วานนี้ (4 ตุลาคม) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด, กฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล, ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเปิดตัวโครงการรถบริการสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น หนึ่งในบริการเพื่อสังคมโดยกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด
สืบเนื่องจากนโยบาย ‘กรุงเทพฯ 9 ดี 215 นโยบาย’ มีโครงการรถรับส่งคนพิการเป็นหนึ่งในนโยบายที่ตั้งใจเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการ โดยเฉพาะผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ ซึ่งไม่สามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก กทม. จึงมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของ กทม. จัดรถรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์
ซึ่งได้รับความร่วมมือจากศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาแอปพลิเคชันภายใต้แนวคิด ‘เรียก รับ จัด จ่าย’
- เรียก คือการเรียกบริการผ่านแอป
- รับ คือการรับข้อมูลผ่านแอป
- จัด คือการจัดรถ
- จ่าย คือการจ่ายรถไปยังผู้ขอใช้บริการ
โดยจะทดลองใช้งานแอปพลิเคชันประมาณเดือนมีนาคม 2566
ทั้งนี้ ในอนาคตจะใช้การจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัล เพื่อช่วยให้การเรียกใช้บริการสะดวกขึ้น รวมทั้งบริหารจัดการรถเพื่อเพิ่มเที่ยววิ่งได้มากขึ้น และจะขยายโครงการและเพิ่มจุดบริการรถรับส่งผู้พิการให้ครอบคลุมสถานพยาบาลของ กทม. ต่อไป
ชัชชาติกล่าวว่า นโยบายนี้ถือว่าสำคัญ เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน พี่น้องที่มีข้อจำกัดในการเดินทางก็เป็นส่วนหนึ่งกรุงเทพฯ เชื่อว่าเราจะทำให้พี่น้องทุกคนเดินทางได้สะดวก แม้มีข้อเสนอหลายอันที่จะให้ปรับปรุง เช่น เรื่องการเชื่อมต่อรถสาธารณะ เรื่องป้ายรถเมล์ต่างๆ ต้องดำเนินการปรับปรุงให้ทุกคนสามารถเดินทางได้อย่างเท่าเทียมกัน
“คงมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คงทำไม่เสร็จในเดือนเดียว กรุงเทพฯ มีพื้นที่กว้างขวาง ค่อยๆ จัดความสำคัญ ค่อยๆ ไล่ทำไป ได้คุยกับเครือข่ายและมีที่ปรึกษาที่เข้าใจพี่น้องที่ใช้วีลแชร์ ทำให้เราสามารถผลักดันนโยบายสำหรับประชาชนที่ใช้วีลแชร์ได้จริงๆ มีเครือข่ายที่เข้มแข็งและทำงานมาหลายปี เราเอาจริงเอาจัง และจะทำให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน” ชัชชาติกล่าว
ด้าน วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กทม. ได้เปิดตัวโครงการรถให้บริการวีลแชร์แก่ผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยมอบหมายให้กรุงเทพธนาคมเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งโครงการนี้ กทม. ได้ทำมาก่อนแล้ว แต่รื้อฟื้นและปรับปรุงให้ดีขึ้น
เริ่มต้นขั้นแรกมีรถให้บริการ 10 คัน แต่จะมีการปรับปรุงเพิ่มจำนวนรถบริการ โดยร่วมกับพันธมิตรในการให้บริการเพิ่มเติมขึ้นมา ทั้งหมดนี้ กทม. ได้ฟังเสียงตอบรับความต้องการจากพันธมิตรทั้งหลายในเครือข่าย เพื่อปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการจริงๆ
ทั้งนี้ รถที่ให้บริการดัดแปลงจากรถตู้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถวีลแชร์และผู้ติดตามด้วยความปลอดภัย ประกอบด้วยลิฟต์ไฮดรอลิกสำหรับขึ้น-ลง พร้อมที่จับ หมุดยึดตัวรถพร้อมสายรัดความปลอดภัยและเข็มขัดนิรภัยสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ และเบาะเสริม 2 ที่นั่งสำหรับผู้ติดตาม สามารถรองรับรถวีลแชร์สูงสุด 3 คัน เบื้องต้นเปิดให้บริการจำนวน 10 คัน และจะเพิ่มเป็น 20 คัน รวมเป็น 30 คันภายในเดือนตุลาคมนี้ เบื้องต้นสามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่สายด่วนสำหรับคนพิการ โทร. 1479 หรือสายด่วน 1555 ของ กทม.