิจเล็กๆ ในชุมชนยังสามารถหมุนเวียนต่อไปได้ในภาวะวิกฤตเช่นนี้

 

อย่างไรก็ตาม ‘ตู้ปันสุข’ ที่กระจายไปตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศนับเป็นปรากฏการณ์เชิงบวกและสร้างสรรค์สังคมแห่งการแบ่งปันของคนไทยให้ดำเนินต่อไปได้อย่างน้อยในระยะสั้นๆ แต่ทางออกระยะยาวแล้ว การรู้จักพึ่งพาตัวเองและสร้างเครือข่ายเพื่อการผลิตอาหารอาจเป็นคำตอบที่ยั่งยืนของประเทศไทยหลังภาวะโควิด-19 ก็เป็นได้

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising