×

กูรูชี้ประตูลดดอกเบี้ยปิดแล้ว หลัง กนง. 2 เสียงเปลี่ยนใจ ประเมินน้ำท่วมรอบนี้กระทบเศรษฐกิจน้อย

29.09.2021
  • LOADING...

บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะปิดประตูขาลงไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมครั้งนี้ กลับมามีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5% เทียบกับการประชุมครั้งก่อนที่มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง โดยที่เสียงส่วนใหญ่เสนอให้คงดอกเบี้ย แต่ก็มี 2 เสียงที่เสนอลดดอกเบี้ย 0.25% 

 

“คิดว่าหลังจากนี้เราคงไม่เห็น กนง. ลดดอกเบี้ยลงอีกแล้ว เพราะโอกาสในการลดน่าจะไม่มีแล้ว ดูได้จากการประชุมในครั้งนี้ก็มีกรรมการ 2 คนที่เปลี่ยนใจกลับมาให้คงดอกเบี้ย ซึ่งจริงๆ ในมุมของนักเศรษฐกิจยอมรับว่าทำงานยาก เพราะการสื่อสารของ กนง. ไม่ค่อยชัด ไม่ค่อยจะสื่อว่าทำอะไรหรือคิดอะไรอยู่ ได้แต่รอฟังจากการแถลงของ กนง.”

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมของฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพ มองว่า หาก กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกสัก 1 ครั้งก็สามารถทำได้ เพราะอย่างน้อยช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้กับภาคธุรกิจและภาคเอกชนลงได้ แต่ก็คิดว่าหลังจากนี้โอกาสในการลดคงไม่มีแล้ว เพราะสัญญาณเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นจากการกระจายวัคซีนที่ทำได้มากขึ้น

 

บุรินทร์ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยธนาคารกรุงเทพ ยังคงประเมินภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจไม่เติบโตเลย หรือเติบโตที่ 0% แต่ตัวเลขจริงก็อาจจะบวกได้เล็กน้อยจากทิศทางของเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น แต่ปีหน้ามองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวค่อนข้างสูงในระดับ 5% เนื่องจากฐานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ระดับต่ำ

 

ส่วนปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มองว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจมีจำกัด และไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับในปี 2554 เพราะลักษณะของการท่วมในครั้งนี้ไม่ได้ท่วมขังนาน หรือสร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมเหมือนในช่วงปี 2554 แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเร็วในช่วงนี้ เขากล่าวว่า มีโอกาสจะเห็นเงินบาทอ่อนค่าจนแตะระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแออยู่แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่อง เพราะยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ทำให้ไทยอาจขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นได้ 

 

นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เตรียมลดปริมาณ QE ทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ยังเป็นสัญญาณของการฟื้นตัว ส่งผลต่อนโยบายการเงินของ Fed ในระยะข้างหน้าที่จะตึงตัวขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X