×

ครม. เห็นชอบแนวทางดึงดูดนักท่องเที่ยวมาไทย 3 ระยะ เพิ่มฟรีวีซ่าจาก 57 เป็น 93 ประเทศ ชี้คุ้มค่าแม้สูญรายได้ แต่จะได้คืน 8 แสน – 1 ล้านล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
28.05.2024
  • LOADING...

วันนี้ (28 พฤษภาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการและแนวทางในการตรวจลงตราและส่งเสริมการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะที่ซบเซาเรื้อรังยาวนาน และตัวเลขฟ้องว่า GDP โตต่ำกว่าศักยภาพของประเทศและต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น 

 

ที่ประชุม ครม. จึงมีข้อสรุปว่า จำเป็นต้องสร้างรายได้ใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน ด้วยการเร่งเดินหน้านโยบายด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจตัวเดียวที่จะให้ผลตอบแทนอย่างรวดเร็ว สามารถแก้ปัญหาระยะสั้นได้ โดยสิ้นปี 2567 รัฐบาลจะเร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท 

 

ชัยกล่าวต่อว่า การจะไปให้ถึงเป้าหมาย กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยการกำหนดมาตรการเชิงรุกในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเสนอมาตรการ 3 ระยะ ได้แก่

 

1. มาตรการระยะสั้น

 

ประเทศที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา สามารถพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 60 วัน เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ และการทำงานระยะสั้น จากเดิม 57 ประเทศเป็น 93 ประเทศ เช่น อันดอร์รา, ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยียม, บาห์เรน, บรูไน, แคนาดา, เช็ก, เดนมาร์ก, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์ และฝรั่งเศส ฯลฯ

 

พร้อมปรับปรุงรายชื่อประเทศที่ได้รับสิทธิตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on Arrival: VOA) จากเดิม 19 ประเทศเป็นจำนวน 31 ประเทศ ได้แก่ อาร์เมเนีย, เบลารุส, บัลแกเรีย, ภูฏาน, โบลิเวีย, จีน, คอสตาริกา, ไซปรัส, เอลซัลวาดอร์, เอธิโอเปีย, ฟิจิ, จอร์เจีย, อินเดีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, มอลตา, เม็กซิโก, นามิเบีย, นาอูรู, ปาปัวนิวกินี และปารากวัย ฯลฯ

 

และเพิ่มการตรวจลงตราประเภทใหม่ Destination Thailand Visa (DTV) เพื่อให้คนต่างด้าวประสงค์จะพำนักในประเทศไทย เพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน (Workcation) มีคุณสมบัติและสิทธิประโยชน์ ดังนี้ 

 

  1. คนต่างด้าวประสงค์จะเดินทางมาพำนักเพื่อการท่องเที่ยวระยะยาวและทำงานทางไกล ได้แก่ กลุ่มที่มีทักษะสูง (Foreign Talent) และกลุ่มอาชีพอิสระ (Digital Nomad / Freelancer) หรือประสงค์เข้ามาพำนักเพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ได้แก่ การเรียนมวยไทยและศิลปะป้องกันตัว, การเรียนทำอาหาร, การเรียนและฝึกซ้อมกีฬา, การรักษาพยาบาล, การอบรม, การสัมมนา และการจัดแสดงศิลปะและดนตรี 

 

  1. ผู้ติดตามของคนต่างด้าวตาม ข้อ1. ซึ่งเป็นคู่สมรสและบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีอายุไม่เกิน 20 ปี 

 

  1. คนต่างด้าวจะต้องมีหลักฐานทางการเงินหรือหลักฐานการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเดินทาง หรือมีผู้ค้ำประกันวงเงินไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท ตลอดระยะเวลาพำนักในประเทศไทย

 

  1. สิทธิประโยชน์ที่ได้รับการตรวจลงตราประเภท DTV สามารถพำนักในประเทศไทยได้ครั้งละไม่เกิน 180 วัน อัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา 10,000 บาท อายุการตรวจลงตรา 5 ปี และมีสิทธิขยายระยะเวลาพำนักในประเทศไทยได้ 1 ครั้งไม่เกิน 180 วัน โดยชำระค่าธรรมเนียม 10,000 บาท และขอเปลี่ยนประเภทการตรวจลงตราในประเทศได้ โดยการตรวจลงตราเดิมจะสิ้นสุด 

 

ชัยกล่าวว่า ครม. ยังเห็นชอบปรับปรุงสิทธิสำหรับนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนระดับปริญญาตรีขึ้นไปที่ได้รับการตรวจลงตรา Non-Immigrant Visa รหัส ED เป็นอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาต่างชาติที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย เพื่อดึงดูดผู้ที่มีศักยภาพและทักษะเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศ และขยายเวลาพำนักในประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษา 1 ปี เพื่อหางาน เดินทางท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ โดยต้องมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 

2. มาตรการระยะกลาง 

 

ประกอบด้วย 3 มาตรการ เริ่มใช้เดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ได้แก่

 

  1. จัดกลุ่มและปรับลดรหัสกำกับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) จากเดิม 17 รหัสเหลือ 7 รหัส โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567

 

  1. ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราวเพื่อการพำนักในราชอาณาจักรระยะยาว (Long Stay) สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ประสงค์ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย โดยจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนกันยายน ปี 2567

 

  1. ปรับลดเงินประกันสุขภาพสำหรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant) รหัส 0-A จากเดิมจำนวน 3 ล้านบาท ให้เหลือเท่าก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คือ 40,000 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก และ 4 แสนบาทสำหรับผู้ป่วยใน และขยายการเปิดให้บริการการตรวจลงตราอิเล็กทรอนิกส์ (e-Visa) ซึ่งเดิมมีให้บริการระบบ e-Visa ณ สถานเอกอัครราชทูต / สถานกงสุลใหญ่ 47 แห่งเป็น 94 แห่งให้ครอบคลุมสถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ และสำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทยทุกแห่งทั่วโลก ภายในเดือนธันวาคม ปี 2567

 

3. มาตรการระยะยาว 

 

เริ่มใช้เต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบ Electronic Travel Authorization (eTA) สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับสิทธิยกเว้นการตรวจลงตรา เป็นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองคนต่างด้าว โดยการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

 

“มาตรการอำนวยความสะดวกเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวจะเป็นเหตุให้กระทรวงการต่างประเทศสูญเสียรายได้แผ่นดินปีละประมาณ 1.23 หมื่นล้านบาท ถือว่ายอดเงินไม่น้อย แต่หากเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เราเล็งไปที่ระดับ 8 แสนล้านบาท – 1 ล้านล้านบาท ซึ่งที่ประชุม ครม. เห็นชอบ” ชัยกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising