โจทย์ใหญ่ CEO คนใหม่ของ Gucci ต้องเร่งกอบกู้รายได้และกำไรให้แบรนด์หรูกลับสู่ยุครุ่งเรืองให้ได้ แต่ไม่ง่ายเพราะต้องฝ่าฟันมรสุมเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นตัวการทำแบรนด์หรูขายไม่ออก
ในปี 2024 Kering บริษัทแม่ของ Gucci เผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก เมื่อแบรนด์เรือธงอย่าง Gucci สูญเสียความนิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน จนมูลค่าตลาดของบริษัทลดลงเหลือเพียง 1 ใน 6 เมื่อเทียบกับของคู่แข่งอย่าง Hermès
กระทั่งล่าสุดบริษัทได้แต่งตั้ง Stefano Cantino ขึ้นมารับตำแหน่ง CEO คนใหม่ของ Gucci แทน Jean-François Palusโดยจะเริ่มต้นทำงานในวันที่ 1 มกราคม 2025 ภายใต้โจทย์สำคัญคือ หาวิธีฟื้นฟูแบรนด์และฝ่าฟันช่วงที่ยากลำบากไปให้ได้ ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทที่ผู้นำคนใหม่ต้องรับผิดชอบและทำให้สำเร็จ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Kering วิกฤตหนัก! Gucci เสื่อมความนิยมในจีน หุ้นร่วงเอาร่วงเอา จน Market Cap หายไป 40% ใน 5 ปี
- ศึกชิงบัลลังก์ราชินีแบรนด์หรูสะเทือนโลก! เมื่อ CHANEL ขึ้นราคาไม่หยุด จนลูกค้าเริ่มลังเล มอง Hermès คุ้มกว่าไหม?
- หุ้นหรูร่วงระนาว! Kering เตือน ยอดขายไตรมาสแรกของ Gucci แบรนด์ (ที่เคยเป็น) ลูกรัก จะลด 20% หลังยอดทรุดหนักในเอเชีย
“ที่ผ่านมา Jean-François Palus ซึ่งเป็น CEO คนเก่า เคยอุทิศตนและภักดีต่อแบรนด์ Gucci มาตลอดช่วงการทำงาน และในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ในฐานะ CEO คนใหม่ เรามีภารกิจนำแบรนด์กลับมาเป็นผู้นำอีกครั้งและมั่นใจว่าเราจะประสบความสำเร็จ” Stefano Cantino กล่าว
สำหรับ Stefano Cantino ก่อนหน้านี้เคยทำงานให้กับแบรนด์ Louis Vuitton เป็นเวลา 5 ปีโดยมีหน้าที่รับผิดชอบด้านการสื่อสารและภาพลักษณ์ของแบรนด์ นอกจากนี้ยังเคยทำงานที่ Prada เป็นเวลา 20 ปี ในหลายตำแหน่ง โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนที่จะออกจากกลุ่มบริษัทคือ ผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและการตลาด
จากนั้น Stefano Cantino ก็ได้เข้ามารับตำแหน่งรอง CEO ของ Gucci ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกว่าก่อนขึ้นรับตำแหน่ง CEO เขาก็ได้สะสมประสบการณ์ทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การปรับผังโครงสร้างผู้บริหารครั้งใหญ่เกิดขึ้นในช่วงที่ Kering ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแบรนด์อื่นๆ เช่น Balenciaga และ Yves Saint Laurent กำลังพยายามฟื้นฟู ในช่วงที่อุตสาหกรรมสินค้าหรูกำลังเจอกับปัญหาเศรษฐกิจและพฤติกรรมลูกค้าระดับบนที่เปลี่ยนไป
รวมถึงที่ผ่านมา Gucci ได้ปรับกลยุทธ์หลายอย่าง ทั้งลดการพึ่งพาการออกแบบตามฤดูกาล และหันไปเน้นลูกค้าที่มีรสนิยมและมีกำลังซื้อสูง แต่ในปี 2024 Kering คาดว่าภาพรวมรายได้และกำไรจะยังคงลดลง เนื่องจากความต้องการในตลาดจีนชะลอตัว ด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนลดค่าใช้จ่าย
สถานการณ์ดังกล่าวสอดรับกับที่นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs ออกมาเตือนว่า ในเดือนตุลาคมนี้ กลุ่มบริษัทจะไม่ได้รับอานิสงส์จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนได้ในทันที ซึ่งจากนี้ต้องรอประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
อ้างอิง: