×

กูรูชี้เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมรับมือ ‘มหาพายุ’ แม้เสถียรภาพแกร่ง แต่ ‘หนี้ครัวเรือน’ คือจุดเปราะบาง

16.05.2022
  • LOADING...
มหาพายุ

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ระดับหนี้สาธารณะ ระดับหนี้ต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองและอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินที่ไม่น่ากังวล ทำให้ไทยยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ EM ที่เสี่ยงเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจต่ำ
  • แต่การฟื้นตัวจากโควิดที่ล่าช้า ความไม่แน่นอนของการส่งออกและการบริโภคในประเทศ รวมถึงปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนก็ยังเป็นจุดเปราะบางทางเศรษฐกิจของไทยที่ต้องติดตาม 
  • วิกฤตในกลุ่มประเทศ EM อาจทำให้ไทยขาด Long-Term Growth ส่งผลให้ประเทศติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางต่อไป และอาจต้องใช้เวลา 4-5 ปีเพื่อฟื้นตัวกลับไปจุดเดิม
  • ผู้บริหาร ธปท. เตือนหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงเปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ ชี้หากไม่ถูกปลดชนวนโดยเร็วอาจระเบิดภายใน 10 ปี สร้างผลกระทบในวงกว้าง  

 

ในบทความสองตอนที่แล้วของซีรีส์ The Recession เราได้เขียนถึง ‘มรสุมใหญ่ทางเศรษฐกิจ 3 ลูก’ ที่กำลังถาโถมเข้าใส่เศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบที่อาจนำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ Emerging Market (EM) เข้าสู่วิกฤตไปนั้น สำหรับบทความตอนนี้ 3 เราจะลองมาเช็กความพร้อมของเศรษฐกิจไทย เพื่อดูว่ามีความพร้อมแค่ไหนกับการรับมือ ‘มหาพายุ’ ที่กำลังก่อตัวขึ้นพร้อมกันทั้ง 3 ลูก

 

เสี่ยงขาด LongTerm Growth ก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ให้มุมมองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่มีความพร้อมที่จะรับมือภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤต โดยกว่าที่ GDP ไทยจะกลับไปอยู่ในจุดเดียวกับก่อนเกิดวิกฤตโควิด จนมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย และสะสมทรัพยากรเพื่อรับมือกับวิกฤตในครั้งต่อไปได้นั้นอาจต้องใช้เวลาถึงช่วงต้นปีหน้า

 

“มรสุมทั้งสามลูกจะสร้างความผันผวนในตลาดเงินโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อไทยที่เป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กอย่างเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งพายุมีความรุนแรงก็จะยิ่งกระหน่ำซ้ำเติมให้ไทยฟื้นตัวช้าไปอีก” อมรเทพกล่าว

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

อมรเทพกล่าวอีกว่า แม้ว่าจะตัดปัจจัยภายนอกออกไปแล้วย้อนกลับมาดูเฉพาะปัจจัยภายในของไทย ในขณะนี้ก็จะพบว่าเศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างที่ไม่เอื้อต่อการรับมือกับวิกฤตเช่นเดียวกัน เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังเน้นพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ขาดการสร้างนวัตกรรมและการเพิ่มมูลค่าของตัวเองจากวัตถุดิบภายในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญของไทยที่ต้องเร่งสร้างเกราะเพื่อป้องกันวิกฤตครั้งต่อไป

 

อมรเทพมองว่า แม้ว่าทุนสำรองที่สูงและหนี้ต่างประเทศที่ต่ำของไทยอาจจะช่วยให้ไทยไม่เข้าสู่วิกฤตการเงินซ้ำรอยวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 แต่ก็ยังมีความเสี่ยงและช่องโหว่อีกหลายด้านที่ซ่อนอยู่ ซึ่งพร้อมจะปะทุขึ้นมาจนนำไปสู่วิกฤตได้ เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ภาครัฐ และหนี้เสียหรือ NPL ในภาคเอกชนที่ต้องจับตา รวมถึงความอ่อนแอของธุรกิจ SMEs ที่ยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่

 

“สิ่งที่น่าห่วงที่สุดคือ EM Crisis ในรอบนี้อาจทำให้ไทยขาด Long-Term Growth ซึ่งจะทำให้เราก้าวไม่พ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพราะประเทศอื่นๆ ฟื้นตัวเป็นรูปตัว V หรือตัว U แต่ไทยเรากลับฟื้นเหมือนตัว J กลับด้าน คือเราฟื้นตัวกลับมาได้ต่ำกว่าเดิมและช้า ซึ่งภายใต้บริบทที่เกิดกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (Deglabalozation) ในปัจจุบันจะยิ่งทำให้เรากลับไปโตแบบเดิมได้ยาก เราอาจต้องใช้เวลา 4-5 ปีเพื่อฟื้นกลับไปจุดเดิม” อมรเทพระบุ

 

ปัจจัยพื้นฐานไทยยังดูดี

 

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) กล่าวว่า เวลานี้ทั่วโลกกำลังแบ่งกลุ่มประเทศ EM ออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤตสูงเพราะมีปัญหาสะสมอยู่ตั้งแต่ในช่วงเกิดการระบาดของโควิดแล้ว ซึ่งตัวอย่างของประเทศในกลุ่มนี้ก็ ได้แก่ ศรีลังกา และตุรกี กับกลุ่มประเทศ EM ที่ยังมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรงพอสมควร ซึ่งไทยยังถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มนี้

 

นริศระบุว่า การจะดูว่าประเทศใดมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด สามารถดูได้ในเบื้องต้นจาก 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ระดับหนี้สาธารณะ ระดับหนี้ต่างประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองและอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงิน 

 

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากทั้ง 5 ปัจจัยข้างต้นจะพบว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีพื้นฐานที่ค่อนข้างดี และไม่น่ากังวลมากนักเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ EM ด้วยกัน

 

เริ่มจากระดับหนี้สาธารณะ ปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ระดับเกิน 60% ต่อ GDP เพียงเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 130% และ 71% ตามลำดับ

 

ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศของไทยปัจจุบันก็ยังอยู่ต่ำกว่า 40% ของ GDP ค่อนข้างต่ำเช่นกันเมื่อเทียบกับหนี้ของเวียดนามที่ 48% และมาเลเซียที่ 70% 

 

ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แม้ว่าปัจจุบันไทยจะเผชิญการขาดดุลอยู่ แต่การขาดดุลก็ยังอยู่ที่ระดับ 2% ของ GDP ไม่ได้สูงมากเหมือนหลายประเทศที่กำลังเกิดปัญหา

 

ด้านทุนสำรองของไทยแม้ว่าล่าสุดทุนสำรองของไทยจะลดลงจากระดับ 2.5 แสนล้านดอลลาร์ลงมาอยู่ที่ 2.3 แสนล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงที่เพียงพอจะนำเข้าสินค้าโดยไม่ต้องส่งออกเลยได้นานถึง 10 เดือน

 

และสุดท้ายคืออัตราแลกเปลี่ยน จะเห็นว่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงน้อยกว่าสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค โดยหากนับจากต้นปีที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าไปเพียง 3% เทียบกับเงินเยนที่อ่อนค่าลง 12% เงินหยวน 5% และเงินวอน 6% 

 

“ในภาพใหญ่เงินจะไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงและกลุ่มประเทศ EM อยู่แล้ว แต่ในภาพย่อยลงมานักลงทุนจะพิจารณาจาก 5 ปัจจัยข้างต้นนี้ด้วยว่าจะนำเงินออกจากตลาดใดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการที่เงินบาทเรายังอ่อนค่าน้อยกว่าก็สะท้อนว่าภาพรวมของเรายังไม่แย่ และโอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมีน้อย” นริศกล่าว

 

จุดเปราะบางเศรษฐกิจไทย

 

อย่างไรก็ตาม นริศมองว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังมีจุดเปราะบางที่ต้องติดตามอยู่หลายจุดเช่นกัน จุดแรกคือการฟื้นตัวที่ล่าช้า โดยปัจจุบัน GDP ไทยยังคงตามหลังจากช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดอยู่ถึง 4.8% หากพิจารณาตามตัวเลขที่ติดลบ 6.1% ในปี 2020 ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวได้ 1.6% ในปีที่ผ่านมา

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักเดียวที่เหลือในปีนี้ของไทยจะถูกกระทบจากพายุที่เกิดขึ้นในประเทศจีนหรือไม่ 

 

โดยตัวเลขส่งออกจีนในเดือนล่าสุดชะลอตัวลงเหลือ 3% ซึ่งเป็นสัญญาณที่ต้องจับตาเพราะไทยนำเข้าวัตถุดิบจากจีนมาผลิตค่อนข้างมาก หากทางการจีนยังใช้นโยบายควบคุมโควิดที่เข้มงวดต่อไป เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ก็อาจอ่อนกำลังลง

 

“ตอนนี้เรายังมองตัวเลขส่งออกไทยในปีนี้ไว้ที่ 5% แต่ถ้าปัญหาในจีนลากยาวออกไป การส่งออกไทยอาจโตได้ต่ำกว่านั้น ส่วนการท่องเที่ยวก็ยังไม่สามารถฝากความหวังไว้ได้มาก แม้ว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทยล่าสุดจะขยับจาก 5 หมื่นบาทต่อคน มาเป็น 7 หมื่นบาทต่อคน แต่นักท่องเที่ยวในปีนี้ก็อาจมีจำนวนแค่ 5-7 ล้านคน ซึ่งยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคนค่อนข้างมาก” นริศกล่าว

 

หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี กล่าวอีกว่า หนึ่งในเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจไทยที่อาจฝากความหวังไว้ได้เล็กๆในปีนี้คือ การบริโภคในประเทศ ที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีส่งสัญญาณเป็นบวกที่ค่อนข้างสดใส แต่ก็ยังต้องลุ้นว่าในช่วงที่เหลือของปีจะสูญเสียโมเมนตัมไปหรือไม่

 

“ตัวละครหลักคือส่งออก ตัวละครลับที่อาจฝากความหวังไว้ได้เล็กๆ คือการบริโภคในประเทศ จะเห็นว่าคนเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในประเทศ แต่ต้องลุ้นว่าในช่วงที่เหลือของปีจะเป็นอย่างไร เพราะรายจ่ายเพิ่มจากราคาสินค้า ค่าครองชีพที่ขยับขึ้นประกอบกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงอาจบั่นทอนกำลังซื้อของคนได้เช่นกัน” นริศกล่าว

 

นริศมองว่ามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายที่มาจากภาครัฐยังมีความจำเป็นต้องมีอยู่ในช่วงที่เหลือของปี แต่รูปแบบการให้ความช่วยเหลืออาจต้องปรับให้ตรงจุดหรือตรงกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในเคขาล่างซึ่งมีหนี้สูงจากการกู้ยืมเพื่อนำมาอุปโภคบริโภค 

 

ระเบิดเวลาหนี้ครัวเรือน

 

ก่อนหน้านี้ ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยวิเคราะห์ถึงสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยที่ล่าสุดขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 90.1% ต่อ GDP ของ THE STANDARD WEALTH ว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นระดับที่น่ากังวล และถือเป็นระเบิดเวลาตัวหนึ่งของเศรษฐกิจไทยที่พร้อมจะระเบิดได้หากเกิดการช็อกทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

“มีไม่กี่ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงเกิน 90% ของ GDP และส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีรายได้สูง ไทยจึงถือเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด ซึ่งหากนับรวมหนี้อื่นๆ เช่น หนี้นอกระบบ หนี้ กยศ. และหนี้สหกรณ์ด้วยตัวเลขจะเกิน 90.1% ไปอีกพอสมควร” ดอนกล่าว

 

ดอนระบุว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากหลายปัจจัย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการหดตัวของ GDP แต่สาเหตุหลักคือการที่สังคมไทยเป็นสังคมบริโภคนิยม กลุ่มวัยเริ่มทำงานในปัจจุบันที่ก่อหนี้เร็วขึ้นและสูงขึ้นกว่าในอดีต ขณะเดียวกันสถาบันการเงินหลายแห่งเองก็หันมาขยายสินเชื่อรายย่อยที่ให้ผลตอบแทนสูงด้วย ทำให้องค์ประกอบที่หนี้จะสูงขึ้นมีพร้อมทั้งในฝั่งอุปสงค์และอุปทาน

 

หากส่องไปยังไส้ในของหนี้ครัวเรือนไทยจะพบว่าไทยมีสัดส่วนของหนี้ที่อยู่อาศัย 34.5% หนี้รถยนต์-จักรยาน 12% หนี้เพื่อประกอบอาชีพ 10% ส่วนหนี้ไม่มีหลักประกันจำพวกบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ราว 8% แม้ว่าตัวเลขที่ 8% จะดูไม่มาก แต่ในปีที่ผ่านมาหนี้กลุ่มนี้เติบโตขึ้นถึง 12.9% ถือว่าเพิ่มขึ้นเร็วและแรงกว่าหนี้ประเภทอื่นซึ่งถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล

 

ดอนกล่าวอีกว่า แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยในขณะนี้จะยังไม่ส่งสัญญาณที่จะระเบิดในเวลาอันใกล้ แต่หากปล่อยไว้และไม่ได้รับการแก้ไขหรือถอดชนวนอย่างทันท่วงที ความเสี่ยงที่ปัญหานี้จะนำไปสู่วิกฤตจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย หรือการที่ดอกเบี้ยนโยบายในอนาคตจะกลับเข้าสู่ขาขึ้น หากระดับหนี้ยังอยู่ในระดับสูงก็จะก่อให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระตามมา ซึ่งจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงความมั่นคงของสถาบันการเงิน

 

“ผมเชื่อว่าหากเราปล่อยปัญหานี้ทิ้งไว้ ภายใน 10 ปีมันจะระเบิดแน่นอน ซึ่งแน่นอนว่าในกรณีที่ระเบิดจะมีผลกระทบที่ตามมาเป็นวงกว้าง สถาบันการเงินจะมีปัญหาเพราะคนชำระหนี้ไม่ได้ ธุรกิจต้องปิดกิจการ ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงและน่าเป็นห่วงคือ SMEs” ดอนระบุ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising