จากกรณีที่มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ได้จัดพิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 ให้กับ อานนท์ นำภา หรือทนายอานนท์ ในวันนี้ (18 พฤษภาคม) โดยเชิญให้อานนท์ร่วมงานผ่านทางออนไลน์ (Zoom) แต่เนื่องจากอานนท์ยังรักษาอาการจากโควิด-19 ที่ติดจากเรือนจำ ขณะนี้ยังอยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และยังอยู่ในการควบคุมตัว เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัว จึงไม่สามารถร่วมพิธีได้
ล่าสุด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้ออกมาแสดงความยินดีกับ ทนายอานนท์ที่ได้รับรางวัลนี้ และเห็นด้วยกับคณะกรรมการตัดสินรางวัล ในเรื่องความมุ่งมั่นของทนายอานนท์ที่ต้องการจะยกระดับประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และความทุ่มเทในอาชีพทนายความที่มีมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2551 ทั้งการให้ความช่วยเหลือด้วยการว่าความโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายให้กับเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และถึงแม้จะต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงมากมาย แต่เขาก็ไม่หยุดเรียกร้อง พร้อมเดินหน้าต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนต่อไป
ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ขอแสดงความยินดีกับทนายอานนท์ที่ได้รับรางวัลในฐานะบุคคลที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องทางการไทยยุติการปฏิบัติต่อผู้ออกมาวิจารณ์ราวกับเป็นอาชญากรหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาโดยทันทีหากขาดหลักฐานว่ากระทำความผิดอาญาตามหลักสากล
“เรามีความยินดีที่การทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นที่รับรู้และได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ และยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยึดมั่นในการทำงานเพื่อการเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งของตัวเองและผู้อื่น การก้าวขึ้นมาร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยและแสดงความเห็นโดยสงบเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ขอบคุณนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทั่วโลกที่ยังยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังคงเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัว อานนท์ นำภา ทนายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ถูกควบคุมทุกคนตัวเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ยุติการดำเนินคดีต่างๆ และที่คุกคามผู้ชุมนุม และข้อหาอื่นๆ เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง และแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ” ปิยนุชกล่าว
จากการระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดตรวจสอบการติดโควิด-19 ในเรือนจำ ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พบว่ามีการตรวจและพบติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 11,428 ราย และทนายอานนท์เป็นหนึ่งในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำด้วย ดังนั้นยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดความแออัดของเรือนจำ และคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องหาที่ยังไม่มีการตัดสินจากศาลว่ามีความผิด
ก่อนหน้านี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักประธานศาลฎีกาดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังและนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด ทั้งเพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และระหว่างเรือนจำกับประชาชนภายนอก
แอมเนสตี้ ประเทศไทย เสนอให้จัดสรรหน้ากากอนามัย สบู่ และน้ำสะอาดอย่างเพียงพอให้แก่ผู้ต้องขังและนักโทษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และให้ผู้ต้องขังและนักโทษได้รับการดูแลจากแพทย์ มีสิทธิเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน แยกผู้ป่วยออกจากผู้ต้องขังและนักโทษปกติ พิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่เรือนจำต้องได้รับวัคซีนโรคโควิด-19 โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ตลอดทั้งดำเนินการ ‘ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน’ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงและประธานศาลฎีกาเองโดยทันที
สำหรับรางวัลกวางจูเริ่มมอบรางวัลให้กับนักสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยมีคนไทยสองคนที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วได้แก่ อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) เมื่อปี 2560 ส่วนในระดับภูมิภาคเอเชีย ยังมีบุคคลสำคัญและองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้ เช่น ออง ซาน ซูจี, มินโกนาย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา และองค์กร Bersih องค์กรซึ่งสนับสนุนการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรมในมาเลเซีย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล