×

ผ่าวิกฤต H&M ในแดนมังกร มหกรรมเชือดไก่ให้โลกดู!

06.04.2021
  • LOADING...
ผ่าวิกฤต H&M ในแดนมังกร มหกรรมเชือดไก่ให้โลกดู!

HIGHLIGHTS

  • แบรนด์แฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก Hennes & Mauritz AB หรือ H&M รายงานผลประกอบการขาดทุนยับเยิน และคาดว่าจะเป็นแผลลึกขึ้นอีกหากไม่รีบรักษา
  • H&M ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่เท่านั้น แต่กำลังอ่วมพิษถูกจีนคว่ำบาตร เนื่องจากการแสดงจุดยืนสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าจีนใช้แรงงานผลิตฝ้ายแบบไร้ความเป็นธรรมในเขตซินเจียง จนทำให้เกิดคำสั่งปิดทางช่องทางจำหน่ายของ H&M บนโซเชียลจีนทั้งหมด
  • ล่าสุด H&M ออกแถลงการณ์เต็มรูปแบบ หยอดคำหวานว่ามุ่งมั่นที่จะอยู่ในตลาดจีนต่อไป ทำให้ H&M กลายเป็นกรณีศึกษาน่าสนใจ ว่ารัฐบาลจีนสามารถ ‘เชือดไก่ให้โลกดู’ ได้สำเร็จเด็ดขาดในรอบนี้
  • ที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมักลงโทษธุรกิจต่างชาติที่วิจารณ์การกระทำของรัฐบาล ในบางกรณี ธุรกิจจะถูกบีบให้ยอมรับประเด็นทางการเมืองและกระแสสังคมที่ละเอียดอ่อน ทั้งเรื่องไต้หวัน ทิเบต และอีกหลายเรื่อง บริษัทส่วนใหญ่ยอมทำตาม เพราะจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่และเติบโตเร็วที่สุด และสำหรับ H&M จีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 รองจากเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ

H&M บริษัทจากสตอกโฮล์ม ที่มีดีกรีเป็นผู้ค้าปลีกแฟชั่นรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ประกาศเมื่อวันพุธที่ 31 มีนาคม 2021 ว่าบริษัทขาดทุนสุทธิ 1,070 ล้านโครนสวีเดน (ราว 3,825.51 ล้านบาท) ในช่วงเดือนธันวาคม 2020 – กุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่บริษัทเคยทำกำไร 1.93 พันล้านโครนในปีก่อนหน้า

 

ยอดขายของบริษัทลดลงเหลือ 40,100 ล้านโครน (146,515 ล้านบาท) จาก 54,900 ล้านโครน (200,591 ล้านบาท) จุดนี้ H&M ให้เหตุผลว่าเนื่องจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัทอย่างหนัก ส่งผลให้มีการปิดสาขามากถึง 1,800 แห่ง หรือประมาณ 36% ของร้านค้าทั้งหมดทั่วโลก โดยเป็นการปิดร้านชั่วคราวในช่วงระหว่างไตรมาส

 

ภาวะนี้ไม่เอื้อให้ H&M มีปากเสียงกับใครได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนหน้านี้ที่ H&M เป็น 1 ในหลายแบรนด์จากชาติตะวันตกที่มีกระแสถูกแบนในประเทศจีน 

 

ต้นเรื่องของกรณีนี้คือ H&M ออกมาประกาศว่าจะไม่ใช้ผ้าฝ้ายที่มาจากภูมิภาคซินเจียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานในชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวอุยกูร์ อย่างไม่เป็นธรรม 

 

การประกาศนี้ทำให้แบรนด์ H&M ถูกลบออกจากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ในจีน และที่ตั้งร้านค้าได้หายไปจากบริการแผนที่ดิจิทัลบางราย ซึ่งถือว่าเป็นการลงดาบเชือดไก่แบบไม่ต้องพูดอะไรกันมากเจ็บคอ

 

แผนนี้ได้ผล H&M ออกมาย้ำในแถลงการณ์ว่าจีนเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับบริษัท และความมุ่งมั่นในระยะยาวของบริษัทที่มีต่อประเทศจีนก็ยังคงแข็งแกร่ง

 

ภาพ: Kevin Frayer / Getty Images

 

ข้อความนี้แปลว่า Hennes & Mauritz กำลังทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เพื่อจัดการกับ ความท้าทายที่กำลังเผชิญในจีน ในแถลงการณ์แบรนด์ค้าปลีกแฟชั่นเน้นย้ำว่า ได้ทุ่มเทเพื่อกู้คืนความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจทุกรายในประเทศ

 

“เราต้องการเป็นผู้ซื้อที่มีความรับผิดชอบในประเทศจีนและพื้นที่อื่น ขณะนี้เรากำลังสร้างกลยุทธ์เพื่อเดินหน้า และกำลังดำเนินการด้านการจัดหาวัสดุในขั้นต่อไป” H&M ระบุ

