ตัวเลขอย่างเป็นทางการของผู้แสวงบุญที่เสียชีวิตระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นเป็นเกือบ 500 คนแล้ว ขณะที่คาดว่ายอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจมากกว่านั้นถึงสองเท่า เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงถึงเกือบ 50 องศาเซลเซียส
จำนวนผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันจากทางการของแต่ละประเทศประกอบด้วย ชาวมาเลเซีย 14 คน อินโดนีเซีย 165 คน จอร์แดน 75 คน ปากีสถาน 35 คน ตูนิเซีย 49 คน อิหร่าน 11 คน และอินเดีย 98 คน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นอีกมาก เนื่องจากซาอุดีอาระเบียและอียิปต์ยังไม่เปิดเผยตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการของแต่ละประเทศ
ตัวเลขผู้แสวงบุญชาวอียิปต์ที่เสียชีวิตในพิธีฮัจญ์อยู่ที่ 28 คนตามแถลงการณ์ของคณะรัฐมนตรีอียิปต์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวต่างๆ รวมถึง Reuters รายงานว่า มีชาวอียิปต์เสียชีวิตมากถึง 500-600 คน
ด้านกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า มีพลเมืองชาวอเมริกันหลายคนเสียชีวิตระหว่างพิธีฮัจญ์ แต่ไม่ได้ระบุตัวเลข
สาเหตุที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการต่ำกว่าตัวเลขที่แท้จริงอย่างมากนั้น เป็นเพราะรัฐบาลมีข้อมูลเฉพาะผู้ที่ลงทะเบียนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ตามโควตาที่แต่ละประเทศได้รับการจัดสรรจากราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
นอกจากผู้เสียชีวิตแล้ว ยังมีผู้แสวงบุญจำนวนมากที่เกิดอาการเจ็บป่วย ไม่สบาย เนื่องจากโรคลมแดด หรือฮีทสโตรก และอาการอื่นๆ จนต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ว่า มีผู้เข้ารับการรักษาจากโรคลมแดดมากกว่า 2,700 คน หลังชาวมุสลิมประมาณ 1.8 ล้านคนต้องประกอบพิธีท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงถึงขั้นอันตรายแตะ 49 องศาเซลเซียส
กระทรวงสาธารณสุขของซาอุดีอาระเบียดำเนินมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้แสวงบุญ เช่น การจัดเตรียมเต็นท์ติดแอร์ตามเส้นทางที่ผู้แสวงบุญต้องเดินทางผ่าน และคอยกระตุ้นเตือนให้ผู้แสวงบุญใช้ร่มกันแดดและดื่มน้ำให้เพียงพอ นอกจากนี้กองทัพซาอุดีอาระเบียยังได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่มากกว่า 1,600 นาย พร้อมหน่วยแพทย์สำหรับดูแลผู้ที่ป่วยเป็นโรคลมแดดโดยเฉพาะ ทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน 30 ทีม ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุขและปฐมพยาบาลอีก 5,000 คน
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้เสียชีวิตที่พุ่งสูงทำให้เกิดคำถามว่า การเตรียมการดังกล่าวอาจยังไม่พอหรือไม่
ดร.โมฮัมหมัด นาอิม มอกตาร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการศาสนาของมาเลเซีย กล่าวว่า ผู้แสวงบุญส่วนใหญ่เสียชีวิตจาก ‘โรคหัวใจ โรคปอดบวม และการติดเชื้อในกระแสเลือด’ ตามรายงานของสำนักข่าว BERNAMA แต่รายงานข่าวไม่ได้ระบุว่าผู้เสียชีวิตชาวมาเลเซียเป็นผู้แสวงบุญที่ลงทะเบียนตามโควตาของประเทศหรือไม่
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติ โรคเรื้อรัง และโรคชรา
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ผลพวงจากการที่มีชาวตูนิเซียเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในพิธีฮัจญ์ปีนี้ ส่งผลให้ประธานาธิบดีคาอิส ไซเอด ประกาศปลดรัฐมนตรีกระทรวงกิจการศาสนา อิบราฮิม ไชบี ออกจากตำแหน่ง โดยก่อนที่จะถูกไล่ออก ไชบีออกมายอมรับว่า การเสียชีวิตในพิธีฮัจญ์อาจเกิดจากความประมาทเลินเล่อของกระทรวงในการดูแลผู้แสวงบุญ
สำนักงานสถิติของซาอุดีอาระเบียเปิดเผยว่า ชาวมุสลิมมากกว่า 1.8 ล้านคนเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในปีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในการชุมนุมทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แม้จะมีผู้แสวงบุญเสียชีวิตในพิธีฮัจญ์ทุกปี โดยปีที่แล้วมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในปีนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากตรงกับช่วงที่อากาศร้อนจัด โดยพิธีฮัจญ์ในแต่ละปีจะไม่ตรงกัน สำหรับปีนี้ตรงกับเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นหนึ่งในเดือนที่ร้อนที่สุดของซาอุดีอาระเบีย
ภาพ: Issam Rimawi / Anadolu via Getty Images
อ้างอิง: