×

รู้จัก Gunkul Spectrum หน่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานที่กำลังก้าวไปสู่ ‘ธุรกิจพลังงานสายพันธุ์ใหม่’ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
18.09.2020
  • LOADING...

“Energy is a Human Rights: พลังงานเป็นสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงจะได้รับ” คุณเห็นด้วยกับคำพูดนี้ไหม

 

ลองนึกภาพว่าในอนาคตเราสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างอิสระ ตลอดจนรู้จัก เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากพลังงานได้อย่างเต็มที่ ทั้งหมดคือภาพในอนาคตที่ Gunkul Spectrum หน่วยสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานที่กำลังก้าวไปสู่ ‘ธุรกิจพลังงานสายพันธุ์ใหม่’ อยากจะทำให้เกิดขึ้นจริงๆ 

 

Gunkul Spectrum คือใคร ทำไมจึงวาดฝันเช่นนั้น เราจะขอพาทุกคนมาทำความรู้จักผ่านบทความนี้กัน!

 

ย้อนรอยก่อนจะเป็น Gunkul Spectrum

ก่อนจะไปรู้จัก Gunkul Spectrum คงต้องทำความรู้จักยานแม่กันก่อน บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านธุรกิจพลังงานทดแทนแบบครบวงจรและธุรกิจระบบไฟฟ้าที่ดำเนินงานมาได้ 38 ปีแล้ว 

 

 

‘กันกุล’ อยู่ในธุรกิจพลังงานมาโดยตลอด จุดเริ่มต้นของธุรกิจเกิดขึ้นในปี 2525 ในวันนั้นกันกุลทำธุรกิจเทรดดิ้งคอมพานี นำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าในต่างประเทศเพื่อขายให้กับหน่วยงานภาครัฐ หลังจากนั้นในปี 2535 ได้ก่อสร้างโรงงานเพื่อสร้างอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าด้วยตัวเองเพื่อทดแทนการนำเข้า และด้วยประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมาและโอกาสจากทางภาครัฐ กันกุลได้ผันตัวเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในปี 2550

 

การผันตัวเองได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้กันกุลเติบโตอย่างรวดเร็วจนได้นำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนมาทำธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้เองทำให้กันกุลตระหนักได้ว่าเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นกันกุลจึงมีการเตรียมความพร้อมจากท่านประธานที่มีความคิด ความฝัน และมองโอกาสที่อยู่รอบๆ ตัวตลอดเวลา 

 

ในโอกาสครบรอบ 36 ปี จึงได้มีปรับโครงสร้างองค์กรและรูปแบบในการทำธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2 ปีที่มีการเปลี่ยแปลงดังกล่าวได้มีการขยายธุรกิจไปมาก ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย และเมียนมา 

 

นอกจากนั้นยังได้ขยายไปยังธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งกันกุลไม่ได้รอสัญญาณซื้อขายไฟจากภาครัฐอีกแล้ว แต่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ใช้ไฟโดยตรง ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่า นอกเหนือจากนั้นกันกุลยังให้บริการติดตั้งแผงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) แก่ลูกค้าครัวเรือนภายใต้แบรนด์ GRoof ซึ่งมีการตอบรับที่ดีมาก 

 

ตลอดจนเข้าสู่ธุรกิจก่อสร้างโดยการเข้าซื้อบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด ซึ่งทำให้ธุรกิจก่อสร้างของกันกุลขยายตัวอย่างรวดเร็ว สามารถที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า เดินสายเคเบิลใต้ดินและใต้ทะเล การเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ของธุรกิจก่อสร้างทำให้ปัจจุบันมีแบ็กล็อกกว่า 8,000 ล้านบาท สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

“จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในวันนั้นด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่ด้วยสปิริต ความเชื่อ และความฝันของคนของกันกุล เราทำงานกันเป็นทีม มีความยืดหยุ่น รวดเร็ว แต่ทำงานแบบมืออาชีพบนความเชื่อที่เชื่อว่าเราต้องทำได้ ไม่ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกี่ครั้งในรูปแบบใดก็ตาม ส่วนตัวมักจะบอกทีมงานเสมอว่าอย่ากลัวการเปลี่ยนแปลง จงเชื่อมั่นในความรู้สึกของตัวเอง ศรัทธาในทีมงาน ศรัทธาในสิ่งที่เราทำ แล้วมันต้องสำเร็จ” โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าว

 

โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

 

“ชาวกันกุลเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่เกิดขึ้นทำให้กันกุลดีขึ้นเสมอ แม้เราบอกไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมพลังงานจะเปลี่ยนไปกี่ครั้งหรือจะรวดเร็วเพียงใด แต่นั่นทำให้เชื่อว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความคิดใหม่ๆ ซึ่งจำเป็นที่กันกุลจะต้องพัฒนา แม้ว่าจะมีความซับซ้อน ความเสี่ยง หรือต้องใช้เงินลงทุนก็ตาม”

 

และจากมุมมองที่ว่าการริเริ่มทำในสิ่งใหม่ๆ แม้จะใช้ระยะเวลาในขณะที่คนอื่นยังไม่มีใครทำ แต่ถ้าทำสำเร็จ สิ่งเหล่านั้นจะกลายเป็น Exponential Growth และการเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัดของ ‘กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง’ จากมุมมองนั้นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Gunkul Spectrum

 

พลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงจะได้รับ

Gunkul Spectrum เป็นหน่วยงานใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งได้เพียงปีกว่าๆ ภายใต้การนำของ นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ Head of Energy Innovation Pioneer กรรมการบริหาร / ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งเติบโตมากับธุรกิจพลังงาน พร้อมกับเชื่อว่า “Energy is a Human Rights: พลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงจะได้รับ”

 

Gunkul Spectrum จึงเกิดขึ้นด้วยการรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่าอยากสร้างสรรค์แหล่งพลังงานที่ไม่ตายตัวเพื่ออนาคตที่ดีสำหรับคนไทย ในมุมมองของนฤชลนั้น พลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพราะเราใช้ในการขับเคลื่อนชีวิต 

 

นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ Head of Energy Innovation Pioneer
กรรมการบริหาร / ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์
บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) 

 

“วันนี้เรามีปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย ส่วนตัวมองว่าพลังงานเป็นปัจจัยที่ห้า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนไทยทุกคนต้องสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และที่สำคัญที่สุดคือคนไทยต้องมีทางเลือก”

 

สำหรับบุคคลทั่วไป พลังงานเป็นเหมือน ‘กล่องดำ’ ที่ไม่มีตัวตน จับต้องไม่ได้ ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับมัน รู้แค่เพียงว่าถ้าอยากให้เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้งานได้ตามปกติ เราก็แค่เสียบปลั๊ก สิ้นเดือนก็มีหน้าที่จ่ายบิลค่าไฟ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าพลังงานเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก

 

ดังนั้น Gunkul Spectrum จึงอยากสร้างมุมมองและภาพลักษณ์ใหม่ให้กับพลังงาน เพราะความท้าทายอย่างหนึ่งที่รู้สึกคือทุกวันเราเติบโตและซึมซับมาโดยตลอดว่าเราไม่สามารถกำหนดและมีทางเลือกในการใช้พลังงานได้

 

แต่เราลืมคิดไปว่าหากปรับมุมมองไปอีกสักนิด เราจะรู้ว่าพลังงานเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พวกเราทุกคนต้องสามารถเลือกได้ เฉกเช่นเดียวกับวันนี้ที่เราเลือกกินอาหารที่ชอบได้ เลือกเสื้อผ้าบนพื้นฐานความพึงพอใจของเราได้ พลังงานก็เช่นเดียวกัน เราเลือกให้เหมาะกับเราได้

 

“ทุกวันนี้คนที่เข้าถึงแหล่งพลังงานทางเลือกได้เป็นคนกลุ่มเล็กที่มีศักยภาพทางด้านการเงิน แต่หารู้ไม่ว่าคนทั้งประเทศ ประชาชนทุกคนล้วนต้องการทางเลือก แต่เข้าไม่ถึงด้วยข้อจำกัดที่มีในปัจจุบัน Gunkul Spectrum จึงขอเป็นสะพานในการเชื่อมทุกคนก้าวสู่ชีวิตที่ดีกว่า เราอยากนำเทคโนโลยีสู่คนทุกชนชั้น สร้างความเสมอภาค เราอยากเป็นผู้สร้างเทรนด์ด้านพลังงานรายแรกของไทย เพื่อพาทุกคนก้าวข้ามไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าจริงๆ” 

 

 

‘ทลายข้อจำกัด ค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ สร้างระบบนิเวศของ Smart Energy’ 3 แกนหลักของ Gunkul Spectrum

ความตั้งใจจริงของ Gunkul Spectrum ถูกสอดแทรกอยู่ในทุกองค์ประกอบขององค์กร ตั้งแต่ชื่อที่เกิดขึ้นมาด้วยไอเดียของหนึ่งในทีมงานระหว่างการพูดคุยทฤษฎีสัมพัทธภาพของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่าถ้าวันนี้เราเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสง เราจะมีเวลาทำงานมากขึ้น เพราะเวลาเดินได้ช้าลง 

 

แสงจึงเป็นสิ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สะท้อนตัวตน สะท้อนถึงวัฒนธรรมองค์กร เพราะความสว่างของแสงเปรียบเสมือนพลังงานในการคิดบวก ถ้าวันนี้เราคิดลบก็จะไม่เห็นโอกาสอะไรเลย 

 

“คลื่นของแสงเปรียบเสมือนการทำงานของเราที่ต้องปรับตัวไว ไม่ตายตัว ไม่หยุดนิ่ง ความเร็วของแสงคือแพสชันที่มีในวันนี้ เราอยากสร้างโมเมนตัมให้กับวงการพลังงาน และสำคัญที่สุด สีรุ้งของแสงเปรียบเสมือนสายรุ้งบนท้องฟ้า ซึ่งธรรมชาติของรุ้งจะเกิดขึ้นเมื่อฟ้าเปิด เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ เปรียบเสมือนแรงบันดาลใจที่เราอยากจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในวงการพลังงานจริงๆ และทลายข้อจำกัดเดิมๆ ที่มี ทั้งหมดนี้จะอยู่ในจิตวิญญาณของชาว Gunkul Spectrum ทุกคน”

 

ผลผลิตของ Gunkul Spectrum จะออกมาในหลากหลายรูปแบบภายใต้ 3 แกนหลักคือ 

 

1. Energy Reformation ภารกิจในการทลายข้อจำกัดทางพลังงานเดิมๆ อยากให้ลองจินตนาการว่าหากในอนาคตสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างอิสระ ไม่มีข้อจำกัดใดๆ จะเป็นเรื่องที่ดีมากแค่ไหน 

 

นฤชลอธิบายว่าวันนี้กำแพงใหญ่ของอุตสาหกรรมพลังงานคือไฟฟ้าต้องผ่านสายไฟ เราจึงเห็นภาพสายส่งอยู่บนท้องถนน เห็นปลั๊กไฟตามบ้านของเรา แมัปัจจุบันจะมีการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับพกพาพลังงานไปได้ทุกที่ก็ตาม แต่ในอนาคตเราจะเห็นแบตเตอรี่ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะจ่ายไฟให้กับทั้งบ้านหรือกระทั่งโรงงาน 

 

“ในวันนั้นจะเป็นวันที่คนไทยมีทางเลือก เราจะสามารถเลือกซื้อไฟจากภาครัฐก็ได้ ซื้อไฟจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาก็ได้ หรือกระทั่งซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนก็ย่อมได้ เรามองว่าถ้าวันหนึ่งข้อจำกัดเหล่านี้ค่อยๆ พังลงไป วงการพลังงานจะไม่มีทางกลับมาอยู่ที่จุดเดิม และจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล หน้าที่ของ Gunkul Spectrum คือจะเดินหน้าทำลายข้อจำกัดเดิมๆ และสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเพื่ออนาคตคนไทย”

 

 

2. Energy Explorer ภารกิจในการค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีความยั่งยืน เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้หลายพลังงานอาจจะยังเป็นเพียงแค่คอนเซปต์ ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น ไฮโดรเจน ซึ่งวันนี้เกิดจากธรรมชาติได้ เกิดจากน้ำหรืออากาศที่อาจจะมาทดแทนการเติมน้ำมันในอนาคต

 

3. Ecosystem Builder ภารกิจในการสร้างระบบนิเวศของ Smart Energy ทำให้การใช้พลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดย Gunkul Spectrum จะสร้างและส่งต่อแหล่งความรู้เพื่อจุดประกายไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแบ่งปันปัญหาด้านพลังงานให้กับทุกคนที่มีไอเดียนวัตกรรมใหม่ๆ โดยมีบริษัทแม่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งพร้อมที่จะแชร์ความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมาบนเส้นทางนี้กว่า 38 ปี โดยมี Gunkul Spectrum เป็นผู้ร่วมสร้าง ร่วมคิด ร่วมสนันสนุน

 

พาร์ตเนอร์เป็นเรื่องสำคัญ

เพื่อให้ภารกิจเหล่านี้สำเร็จ Gunkul Spectrum จึงนำไอเดียเหล่านี้ออกไปพบปะกับเพื่อน โดยนฤชลย้ำว่า “เราไม่เชื่อใน One Man Show เราเชื่อว่าเราหาโอกาสที่จะนำโปรดักต์ออกไปแลกเปลี่ยนไอเดียกับพาร์ตเนอร์ที่มีอุดมคติเหมือนเรา มีความเชื่อคล้ายๆ เรา เก่งในอุตสาหกรรมของตัวเอง ซึ่งจะช่วยต่อยอดผลผลิตของ Gunkul Spectrum ให้สามารถทลายข้อจำกัดได้ไวขึ้น เพราะความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้เข้าถึงคนในระดับประเทศหรือภูมิภาคได้”

 

วันนี้ Gunkul Spectrum จึงมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่อยากทำเรื่องเล็กแต่คิดใหญ่เหมือนกันแล้ว 2 ราย โดยรายแรกคือ AIS ที่ได้ร่วมมือกันพัฒนาหนึ่งในโปรดักต์ด้านพลังงานที่กันกุลได้รับสิทธิ์ในการทำ Sandbox หรือโครงการนำร่องร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ Peer-to-Peer Energy Trading Platform

 

(ซ้าย) อทิเมท เทียมสะอาด (ขวา) ภูรินทร์ ธานีรัตน์
Innovation Engineer & Product Owner

 

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายงานขับเคลื่อนนวัตกรรม AIS อธิบายว่าได้นำระบบ Mobile ID ที่พัฒนาภายใต้เทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาสนับสนุนการทำงานของ Energy Trading Market หรือตลาดซื้อขายพลังงานเป็นครั้งแรก ซึ่งในอนาคตจะมีโอกาสเปิดให้ประชาชนเข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้าได้อย่างเสรี 

 

โดยบล็อกเชนจะเข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกรรมการซื้อขายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้ซื้อหรือผู้ขายไฟฟ้าจะสามารถเชื่อมต่อเข้าบล็อกเชนผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile ID ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วได้อย่างปลอดภัยและสะดวกสบาย จึงช่วยสร้างความมั่นใจและน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภค ทั้งยังเป็นการขยายศักยภาพเทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคที่เป็น End Consumer อย่างแท้จริง

 

สำหรับ SCB 10X ซึ่งเป็นโฮลดิ้งคอมพานีในเครือไทยพาณิชย์ การจับมือกันเพื่อศึกษาอุตสาหกรรมใหม่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำให้โปรดักต์ที่จะออกสู่ผู้บริโภคมีความหลากหลายยิ่งขึ้น 

 

กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder ของ SCB 10X ระบุว่าจะเข้ามาให้การสนับสนุนในด้านความคิด การทดลอง ไปจนถึงจุดที่ธุรกิจสามารถสเกลได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการให้การสนับสนุนด้านบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรม การเข้าถึงเทคโนโลยี กลยุทธ์การนำเสนอธุรกิจสู่ตลาด หรือ Go-to Market Strategy รวมไปถึงแชร์เซอร์วิสอื่นๆ เพื่อให้นวัตกรสามารถโฟกัสการสร้างธุรกิจได้อย่างเต็มที่ และถ้าสามารถสร้างไอเดียสำเร็จจนมีโอกาสสปินออฟออกเป็นบริษัทใหม่ที่ลงทุนร่วมกันได้ในอนาคต (Share Ownership)

 

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน Peer-to-Peer Energy Trading Platform ที่ถูกยกมาโชว์เป็นน้ำจิ้มแล้ว Gunkul Spectrum ยังได้โชว์อีกหนึ่งน้ำจิ้มคือ Volt Energy Marketplace แพลตฟอร์มแมตชิ่งผู้ติดตั้ง Solar Rooftop กับลูกค้าที่สนใจ 

 

พัทธนันท์ ศุภเสถียร
Energy Innovation Pioneer / Assistant Vice President

 

โดย Volt จะเริ่มต้นให้บริการในลักษณะของ B2C (Business-to-Consumer) ซึ่ง Gunkul Spectrum มั่นใจว่าจะสามารถต่อยอดเป็น Marketplace แบบครบวงจรในลักษณะของ B2B ได้ ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ใช้พลังงาน นอกจากนี้ยังมีโปรดักต์ด้านพลังงานอีก 9-10 โปรดักต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา

 

ขณะเดียวกัน ก้าวต่อไปที่ Gunkul Spectrum วางแผนไว้คือการเป็น VC (Venture Capital) เพื่อเข้าไปลงทุนธุรกิจด้านเทคโนโลยีพลังงาน

 

“เรามองว่าการจะเป็นผู้นำได้จริงๆ คือการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ใช่ไปหยิบยืมมาใช้อย่างเดียว วันนี้เราอยากเป็นผู้สร้างเทรนด์ด้านพลังงานรายแรกให้กับภูมิภาค โดยคำว่าผู้นำไม่ได้มีมาตรวัดว่ามีรายได้เป็นอันดับหนึ่งหรือเป็นเบอร์หนึ่งในด้านต่างๆ

 

“แต่ความเป็นผู้นำที่แท้จริงคือการเข้าถึงคนหมู่มากได้อย่างแท้จริง เพราะไม่สำคัญว่าเราจะบินได้สูงแค่ไหน แต่สำคัญว่าปีกของเราโอบอุ้มคนได้มากแค่ไหน วันนี้เราอยากจะกางปีกก่อน และเมื่อเราช่วยเหลือผู้คนได้แล้ว วันนั้นเราจะเป็นผู้นำอย่างแท้จริง”

 

และแม้ว่าในอนาคต Gunkul Spectrum ยังมีความท้าทายอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถช่วยยกระดับสาธารณูปโภคของไทย แต่ Gunkul Spectrum ก็พร้อมทำภารกิจในการสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับคนไทย ภายใต้ความเชื่อที่ว่า Energy is a Human Rights 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising