×

กูรูชี้เป้าหมายเปิดประเทศไม่สำคัญเท่าการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ห่วงฉีดวัคซีนช้ายิ่งกระทบเศรษฐกิจ ล่าสุด KKP Research หั่น GDP ปีนี้เหลือ 1.5%

17.06.2021
  • LOADING...
patong beach

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จาก 2.2% เหลือ 1.5% หลังการระบาดระลอกใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาด อีกทั้งวัคซีนที่ล่าช้าจะส่งผลให้ปีนี้นักท่องเที่ยวกลับมาได้เพียงประมาณ 160,000 คนเท่านั้น ทำให้เศรษฐกิจไทยยากที่จะฟื้นได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าล่าสุดนายกรัฐมนตรีจะประกาศเป้าหมายเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายใน 120 วันก็ตาม

 

ทั้งนี้ มองว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จของนโยบายวัคซีนและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม สัญญาณจากรัฐบาลจีนว่าจะไม่กลับมาเปิดประเทศในเร็วๆ นี้ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจะยังไม่กลับมาไทยและคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาได้เพียง 5.8 ล้านคนในปี 2565

 

KKP Research ระบุว่า การฉีดวัคซีนในปัจจุบันที่ล่าช้ากำลังสร้างต้นทุนมหาศาลต่อเศรษฐกิจใน 3 ช่องทาง คือ

  1. ความไม่แน่นอนจากการระบาดระลอกใหม่
  2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาได้ช้าลง
  3. ต้นทุนทางการคลังจากนโยบายเยียวยาที่ต้องออกเพิ่มเติม

ซึ่งมีมูลค่าที่สูงกว่าราคาวัคซีนหลายเท่า นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือการเร่งการจัดหาและกระจายวัคซีน เพื่อทำให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาเดินหน้าได้เร็วที่สุด

 

โดยประเมินว่า สถานการณ์การจัดหาและกระจายวัคซีนที่ล่าช้าและการระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด จะส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนของไทยในไตรมาส 2 ปีนี้หดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และการเปิดประเทศอาจทำได้ล่าช้า ส่งผลให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับเข้ามาได้เพียง 160,000 คน แม้ว่าการส่งออกและภาคเกษตรน่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเป็นเครื่องจักรหลักของเศรษฐกิจในปีนี้ แต่ไม่เพียงพอที่จะชดเชยเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอลงแรง

 

ทำให้มีการปรับลดประมาณการการเติบโตของจีดีพีในปีนี้จากการเติบโตที่ 2.2% เหลือ 1.5% และยังมีความเสี่ยงโตต่ำกว่านี้หากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมได้หรือมีการระบาดเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการฟื้นตัวที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่หดตัวไป 6.1% ในปีก่อน

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research กล่าวว่า นโยบายที่รัฐบาลควรทำที่สุดในเวลานี้คือการเร่งควบคุมการระบาดให้เร็วที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดระลอกใหม่ เร่งจัดหาวัคซีน เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เตรียมเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ อาทิ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ให้กลับมาเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

 

นอกจากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุม รัฐต้องเตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นโครงการลงทุนที่สร้างรายได้ สร้างงาน และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ตอบโจทย์และความท้าทายของโลกหลังโควิด-19 ได้

 

ด้าน ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า การประกาศเตรียมเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายใน 120 วัน พร้อมตั้งเป้าเร่งฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มให้กับประชาชน 50 ล้านคน หรือ 71% ของจำนวนประชากรก่อนเดือนตุลาคมของนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (16 มิถุนายน) มีความสอดคล้องกับประมาณการที่ บล.ไทยพาณิชย์ เคยประเมินไว้ว่าไทยจะสามารถฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มให้กับประชากร 70% ได้ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ทำให้ บล.ไทยพาณิชย์ ยังคงประมาณการจีดีพีไทยในปีนี้เอาไว้ที่ 2% และมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 แสนรายเช่นเดิม

 

“หากไทยสามารถทำได้ตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 4 จะกลับมาเติบโตได้ดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น แต่คงไม่แตกต่างจากที่เราเคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ทำให้ยังคงประมาณการเศรษฐกิจที่เท่าเดิมเอาไว้ก่อน” ปิยศักดิ์กล่าว

 

ปิยศักดิ์ระบุว่า ไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาดู 3 ประเด็น เรื่องแรกคือตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 2,000 รายต่อวัน และยังไม่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งพบว่าการแพร่ระบาดยังเกิดในสถานที่ทำงานต่างๆ เป็นคลัสเตอร์ เช่น แคมป์ก่อสร้างและบริษัทห้างร้าน เรื่องที่สองคือความล่าช้าของการผลิตวัคซีน ซึ่งปัจจุบันยังผลิตได้ช้ากว่าเป้า และเรื่องสุดท้ายคือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่และการกลายพันธุ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้า

 

อย่างไรก็ดี ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสโตได้มากกว่า 2% เช่นกัน ในกรณีที่สามารถทำตามเป้าของนายกรัฐมนตรีได้และการเปิดภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ประสบความสำเร็จจนตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นยังมีน้อย

 

ขณะที่ นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb Analytics) กล่าวว่า การประกาศเป้าหมายที่ชัดเจนของนายกรัฐมนตรีอาจจะส่งผลบวกในแง่การสร้างความเชื่อมั่นในกับภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องติดตามต่อคือภาครัฐจะสามารถผลักดันให้เป้าหมายนี้ประสบผลสำเร็จได้จริงหรือไม่

 

“เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ 50 ล้านคนภายในกรอบเวลาดังกล่าว หมายความว่า เราจะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 570,000 โดสต่อวัน และต้องใช้วัคซีนมากถึง 76 ล้านโดส แต่เมื่อดูอัตราการฉีดกับอัตราการนำเข้าวัคซีนในปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ราว 10 ล้านโดสต่อเดือน เรายังมองภาพไม่ออกว่ามันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เว้นแต่ว่าภาครัฐสามารถนำเข้าวัคซีนได้มากและเร็วขึ้น” นริศกล่าว

 

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบีประเมินว่า หากไทยสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่า 500,000 โดสต่อวัน มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเติบโตได้มากกว่า 4% อย่างไรก็ตาม หากการฉีดวัคซีนทำได้ช้ากว่านั้นเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่า 3%

 

พิสูจน์อักษร: นัฐฐา สอนกลิ่น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising