×

H.R. Giger ศิลปินผู้ใช้ ‘ความกลัว’ และ ‘ความงาม’ สร้างเอเลี่ยน Xenomorph

16.08.2024
  • LOADING...

นอกจากชื่อของผู้กำกับ Ridley Scott ผู้รับหน้าที่ปรุงแต่งและนำเสนอเรื่องราวของ Alien (1979) ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม และส่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไซไฟสยองขวัญที่ผู้ชมทั่วโลกชื่นชม อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของภาพยนตร์ชุดนี้คือ H.R. Giger ศิลปินผู้ออกแบบตัวละครเอเลี่ยน Xenomorph ที่เปรียบเสมือน ‘ฝันร้าย‘ ที่ทำให้ผู้ชมต่างสะพรึงกลัวและหลงรักในเวลาเดียวกัน 

 

และเนื่องในโอกาสที่ Alien: Romulus ผลงานล่าสุดที่ได้ Fede Alvarez ผู้กำกับสายสยองขวัญที่อยู่เบื้องหลังผลงานเรื่องเยี่ยมอย่าง Evil Dead (2013) และ Don’t Breathe (2016) มานั่งแท่นผู้กำกับ กำลังจะกลับมาพาผู้ชมไปเผชิญหน้ากับความสยองกลางอวกาศบนจอภาพยนตร์อีกครั้งในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ THE STANDARD POP จึงขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับ H.R. Giger ผู้ออกแบบตัวละคร Xenomorph กันอีกครั้ง

 

H.R. Giger 

ภาพ: 20th Century Fox / Kobal / Shutterstock

 

H.R. Giger ศิลปินผู้นำฝันร้ายและเทคโนโลยีมาหลอมรวมเป็นงานศิลปะ

 

‘ฝันร้าย’ น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากเผชิญหน้า สิ่งที่สร้างความหวาดกลัวยามที่เราหลับใหล สิ่งที่ไม่อาจควบคุมหรือหลบหนีไปจากมันได้ 

 

เช่นเดียวกับ Hans Ruedi Giger หรือ H.R. Giger ศิลปินเซอร์เรียลิสต์ชาวสวิสที่เกิดและเติบโตขึ้นในเมืองเก่าแก่อย่างคูร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในวัยเด็กเขามักจะฝันร้ายอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งบ้านพักของเขายังมีบรรยากาศที่ดูมืดมิด เขาจึงมักจะเกิดอาการวิตกกังวลและนอนไม่หลับ

 

แต่ความหวาดกลัวก็นำพา H.R. Giger มาพบกับ ‘การวาดภาพ’ ที่ช่วยให้เขาหลบหนีจากความกลัวเหล่านั้น และในทางกลับกันเขาก็มักจะหยิบความกลัวของตัวเองมาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งความกลัวที่เขาและครอบครัวต้องเผชิญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ความหลงใหลในนิยายสยองขวัญสุดลึกลับของนักเขียน H.P. Lovecraft ผลงานของศิลปินเซอร์เรียลิสต์อย่าง Salvador Dali ไปจนถึงการศึกษาเรื่องราวของนักจิตวิเคราะห์อย่าง Sigmund Freud 

 

อีกด้านหนึ่ง H.R. Giger ยังมีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะประเด็นที่เทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากขึ้น การแข่งขันทางเทคโนโลยีของประเทศมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็น รวมถึงความสนใจด้านร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะการศึกษาด้านการทำมัมมี่ของชาวอียิปต์ เขาจึงหยิบนำความหวาดกลัวของมนุษย์และเทคโนโลยีมาผสมผสานในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองที่เรียกว่า Biomechanical ที่เป็นการผสมผสานระหว่างสิ่งมีชีวิตและเครื่องจักรไว้ด้วยกัน 

 

ก้าวเข้าสู่โลกแห่ง Dune (ที่เกือบกลายเป็นจริง)

 

หลังจาก H.R. Giger จบการศึกษาจาก School of Applied Arts ด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายใน เขาก็ยังคงเดินหน้าขัดเกลาฝีมือและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการทำงานในหลากหลายสาย ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองอย่างต่อเนื่อง 

 

กระทั่งในช่วงปี 1970 ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ของ H.R. Giger ก็ไปเข้าตาผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky ที่กำลังปลูกปั้นโปรเจกต์ภาพยนตร์ไฟไซสุดทะเยอทะยานอย่าง Dune ที่ดัดแปลงมาจากนิยายไซไฟในชื่อเดียวกันของนักเขียน Frank Herbert Alejandro Jodorowsky จึงตัดสินใจชักชวน H.R. Giger มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมออกแบบงานสร้าง

 

H.R. Giger ได้รับหน้าที่ออกแบบฉากและตัวละครที่เกี่ยวข้องกับ House Harkonnen ตระกูลผู้โหดเหี้ยมไร้ปรานี ซึ่งเข้าทางกับสไตล์การออกแบบของเขาที่มักจะหยิบความกลัวมาใช้เป็นแกนหลักสำคัญ โดยหนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของเขาคือการออกแบบปราสาทตระกูล Harkonnen ที่ผสมผสานรูปลักษณ์ของหัวกะโหลกมนุษย์และอาคารที่อบอวลด้วยบรรยากาศอันน่าสะพรึงกลัว 

 

และอย่างที่หลายคนทราบว่าในท้ายที่สุดโปรเจกต์สุดทะเยอทะยานของ Alejandro Jodorowsky ก็ต้องถูกพับเก็บไป แต่การได้ร่วมโปรเจกต์ Dune ครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายครั้งสำคัญในอาชีพของ H.R. Giger เพราะหลังจากนั้นในปี 1977 เขาได้ตีพิมพ์หนังสือรวมผลงานของตัวเองในชื่อ Necronomicon ซึ่งได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ของเขาที่เคยร่วมออกแบบงานสร้างในโปรเจกต์ Dune ของ Alejandro Jodorowsky และแรงบันดาลใจจากนักเขียนนิยายสยองขวัญอย่าง H.P. Lovecraft โดยชื่อหนังสือ Necronomicon ก็มีที่มาจากชื่อของหนังสือเวทมนตร์ที่ปรากฏในผลงานของ H.P. Lovecraft เช่นกัน

 

ด้วยผลงานอันโดดเด่นของ H.R. Giger ที่ผสมผสานร่างกายของมนุษย์และเครื่องจักรอันน่าสะพรึงกลัว แต่ก็ยังแฝงความงดงามน่าหลงใหลไว้ในเวลาเดียวกันนี้เอง ก็นำพาให้เขาได้มาพบกับ Ridley Scott ผู้ชักชวนเขามาร่วมออกเดินทางสู่อวกาศ บนยานอวกาศสุดสยองที่จะไม่มีใครได้ยินเสียงกรีดร้อง

 

 

Alien (1979)

ภาพ: 20th Century Studios

 

กำเนิด Xenomorph เอเลี่ยนสุดสยองกลางอวกาศ

 

หลังจากที่ผู้กำกับ George Lucas ได้ทำให้ผู้ชมทั่วโลกตื่นตาตื่นใจกับสงครามอวกาศสุดยิ่งใหญ่ใน Star Wars: A New Hope (1977) ภาพยนตร์แนวไซไฟก็เริ่มกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น ซึ่งทางสตูดิโอ 20th Century Fox (หรือ 20th Century Studios ในปัจจุบัน) ก็กำลังปลูกปั้นภาพยนตร์แนวไฟไซสยองขวัญเรื่องใหม่อย่าง Alien ซึ่งว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มตัวละครที่ต้องเอาชีวิตรอดจากเอเลี่ยนปริศนาบนยานอวกาศที่ไร้ทางหนี โดยได้คว้าตัว Ridley Scott ที่ ณ ขณะนั้นยังเป็นผู้กำกับรุ่นใหม่จากผลงานเรื่อง The Duellist (1977) มานั่งแท่นผู้กำกับ 

 

โดยในช่วงพัฒนาโปรเจกต์ Dan O’Bannon หนึ่งในมือเขียนบทของภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งเคยร่วมงานกับ H.R. Giger มาแล้วในโปรเจกต์ Dune ของผู้กำกับ Alejandro Jodorowsky ได้แนะนำหนังสือ Necronomicon ของ H.R. Giger ให้ Ridley Scott รู้จัก ซึ่งหลังจาก Ridley Scott ได้เห็นภาพวาดชื่อ Necronom IV หรือภาพวาดสิ่งมีชีวิตกึ่งเครื่องจักรคล้ายผู้หญิงและมีหัวกะโหลกที่ยื่นยาวออกไปด้านหลัง เขาก็ทราบทันทีว่า H.R. Giger คือคนที่เหมาะสมที่สุดที่จะมารับหน้าที่ออกแบบตัวละครเอเลี่ยนอย่างที่เขาต้องการ ผู้กำกับจึงตัดสินใจชักชวน H.R. Giger มาร่วมโปรเจกต์ ซึ่ง Ridley Scott ยังเคยออกมาให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าการตัดสินใจชวน H.R. Giger มาร่วมงานครั้งนั้น คือหนึ่งในการตัดสินใจที่เขามั่นใจมากที่สุดในชีวิต 

 

H.R. Giger ได้รับหน้าที่ออกแบบตัวละครเอเลี่ยนและมีส่วนร่วมในการคิดรูปแบบวงจรชีวิตของตัวละครนี้ โดยใช้ภาพวาด Necronom IV ที่ Ridley Scott ชื่นชอบมาต่อยอด ทั้งยังคงโดดเด่นด้วยงานภาพแบบ Biomechanical เริ่มต้นจาก Ovomorph หรือไข่ขนาดยักษ์ที่เป็นที่ฟักตัวของ Facehugger สิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายมือมนุษย์และมีหางยาวสำหรับเกาะติดกับเหยื่อเพื่อฝังตัวอ่อนอย่าง Chestburster ที่จะทะลุออกมาจากหน้าอกของเหยื่อเมื่อมันเติบโตขึ้น โดยการออกแบบ Chestburster นั้นได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดชื่อ Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion ของศิลปินชาวอังกฤษ Francis Bacon 

 

มาถึงเอเลี่ยนตัวเต็มวัยที่เรารู้จักในชื่อ Xenomorph ที่มีรูปลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีกระดูกสันหลังคล้ายงู รูปร่างสูงใหญ่ มีหัวกะโหลกคล้ายมนุษย์ที่ยื่นยาวออกไปด้านหลัง มาผสมผสานกับดีไซน์ของรถ Rolls-Royce รุ่นเก่า โดดเด่นด้วยปากและฟันที่น่าสะพรึงกลัว โดยมีปากขนาดเล็กซ่อนอยู่เป็นอาวุธ จากนั้น H.R. Giger ได้ร่วมมือกับ Carlo Rambaldi นักออกแบบที่มาช่วยสร้างชุดและศีรษะของ Xenomorph ที่สามารถเคลื่อนไหวได้เพื่อใช้สำหรับการถ่ายทำ พร้อมได้ Bolaji Badejo นักแสดงผู้มีความสูงถึง 6 ฟุต 10 นิ้ว มารับหน้าที่สวมชุด Xenomorph

 

H.R. Giger ยังมีส่วนร่วมในการออกแบบองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ ของภาพยนตร์อย่างยาน The Derelict และ Space Jockey ที่กลุ่มตัวละครหลักเดินทางไปพบ ซึ่งต่างก็เป็นฉากอันเป็นที่จดจำของผู้ชมไม่แพ้กัน 

 

Alien (1979)

ภาพ: 20th Century Studios

 

Alien เริ่มออกฉายครั้งแรกในปี 1979 ก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมและนักวิจารณ์อย่างเนืองแน่น ด้วยการกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 108 ล้านดอลลาร์จากทุนสร้างประมาณ 11 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการออกแบบตัวละครอันน่าจดจำนี้ก็ส่งให้ภาพยนตร์สามารถคว้ารางวัลออสการ์สาขาวิชวลเอฟเฟกต์ยอดเยี่ยมมาได้สำเร็จ และได้รับการสานต่อเรื่องราวมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Aliens (1986), Alien 3 (1992), Alien: Resurrection (1997), Prometheus (2012), Alien: Covenant (2017) และ Alien: Romulus (2024) รวมถึงยังได้รับการดัดแปลงเป็นสื่อบันเทิงอื่นๆ อย่างนิยาย วิดีโอเกม และคอมิกอีกมากมาย พร้อมได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไซไฟสยองขวัญที่ส่งอิทธิพลต่อภาพยนตร์ในแนวเดียวกันในยุคต่อมา

 

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ส่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ คือผลงานการออกแบบตัวละครเอเลี่ยนจากฝีมือของ H.R. Giger และแม้ว่าเขาจะเสียชีวิตลงในปี 2014 แต่เขาก็ได้มอบหนึ่งในผลงานการออกแบบอันยอดเยี่ยมที่สุดครั้งหนึ่งในโลกภาพยนตร์ ที่ยังคงสร้างความสยองและความประทับใจแก่ผู้ชมมาจนถึงปัจจุบัน

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X