 

ในขณะที่รัฐบาลจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงานในซินเจียง เห็นได้จากแถลงการณ์ที่มีต่อเนื่องจนถึงปลายมีนาคมที่ผ่านมา นอกเหนือจาก H&M แล้ว กลุ่มแบรนด์จากสวีเดนจำนวนมากยังมีจุดยืนต้านรัฐบาลจีนเช่น COS, Monki, Weekday, Cheap Monday, & Other Stories, H&M HOME, ARKET และ Afound ซึ่งยังไม่มีข้อมูลว่าแบรนด์เหล่านี้เปลี่ยนจุดยืนหรือไม่อย่างไร

 

สำหรับกรณีที่ร้าน H&M หายวับไปจากอินเทอร์เน็ตของจีน ถูกมองว่าเป็นผลจากความโกรธที่บริษัทสวีเดนตัดสินใจประกาศหยุดซื้อฝ้ายจากซินเจียง เพราะไปฟังเสียงนักวิจัยต่างชาติที่กล่าวว่าชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ในซินเจียงมากกว่า 1 ล้านคนถูกกักขังไว้ในค่ายกักกัน เพื่อบังคับใช้แรงงาน และวางมาตรการคุมกำเนิดชาวอุยกูร์

 

ภาพ : Pulati Niyazi / Getty Images

 

รัฐบาลจีนปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ และแจงว่าค่ายในพื้นที่มีไว้สำหรับฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และการเตรียมพร้อมเพื่อต่อสู้กับลัทธิหัวรุนแรงอิสลาม ไม่เพียงชี้แจง จีนยังใช้สื่อเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรแบรนด์ดัง จนไม่นาน ผลิตภัณฑ์ของ H&M อันตรธานไปจากเว็บไซต์ขายสินค้าหลักของจีน ทั้ง Alibaba และ JD.com

 

สื่อของรัฐบาลจีนกล่าวหาว่า H&M และบริษัทอื่นกำลังแสวงหาผลประโยชน์จากจีน ในขณะที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่โลกเห็นกลับกลายเป็นว่า บริษัทรายใหญ่ต่างถูกบีบให้ทำตามและเห็นด้วยกับรัฐบาลจีน เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเติบโตเร็วที่สุดของแบรนด์เหล่านี้

 

จีนเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของ H&M เป็นรองเพียงเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ แบรนด์เหล่านี้มีการใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงเป็นพรีเซนเตอร์ให้เข้าถึงผู้บริโภคจีน ซึ่งล่าสุด เซเลบริตี้คนดังจำนวนไม่น้อยเริ่มยุติข้อตกลงกับบริษัทชาติตะวันตก ตรงนี้ไม่มีการเปิดเผยว่าเป็นการเลิกสัญญาแบบสมัครใจ หรือว่าเซเลบริตี้ถูกบีบให้ลุกขึ้นมา ‘ต่อต้านความพยายามทำลายชื่อเสียงของจีน’ กันแน่

 

ตัวอย่างเข่น Gulnazar นักแสดงดังที่กำลังเลิกสัญญากับ Puma จนต้องงดโปรโมตสินค้าในบัญชีโซเชียลมีเดียของเธอ ยังมีนักร้อง Eason Chan และ Angelababy จากฮ่องกง ประกาศยุติสัญญากับ Adidas, นักแสดงหญิง Zhou Dongyu ที่โบกมือลา Burberry และนักแสดง Ni Ni และ Jing Boran ที่โบกมือลา Uniqlo ไปแล้ว

 

 

สิ่งหนึ่งที่ยังค้างคาใจหลายคนในนาทีนี้ คือความไม่ชัดเจนว่าเหตุใดจีนจึงกำหนดเป้าหมายไปที่ H&M นอกจากขนาดความใหญ่ของ H&M ที่อาจได้รับผลกระทบจากแรงกดดันได้ง่ายกว่า 

 

ยังมีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนและสวีเดนที่เป็นมิตรกันน้อยลงตั้งแต่ปี 2015 ซึ่งมีประเด็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวจีนที่ถือสัญชาติสวีเดนถูกลักพาตัว จนเกิดการขัดแย้งทางการทูตของ 2 ประเทศจนเป็นข่าวดัง

 

ไม่ว่าเหตุผลนั้นคืออะไร สิ่งที่แน่นอนคือวิกฤต H&M ในจีนกำลังเป็นฉากเปิดมหกรรมเชือดไก่ให้โลกดู บนเดิมพันที่ H&M จะต้องพลิกวิกฤตขาดทุน ให้เป็นการยืนยันความมุ่งมั่นในตลาดจีนให้ได้ ซึ่งหากทำได้ ก็จะมีสิทธิ์ ‘ได้อยู่ต่อ’ ในตลาดจีนต่อไป

 

ว่าง่ายๆ จะได้โตเร็วๆนะ!

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X