×

รู้จักไวรัสไข้หวัดนก H10N3 ที่มีรายงานติดเชื้อในมนุษย์ครั้งแรกที่จีน

03.06.2021
  • LOADING...
ไข้หวัดนก H10N3

เมื่อต้นสัปดาห์มีการเปิดเผยจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) ว่ามีชายวัย 41 ปี ชาวเมืองเจิ้นเจียงในมณฑลเจียงซูของประเทศจีน เป็นมนุษย์ที่ถูกยืนยันรายแรกของโลกว่าติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H10N3 และถูกนำตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา หลังมีไข้ร่วมกับอาการอื่นๆ ก่อนจะถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อดังกล่าวในอีกหนึ่งเดือนถัดมา และล่าสุดอาการทรงตัวและพร้อมจะออกจากโรงพยาบาลแล้ว

 

เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับเชื้อชนิดนี้

 

  • เชื้อชนิดนี้ไม่ใช่เชื้อใหม่ของโลก แต่ก็มีรายงานการพบไม่มากนัก โดย ฟิลิป แคลส์ ผู้ประสานงานห้องปฏิบัติการระดับภูมิภาคของศูนย์ฉุกเฉินด้านโรคสัตว์ข้ามแดนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุว่า ในรอบ 40 ปีนับจนถึงปี 2018 มีการรายงานว่าพบตัวอย่างของไวรัสสายพันธุ์นี้เพียงราว 160 ชุดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่พบในนกป่าหรือนกน้ำในเอเชียกับบางส่วนของอเมริกาเหนือ และยังไม่เคยพบไวรัสชนิดนี้ในไก่มาก่อนจนถึงตอนนี้ 
  • NHC ระบุว่าเชื้อชนิดนี้เป็นสายพันธุ์ก่อโรคต่ำ (Low Pathogenic) ซึ่งทำให้เกิดโรคชนิดไม่รุนแรงในสัตว์ปีก และไม่น่าจะทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง อย่างไรก็ดี เชื้อไข้หวัดนกที่มีผลกระทบต่อนกไม่มากนักก็อาจจะมีผลร้ายแรงกว่ามากได้ในมนุษย์ ดังเช่นเชื้อสายพันธุ์ H7N9 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปเกือบ 300 คนในจีนระหว่างฤดูหนาวของปี 2016-2017 แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในสายพันธุ์ H7N9 นั้นมีเพียงกรณีที่พบได้ยาก ส่วนในสายพันธุ์ H10N3 ที่เพิ่งเป็นข่าวไปนั้น องค์การอนามัยโลกระบุกับสำนักข่าว Reuters ว่ายังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจะเกิดการแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์แต่อย่างใด 
  • จีนไม่ได้แถลงว่าชายรายดังกล่าวได้รับเชื้อมาได้อย่างไร และระบุว่าจากการสังเกตการณ์บุคคลใกล้ชิดชายรายนี้ก็ไม่พบการติดเชื้อ สอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกระบุว่ายังไม่ทราบที่มาว่าชายคนดังกล่าวไปสัมผัสเชื้อได้อย่างไร และยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประชากรท้องถิ่น 
  • แม้ชายวัย 41 ปีรายดังกล่าวจะเป็นผู้ที่ถูกยืนยันรายแรกของโลกว่าพบการติดเชื้อดังกล่าวในมนุษย์ก็จริง แต่การติดเชื้อเพียงรายเดียวในขณะนี้ดูยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวลมากนัก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเองก็ตื่นตัวอยู่แล้วหากมีการพบการติดเชื้อในรูปแบบของคลัสเตอร์ และคาดว่าความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มเติมในขณะนี้มีต่ำมาก 
  • และองค์การอนามัยโลกก็บอกว่าตราบใดที่ไวรัสไข้หวัดนกยังคงแพร่อยู่ในสัตว์ปีก การติดเชื้อไข้หวัดนกในมนุษย์เป็นครั้งคราวก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้น่าประหลาดใจ และเป็นเครื่องเตือนใจที่ชัดเจนว่าภัยคุกคามของการระบาดใหญ่ของการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ยังคงมีอยู่ (ทั้งนี้ไวรัสไข้หวัดนกถือเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ) 
  • จนถึงขณะนี้ ลำดับพันธุกรรมของไวรัสที่ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อยังไม่ถูกเผยแพร่ และยังต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงอย่างเต็มรูปแบบ นักวิทยาศาสตร์ต้องการทราบว่า H10N3 สามารถติดเชื้อในเซลล์มนุษย์ได้ง่ายเพียงใด เพื่อประเมินว่าไวรัสนี้จะกลายมาเป็นความเสี่ยงที่มากขึ้นหรือไม่ ซึ่ง เบน คาวลิง ศาสตราจารย์ที่คณะสาธารณสุขศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ได้ยกตัวอย่างเชื้อสายพันธุ์ H5N1 ที่เคยตรวจพบครั้งแรกในมนุษย์เมื่อปี 1997 และได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากกว่า 455 คนทั่วโลกจนถึงขณะนี้ เขาบอกว่าเชื้อสายพันธุ์ H5N1 นี้อาศัยการกลายพันธุ์เพียงไม่กี่จุดก็จะมีความสามารถในการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้อย่างง่ายดาย ทำให้มันอยู่ในลำดับความสำคัญที่สูงสำหรับการเฝ้าระวัง ดังนั้นการมีข้อมูลทางพันธุกรรมสำหรับเชื้อสายพันธุ์ H10N3 จะช่วยในการประเมินว่าเชื้อสายพันธุ์นี้จะใกล้เคียงกับชนิดของไวรัสที่ควรกังวลหรือไม่

 

อนึ่ง นอกจากเชื้อสายพันธุ์ H10N3 นี้แล้ว ยังมีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N8 ในหลายประเทศของทวีปยุโรปในขณะนี้ และนำมาสู่การกำจัดสัตว์ปีกนับแสนตัว นอกจากนี้ยังมีรายงานการแพร่เชื้อ H5N8 จากสัตว์ปีกสู่คนเป็นครั้งแรกกับพนักงานในฟาร์มสัตว์ที่รัสเซียจำนวน 7 คนภายหลังการระบาดในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และต่อมา WHO สำนักงานภูมิภาคยุโรปก็ระบุเมื่อเดือนมีนาคมว่าพวกเขาติดเชื้อแต่ไม่มีอาการแต่อย่างใด รวมถึงไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการแพร่เชื้อไปยังครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิด และยืนยันว่าความเสี่ยงในการติดต่อจากคนสู่คนของเชื้อสายพันธุ์นี้อยู่ในระดับต่ำ

 

ซึ่งจากกรณีการพบเชื้อ H5N8 กับพนักงานในฟาร์มที่รัสเซียดังกล่าว WHO ยังคงยืนยันในขณะนั้นว่า เมื่อมีแพร่ของเชื้อไข้หวัดนกในพื้นที่หนึ่ง ผู้เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ฟาร์มและการสัมผัสกับสัตว์ที่มีชีวิต เช่น ในตลาด หรือการเข้าไปยังพื้นที่ที่สัตว์อาจถูกเชือด และเลี่ยงการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ รวมถึงควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยของอาหารที่ดี ส่วนผู้ที่มีหน้าที่เสี่ยงกับสัตว์ปีกก็ต้องใช้ความระมัดระวัง เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ตลอดจนลงทะเบียนและได้รับการเฝ้าระวังโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่นเป็นเวลา 7 วันหลังวันสุดท้ายที่สัมผัสกับสัตว์ปีกหรือสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพ: South China Morning Post / Contributor

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising