×

หนุมานอัครา วิชามวยปล้ำโบราณของอินเดีย

โดย THE STANDARD TEAM
26.01.2019
  • LOADING...

เดือนมกราคม ยามเช้าตรู่ ไอหมอกกรุ่นกรายเหนือสายน้ําคงคา เรือของเราแล่นฝ่าความหนาวเย็นจากท่าน้ําหนึ่งใน 84 ท่าของเมืองพาราณสี

 

จุดหมายวันนี้ไม่อยู่ในรายการทัวร์มาตรฐานทั่วไป ซึ่งนักท่องเที่ยวจะต้องลงเรือลอยลํารับแสงอรุณ ล่องชมทิวทัศน์วิถีชีวิต และสนุกกับการโปรยอาหารเลี้ยงฝูงนกอพยพหนีหนาวจากไซบีเรีย

 

เพียง 10 นาทีเราก็มาถึง Tulsi Ghat ท่าน้ําทางด้านใต้ของเมืองซึ่งได้ชื่อตามมหากวี Tulsidas และยังเป็นคําที่ใช้เรียกผัก ‘กะเพรา’ ซึ่งชาวฮินดูถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ใช้บูชาพระวิษณุ เนื่องจากเทวีผู้มีนามว่า ‘นางกะเพรา’ (Tulsi) เป็นผู้มีศรัทธาแรงกล้ามั่นคงต่อพระองค์

 

 

จุดหมายลึกลับของเราคือสํานัก ’หนุมานอัครา’ ค่ายมวยปล้ำพื้นเมือง (Kushti) ของท้องถิ่นอินเดียภาคเหนือ ซึ่งยังหาชมได้ในชนบททั่วไป แต่ในเมืองใหญ่หนุ่มๆ จะหันไปเข้าฟิตเนสยิมกันหมด ตําราฮินดูโบราณและภาพสลักตามวิหารต่างๆ บ่งชัดว่าการฝึกมวยหนุมานมีมานานถึง 2,000 ปีแล้ว

 

 

ลานแคบหลังศาลาเสาแดงคือที่ ‘วอร์มอัป’ ของนักมวยปล้ำ แต่ละนายนุ่งเตี่ยวแบบโบราณ เร่ิมกายบริหารด้วยการเหยียดยืดดัดตน กระโดดตบ วิดพื้น ยกดัมเบลล์ การนุ่งผ้าเตี่ยวมิใช่แค่ทำตามแบบแผนประเพณีของกีฬาพื้นบ้าน หากมีหน้าที่ที่เห็นได้ชัด กล่าวคือห่อหุ้มได้มิดชิดรัดกุมกว่านุ่งกางเกงลิง และตรงเอวเป็นขอบให้อีกฝ่ายจับทุ่มได้ถนัดมือคล้ายกับซูโม่ญี่ปุ่น

 

 

ศาลาโล่งพื้นทรายคือเวทีประลองและเป็นที่ออกกําลังกายก่อนฝึกซ้อมมวยปล้ำ (Kushti) ในปัจจุบันค่ายหนุมานอัคราเป็นที่ออกกําลังของมือสมัครเล่นด้วย ถ้าเป็นแต่ก่อน นักมวยปล้ำอาชีพที่เรียกว่า Pehlwan จะต้องฝึกกันตั้งแต่เด็กเพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่จะไม่เสื่อมสลายไปง่ายๆ ไม่เหมือนคนสมัยใหม่ที่เข้าออกโรงยิมแบบยุบหนอพองหนอ จะต้องรักษาระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ฝึกซ้อมเช้าเย็นวันละ 10 ชั่วโมง กินมังสวิรัติ ดื่มนมอัลมอนด์วันละหลายลิตร งดเว้นสุรายาเมา และห้ามสัมพันธ์ยุ่งเกี่ยวกับอิสตรีโดยเด็ดขาด

 

 

เวลาผ่านไป การบริหารกล้ามเนื้อค่อยๆ ยกระดับจากดัมเบลล์ธรรมดาเป็นการสวมวงล้อหินหนักอึ้งรอบคอขณะยกน้ําหนัก การฝึกมวยหนุมานมุ่งเน้นที่ความแข็งแกร่งว่องไวของแขนขาและลีลามากกว่าการเพาะสร้างกล้ามเนื้อ ซิกซ์แพ็กหน้าท้อง จอมพลังชาวฮินดูจึงไม่จําเป็นต้องมีหุ่นวีเชปดุจซูเปอร์ฮีโร่ในหนังแอ็กชัน และบางคนก็พุงป่องได้ไม่ต้องเสียหน้า ตราบเท่าท่ียังสู้ไหว

 

 

หนุ่มคนหนึ่งเลี่ยงไปยึดมุมสันโดษในห้องเก็บของเป็นที่ออกกําลังกาย ค่ายหนุมานอัคราที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของพาราณสีกลับดูสมถะอย่างไม่น่าเชื่อ ศิษย์สํานักที่ผ่านการทดสอบและมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริงจะกินนอนอยู่กับค่าย มีห้องพักนอนรวม หลายๆ คนต่างฝึกฝีมือให้เก่งกาจเพื่อขึ้นเวทีตามงานวัดและไต่อันดับไปเรื่อยๆ จนถึงระดับชิงแชมป์รัฐและประเทศ เงินรางวัลคือรายได้เลี้ยงชีพ

 

 

การจับคู่มวยปล้ำไม่มีการแบ่งรุ่นตามพิกัดน้ําหนัก คู่แรกเริ่มตั้งหลัก พนมมือไหว้ครู หยิบทรายมาโรยตัวและใบหน้าก่อนย่างสามขุมเข้าหากัน ต่างยกแขนขึ้นจับไหล่กอดเอวคู่ต่อสู้ วาดแข้งหาจังหวะขัดขา

 

 

ท่ามวยปล้ำอินเดียไม่แตกต่างจากมวยปล้ำสากลมากนัก แต่มาดสุภาพและสุขุม ดูมีสมาธิสูงกว่า ไม่มีการส่งเสียงเอะอะ วางท่าท้าทาย ฝ่ายคนดูก็จ้องมองติดตามโดยไม่แสดงอาการตื่นเต้นจนออกนอกหน้า ถ้าเป็นเวทีประลองจริงๆ มักมีคนตีกลองแขก 1 หรือ 2 คนเดินวนไปรอบๆ และไม่ต้องติดลําโพงส่งเสียงพากย์กระชากใจ เพียงแค่นั้นก็ถือว่าก็อึกทึกครึกครื้นแล้ว

 

 

กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันได้พักใหญ่ เราก็เร่ิมสังเกตเห็นว่าการพันผ้าเต่ียวไว้ภายใต้กางเกงยืดมีความสําคัญย่ิงยวดเพียงใด!

 

 

การประลองกําลังคู่แรกดําเนินไปได้ราว 10 นาทีก็รู้แพ้รู้ชนะ ครูฝึกผู้ทําหน้าที่เป็นกรรมการเข้าไปตัดสินให้คนที่ถูกทุ่มเป็นฝ่ายแพ้ ท้ังสองลุกขึ้นจับมือกันก่อนก้าวออกจากเวทีทรายให้คู่อื่นมาประลองต่อ

 

 

นักมวยปลํ้ากอบทรายมาโรยเคลือบตามตัวและใบหน้า (ไม่แน่ใจว่าเพื่อความฝืดหรืออะไร แต่มันช่างตรงกันข้ามกับมวยปล้ำนํ้ามันมะกอกตัวลื่นๆ ของตุรกี) ตํานานกล่าวว่ามวยพื้นบ้านอินเดียใช้เวทีพื้นทรายคลุกเคล้าด้วยน้ํามันมัสตาร์ดกับเนยเหลวผสมเครื่องเทศเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ ‘แผ่นดินแม่’

 

 

คู่นี้น้ําหนักห่างกันอย่างเห็นได้ชัด อาจารย์ใหญ่เข้ามาดูอาการเด็กหนุ่มร่างเล็กเพรียว สั่งสอนตักเตือนศิษย์ แล้วถอยกลับไปนั่งดูอยู่ห่างๆ ตอนท่ีเราเดินเข้ามาเห็นผู้เฒ่ากําลังกวาดลานดิน นึกว่าเป็นนักการภารโรง แต่หนุ่มๆ ที่เพิ่งมาถึงแต่ละคนก้มตัวลงใช้ปลายนิ้วแตะที่เท้าของท่านแล้วยกมือขึ้นลูบหัว แสดงความเคารพอย่างสูง จึงสรุปได้ทันทีว่านี่คือปรมาจารย์จอมยุทธผู้สงบเสงี่ยม อ่อนน้อมถ่อมตนเป็นที่สุด

 

 

หนุ่มจอมพลังตัวเล็กกว่า แต่สามารถเอาชนะได้ด้วยท่าหนุมานตีลังกา ใช้แข้งฟาดแล้วตามกดซํ้า ว่องไวเสียจนดูแทบไม่ทัน

 

 

อาจารย์เฝ้ามองทุกท่วงท่าเพื่อสั่งสอนเคล็ดวิชาขั้นต่อไปให้ศิษย์ฝึกฝน เป็นท่านั่งที่สงบนิ่งเหนือความเคลื่อนไหว ได้แสงเงาองค์ประกอบบนกําแพง งามสง่าราวภาพวาด

 

 

จอมยุทธระดับปรมาจารย์ ท่าบริหารกายต้องไม่ธรรมดา โหนตัวตวัดขึ้นใช้ขาเกี่ยวกับขื่อศาลา แล้วห้อยหัวลงมาหลับตาทําสมาธิอยู่หลายนาที

 

 

เสร็จจากการเหยียดยืดดัดตนโหนห้อยก็หันมาคว้าตะลุมพุกหินหนักอึ้งขึ้นควงฉวัดเฉวียนเพื่อบริหารกล้ามแขน ชายชราที่ดูเหมือนลุงแก่ๆ หุ่นผอมบางไร้พิษสง

 

กลายร่างเป็นพญาวานรในตํานานผู้ทรงพลังอย่างฉับพลัน ตะลุมพุกเป็นอาวุธของหนุมาน การประลองชิงแชมป์มวยปล้ำระดับต่างๆ นิยมมอบตะลุมพุกเงินหรือทองเหลืองแก่ผู้ชนะแทนถ้วยรางวัล

 

 

‘ศรียาราม’ คือนามของท่านผู้นี้ หลังจากออกกําลังฝึกสอนยามเช้าแล้ว อาจารย์ยังมีภารกิจต้องลงไปที่ท่านํ้าเพื่อแช่กายร่ายมนต์ภาวนาบูชาพระศิวะในสายน้ําคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ กาทองเหลืองที่วางอยู่ข้างกายใช้สำหรับใส่น้ํากลับไปเป็นน้ํามนต์ประจําบ้าน หาใช่กาน้ําชาดังที่เราเข้าใจแต่แรกไม่… ทุกคนถึงกับอึ้งเมื่อได้ยินว่าจอมยุทธผู้มีอัธยาศัยสงบเยือกเย็น นอบน้อมถ่อมตน แต่พละกําลังความแข็งแกร่งไร้เทียมทานด้วยการฝึกวิชามวยหนุมาน ปีนี้อายุ 65 แล้ว

 

เรื่อง: จิระนันท์ พิตรปรีชา

ภาพ: วสันต์ วณิชชากร

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X