×

กูรูเตือน ไทยเสี่ยงเจอเงินเฟ้อยืดเยื้อกว่าที่คิด มองโจทย์ใหญ่ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่คือการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ

03.04.2022
  • LOADING...
กูรูเตือน ไทยเสี่ยงเจอเงินเฟ้อยืดเยื้อกว่าที่คิด มองโจทย์ใหญ่ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่คือการสร้างสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ร่วมกับสำนักข่าว THE STANDARD จัดงานสัมมนาใหญ่ในวาระครบรอบ 50 ปีของกลุ่มธุรกิจฯ ‘THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี’ เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศไทยภายใต้บริบทโลกในระยะข้างหน้าที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆ

 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในวงเสวนาหัวข้อ Bracing for the Future: Geopolitics and Our Politics ว่า ขณะนี้มีปัจจัยสำคัญ 3 เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในโลกซึ่งจะส่งผลกระทบเชื่อมโยงมาถึงประเทศไทย ได้แก่ 

 

  1. ปัญหาด้านราคาพลังงานที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงและยาวนานกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตน้ำมันได้ถูกมองเป็นผู้ร้ายจากกระแสเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องลดการลงทุนและกำลังการผลิตไป ขณะเดียวกัน สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้บีบให้กลุ่มประเทศในยุโรปต้องลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียและเข้ามาแย่งซื้อพลังงานจากแหล่งอื่น ทำให้ราคาในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น

 

“มีการประเมินว่าถ้าโลกจะสามารถใช้พลังงานทดแทนในระดับเดียวกับที่เราใช้พลังงานจากน้ำมันได้ เราจะต้องใช้เงินลงทุนถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ GDP โลก 1 ปี ซึ่งคงยังไม่สามารถทำได้ในเร็วๆ นี้ ทำให้ราคาพลังงานมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกดดันให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อตามมา” ศุภวุฒิกล่าว

 

ทั้งนี้ ศุภวุฒิประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเจอปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อกว่าที่คิดไว้ และเงินเฟ้อจะไม่ปรับลดลงในช่วงปลายปีเหมือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองเอาไว้ หากพิจารณาจากแนวโน้มราคาพลังงานและราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงที่สหรัฐอเมริกาและหลายประเทศรวมถึงไทยที่อาจไม่กล้าปราบเงินเฟ้อและเลี้ยงเงินเฟ้อไว้เนื่องจากกลัวเศรษฐกิจตกต่ำ 

 

“สำหรับไทยผมมองว่าราคาปุ๋ยน่ากลัวกว่าราคาน้ำมัน เพราะราคาที่แพงขึ้นทำให้ชาวนาใช้ปุ๋ยลดลง 30% ดังนั้นผลผลิตจะตกต่ำลง ทำให้ราคาสูงขึ้น เงินเฟ้อและค่าครองชีพจะไม่ลง โดยเชื่อว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึง พรรคการเมืองต่างๆ จะเอาเรื่องขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาหาเสียง” ศุภวุฒิกล่าว

 

  1. ภาวะ Decoupling หรือการแตกแยกของห่วงโซ่การผลิตที่จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จากการแบ่งขั้วระหว่างชาติมหาอำนาจคือสหรัฐฯ และจีน ที่ต้องแข่งขันทางเทคโนโลยีและการค้า ทำให้ไทยต้องประเมินผลกระทบและวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับภาวะดังกล่าวให้ดี

 

“เชื่อว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเราจะรู้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีจะเป็นตัวชี้วัด” ศุภวุฒิกล่าว

 

  1. ปัญหาเรื่องโครงสร้างประชากรในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งเรื่องนี้อาจทำให้ไทยต้องหันมามองตัวเองว่า ในภาวะที่แรงงานน้อยลงจะยังมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจากภาคการผลิตที่อาศัยแรงงานเข้มข้นอยู่หรือไม่ หรือควรหันไปมุ่งเน้นภาคบริการระดับสูงและนำเทคโนโลยีมายกระดับภาคเกษตร

 

ด้านสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) วิเคราะห์ว่า สงครามที่เกิดขึ้นในยูเครนจะส่งผลให้ 4 ขั้วอำนาจในโลก ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป จีน และกลุ่มประเทศอื่นๆ ที่เคยมีอิสระต่อกันเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสหรัฐฯ และยุโรปจะใกล้ชิดกันมากขึ้น เช่นเดียวกับจีนและรัสเซีย ทำให้ขั้วอำนาจในโลกอาจเหลือแค่ 3 ขั้ว โดยมีแค่ 2 ขั้วคือตะวันตกและจีน บวกรัสเซียที่เป็นผู้กำหนดมาตรฐานทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

 

สมเกียรติกล่าวว่า ภายใต้ระเบียบโลกใหม่ดังกล่าว ไทยจะต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทาย 3 ด้าน ได้แก่ 1. โจทย์ทางการเมือง ที่ต้องรักษาสมดุลและระยะห่างกับคู่ขัดแย้ง 2. โจทย์ทางเศรษฐกิจที่ต้องพยายามไม่พึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ปัจจุบันไทยทำได้ดี หากพิจารณาจากสัดส่วนของตลาดส่งออกสินค้า และ 3. โจทย์ทางเทคโนโลยีที่จะสร้างแรงกดดันให้ไทยต้องเลือกข้าง

 

“ปัจจุบันไทยส่งออกไปสหรัฐ 15%, จีน 14%, ยุโรป 9% และญี่ปุ่น 9% ถือว่าเรากระจายความเสี่ยงได้ดี แต่ในสินค้าบางตัวอย่างเช่นทุเรียน เราพึ่งพาจีนสูงมาก ดังนั้นหากในอนาคตเราทำให้เขาไม่พอใจ ทุเรียนจะถูกใช้เป็นอาวุธเล่นงานเราได้เช่นกัน ส่วนเรื่องเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่าไทยกระจอกเกินไป ไม่มีเทคโนโลยีชั้นสูงของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยี 6G ที่กำลังจะมาถึง จะมีสองมาตรฐานจากสองขั้ว ซึ่งเราจะเจอโจทย์ที่ถูกบีบให้เลือกข้าง” สมเกียรติกล่าว

 

สมเกียรติเสนอว่า หนึ่งในทางออกของไทยคือการหันมาใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือต่างๆ ในอาเซียนให้มากขึ้น เนื่องจากอาเซียนถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากร 600 ล้านคน มีแรงงานที่สามารถทดแทนการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยได้ ขณะเดียวกันยังเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญให้ไทยได้อีกด้วย

 

“ในเชิงเศรษฐกิจเราอาจต้องถอยห่างออกมาจากจีนและหันมาใช้อาเซียนมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์กับชาติมหาอำนาจ ใช้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของจีนและญี่ปุ่นในการยกระดับอุตสาหกรรมตัวเอง ไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งและจะมีรัฐบาลใหม่ คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่นายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ จะต้องเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของโลกนี้” สมเกียรติกล่าว

 

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินว่า สงครามเย็นในรอบใหม่นี้ยังมีลักษณะที่ไม่ได้แตกต่างไปจากสงครามเย็นเดิมมากนัก โดยยังเป็นการต่อสู้ระหว่างสองอุดมการณ์ คือการรวมศูนย์อำนาจและเสรีนิยม เพียงแต่ตัวแสดงหลักในฝั่งรวมศูนย์อำนาจสลับเป็นจีนขึ้นมาแทนอดีตสหภาพโซเวียต และรอบนี้เป็นการเผชิญหน้ากับทางการค้าและเทคโนโลยี

 

“จุดแข็งของไทยคือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกมหาอำนาจ เราควรใช้สินทรัพย์นี้ให้เป็นประโยชน์ แต่ในรอบสองทศวรรษผ่านมา การเมืองไทยอยู่ในภาวะย่ำอยู่กับที่ มีการยึดอำนาจ เราเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้น เราคงต้องตอบคำถามตัวเองในเรื่องนี้ว่าเราจะเอายังไงกับตัวเองในโลกที่กำลังจะกลับไปสู่ยุคตัวใครตัวมันมากขึ้น” ฐิตินันท์กล่าว

 

ฐิตินันท์เชื่อว่า ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของโลก การต่างประเทศของไทยต้องพึ่งพาหลายๆ ทางและใช้ยุทธศาสตร์สร้างความสัมพันธ์แบบ Minilateral โดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิม โดยมีความเป็นไปได้ที่อาเซียนอาจพึ่งพาได้น้อยลง เพราะในอาเซียนเองก็มีปัญหาภายใน เช่น เรื่องพรมแดนในทะเลจีนใต้ และเรื่องจุดยืนต่อเมียนมา

 

“ที่ผ่านมา FTA ของเรานิ่งมาก เราอาจต้องสอดส่องหาความร่วมมือแบบกลุ่มย่อยเพราะอาเซียนเองก็ดูร่อแร่ ส่วนเรื่องปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัย ถ้ามีการปรับปรุงระบบให้แรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบได้ตามกฎหมายและโปร่งใสมากขึ้นก็จะช่วยเรื่องนี้ได้” ฐิตินันท์กล่าว

 

ขณะที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงติดกับดักทางการเมืองอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ 1. ความชอบธรรม ที่การเข้าสู่อำนาจไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มีการแก้ไขกติกาบ่อย 2. การแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก ซึ่งทำให้สังคมไม่สามารถหาฉันทามติร่วมกันได้ 3. อำนาจนิยม ที่นำไปสู่การกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนระดับล่างมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง และ 4. รัฐราชการรวมศูนย์ ที่ใช้ราชการที่มีประสิทธิภาพต่ำเป็นตัวนำขับเคลื่อนประเทศ

 

“ประเทศไทยจะไปต่อไม่ได้หากเราไม่แก้โจทย์เหล่านี้ เราจะบอกว่าไม่แก้การเมือง เอกชนก็ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้เหมือนในอดีตคงไม่ใช่แล้วภายใต้บริบทโลกใหม่ที่กำลังจะมาถึง การเมืองและเศรษฐกิจต้องถูกปฏิรูปไปพร้อมกัน เราจะไปต่อไม่ได้ถ้าไม่ปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” ประจักษ์กล่าว

 

ประจักษ์ระบุว่า การจะทำให้ไทยออกจากสถานะหรือ Status Quo ที่เป็นอยู่ข้างต้นได้จะต้องทำอย่างน้อย 3 เรื่อง 

 

  1. ต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งถูกออกแบบมาให้รัฐบาลที่เข้ามาบริการประเทศเป็นรัฐบาลผสม อ่อนแอ และขาดความชอบธรรม

 

  1. ต้องจริงจังกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและการกระจายทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม ไม่เช่นนั้นการประท้วงและเรียกร้องความเป็นธรรมจะเกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าใครจะเข้ามาบริหารประเทศ

 

  1. การกระจายอำนาจ โดยเปิดให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศแทนการนำของรัฐราชการรวมศูนย์ 

 

“การสร้างการเมืองที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบต่อสังคมจะทำให้เกิดความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งจะช่วยให้การผลักดันนโยบายใหญ่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประเทศประสบความสำเร็จได้” ประจักษ์กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X