‘หนูไม่รู้ว่าหนูเกิดมาทำไม หนูรู้สึกว่าหนูเหมือนขยะ’ เสียงจากเด็กอายุ 4 ขวบที่บอกเล่าในช่วงการค้นหาตัวเอง เด็กไทยมากมายยังหลงทางและค้นหาตัวเองไม่พบ การค้นพบตัวเองสามารถเกิดขึ้นได้ หากแต่คนที่เป็นพ่อและแม่จะต้องเป็นแสงนำทางให้กับพวกเขาด้วยกระบวนการและวิธีคิดที่ถูกต้อง
งาน Alpha Skills Summit 2025 ร่วมพูดคุยกับ ชนัญญา ดอกรัก รองกรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง Know-Are Learning ถึงแนวทางที่พ่อแม่อยากสร้างบันไดขั้นแรกของการค้นหาตัวเองของลูกๆ ใน Gen Alpha บนเวที Dream Catcher: Future Career Guide โตแล้วไปไหน? คู่มือต่อยอดความฝัน สู่เส้นทางอาชีพในอนาคต
☹️เด็กมากมายไม่รู้ว่า ‘โตแล้วไปไหน’
การสร้างความรู้และทักษะด้านวิชาการเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอต่อการเปิดทางให้เด็กได้ค้นพบตัวเอง เพราะเด็กยังขาดแรงบันดาลใจ ยังไม่มีฝันของตัวเอง ไม่รู้ว่าโตแล้วไปไหน
จากประสบการณ์การทำงานด้านการพัฒนาเด็ก ชนัญญาพบว่า เด็กไทยโดยเฉพาะในเจนปัจจุบันนี้ 90% ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไร
😥สาเหตุคือ ‘ไม่มั่นใจในตัวเอง’
สาเหตุหลักของการที่เด็กไม่ค้นพบว่าตัวเองคืออะไร เกิดจากการขาด Self-Esteem หรือการขาดความมั่นใจในตัวเอง ชนัญญากล่าวว่า การสร้าง Self-Esteem ให้กับเด็ก ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่สำคัญในการที่เด็กจะค้นหาและค้นพบตัวเอง
📋เช็กลิสต์เรื่องที่ต้องสร้างให้กับเด็ก
✅️สร้าง Self-Esteem ให้เด็กตั้งแต่วัยก่อน 6 ขวบ เชื่อมั่นในตัวของเขาและรู้จักชื่นชมเขา เช่น แม้เขาจะบ่นว่าเหนื่อยหรือยาก ต้องชื่นชมว่าเก่งและกล้าหาญมากที่เปิดเผยความรู้สึกออกมา หรือในวัยที่โตขึ้น แม้จะผิดพลาด เช่น เกรดตก ก็ควรชื่นชมและให้กำลังใจในความพยามยาม แล้วค่อยๆ หาสาเหตุไปพร้อมกับลูก
✅️สร้าง Experience ตามช่วงวัย โดยช่วงก่อนอนุบาล การได้ออกไปเล่นดินทรายกับพ่อแม่ช่วยให้กล้ามเนื้อได้ออกแรง ช่วงวัยประถม อายุ 6-8 ขวบ เป็นช่วงให้เขาลองทำงานบ้าน โดยทำเป็นตัวเลือกและเป็นภารกิจให้เขาทำและได้สิ่งแลกเปลี่ยน และพ่อแม่ก็ต้องทำงานบ้านไปพร้อมกับเขาด้วย จากนั้นในวัย 12-15 ปี ให้เขาลองหาทักษะที่ชื่นชอบเป็นจุดเริ่ม เมื่อถึงวัย 15-16 ปี สมองส่วนการตัดสินใจจะพัฒนาและเติบโตได้เต็มที่ ในเวลานั้นเราจะใช้คำถามที่เป็นเหตุเป็นผล หรือการลองให้เขาได้เป็นเจ้าของการตัดสินใจของตัวเอง
✅️สร้างประสบการณ์อาชีพให้กับเขา เมื่อเขามีความชอบ เช่น เต้น, เล่นเกม, ทำอาหาร, อยากเป็นสัตวแพทย์ ต้องลองให้เขาได้เจอประสบการณ์นั้น เช่น อยากเป็นสัตวแพทย์ ให้ลองไปคุยกับคนไข้ ไปดูการรักษา อยากลองแคสต์เกม ให้ลองตั้งเป้าหมายด้วยตัวเขาเองว่าจะทำอย่างไร
✨️พหุปัญญา 9 ด้าน ต่อยอดสู่การค้นพบตัวเอง
เด็กมีความสามารถมากกว่าการเรียนรู้ด้านตรรกะและคำนวณ เพราะแท้จริงแล้วปัญญาสามารถสร้างได้อีกมากถึง 9 ด้าน คือ ภาษา, ตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์, ดนตรี, มิติสัมพันธ์, การเคลื่อนไหวร่างกาย, มนุษยสัมพันธ์, การเข้าใจตนเอง, ธรรมชาติวิทยา และการคิดใคร่ครวญ ทั้ง 9 ด้านนี้คือสิ่งที่เด็กสามารถต่อยอดไปสู่การค้นพบตัวเองของเขาได้
💪🏼Soft Skills ที่ต้องสร้างให้ลูก
🔹️Self Control
ฝึกให้ลูกควบคุมตัวเอง เช่น หากเขาอยากเล่นเกมแต่มีการบ้าน ลองบอกเขาว่ามีทั้งหมด 2 ช่วง คือ ช่วงการบ้านและการเล่นเกม ให้เขาจัดตาราง จัดการตัวเอง หากเขาทำไม่ได้ อย่าดุเขา ต้องถามเขาว่าสาเหตุคืออะไร
🔹️Emotion Control
ต้องสอนให้เขารู้จักควบคุมอารมณ์ อนาคตจะช่วยให้เขาควบคุมอารมณ์ตามสถานการณ์ที่จะต้องเจอได้ ปัจจุบันการซึมเศร้าของเด็กเริ่มต้นตั้งแต่ในวัย 4 ขวบ โดยเด็กรู้สึกไร้ค่า ไร้ตัวตน มองตัวเองเหมือนขยะเมื่อต้องเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ
🔹️Growth Mindset
ในยุคปัจจุบันความท้อแท้ หมดไฟ และ Burnout เพิ่มสูงมาก การสร้าง Mindset ที่ดีอย่าง Growth Mindset แบบยืดหยุ่นและพัฒนาไปข้างหน้า จะช่วยให้เด็กมุ่งมั่นไปที่เป้าหมายและมีเกราะป้องกันที่แข็งแรง
บันไดแรกสุดของการค้นพบตัวเองคือการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเขาเอง ก่อนที่จะให้เขาได้รู้จักตัวตนต่างๆ ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ให้ได้เรียนรู้ รวมถึงการให้เขาได้เป็นเจ้าของการตัดสินใจและการคิดของตัวเอง ตัวแปรสำคัญ คือ ‘พ่อแม่’ และผู้ปกครอง ที่จะต้องเชื่อมั่นในตัวเขาและเดินทางร่วมไปกับเขาในการพัฒนาตัวเอง