×

ย้อนรอย GT200 ในตำนาน กับ ‘คำตอบ’ ของ ‘คำถาม’ ที่ว่า กลาโหมจ่าย 7.5 ล้านบาท เพื่อตรวจพลาสติกเปล่าทำไม?

โดย THE STANDARD TEAM
06.06.2022
  • LOADING...
GT200

กระแสเครื่อง GT200 หรือเครื่องตรวจจับสสารระยะไกล กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนและปรากฏความเคลื่อนไหวบนหน้าสื่อออนไลน์อีกครั้งในปี 2565 หลังเงียบหายไปหลายปี แม้จะมีการพิสูจน์ออกมาเป็นรูปธรรมให้เห็นแล้วว่า เครื่องดังกล่าวเป็นเพียงอุปกรณ์ลวงโลก เพราะไม่สามารถนำมาใช้งานตรวจจับระเบิดหรือสิ่งผิดกฎหมายได้จริง เนื่องจากภายในตัวเครื่องนั้นไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าการเป็นกล่องพลาสติกสีดำที่มีแท่งเหล็กหรือหนวดกุ้งติดประดับอยู่ปลายเครื่อง

 

THE STANDARD ชวนผู้อ่านย้อนทบทวนความเป็นมาเป็นไปของเครื่อง GT200 แบบเข้าใจง่าย ว่ามีจุดกำเนิดตรงไหน จุดสิ้นสุดอยู่แห่งใด และทำไมถึงกลับมาเป็นกระแสบนหน้าสื่อให้คนไทยได้ติดตามมหากาพย์ GT200 อีกครั้ง

 

จุดกำเนิดของ GT200 

ย้อนกลับไป พ.ศ. 2544 บริษัท โกลบอล เทคนิคัล จากสหราชอาณาจักร ผลิต ‘เครื่องตรวจจับสสารระยะไกล’ (GT200) ออกมาวางขาย โดยมีโฆษณาชวนเชื่อว่าสามารถตรวจจับสิ่งผิดกฎหมายต่างๆ ได้ด้วยพลังแม่เหล็กระดับสูงที่อยู่ในตัวเครื่อง และเปลี่ยนโหมดไปตรวจหาระเบิดหรือยาเสพติดเพียงเปลี่ยนการ์ดเซ็นเซอร์ให้เป็นการค้นหาของแต่ชนิด และที่สำคัญคือเป็นเครื่องที่ไม่ใช้แบตเตอรี่ เพราะ GT200 คือนวัตกรรมสุดมหัศจรรย์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากร่างกายคนถือเครื่องถ่ายโอนลงมาให้เครื่องทำงานได้แบบไม่ต้องชาร์จให้เปลืองค่าไฟ

 

นอกจากนี้หลังการปรากฏตัวของ GT200 ยังพบว่า ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันมีอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในลักษณะเดียวกันในชื่อ ADE 651 และ ALPHA 6 ทยอยออกมาวางขายในตลาด

 

ต่อมา พ.ศ. 2548-2552 มีการเปิดเผยโดยสำนักข่าวอิศรา ที่อ้างหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า หน่วยงานในประเทศไทยอย่างกองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, กรมราชองครักษ์, สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้สั่งซื้อและนำเข้าเครื่อง GT200 เข้ามาเป็นอุปกรณ์สนับสนุนการทำงานให้เจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุผลใช้เพื่อรักษาและดูแลความปลอดภัย จำนวน 836 เครื่อง รวมเป็นเงิน 759.14 ล้านบาท โดย สตง. ยืนยันว่า การจัดซื้อเครื่อง GT200 ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี 

 

และในรายละเอียดยังพบอีกว่า เครื่อง GT200 ที่แต่ละหน่วยงานซื้อมานั้นมีราคาที่ถูก-แพงแตกต่างกันออกไป โดยกองทัพเรือซื้อมาในราคาเฉลี่ยต่อเครื่องแพงที่สุด ด้วยราคาเครื่องละ 1.38 ล้านบาท ขณะที่กรมศุลกากรซื้อมาถูกสุดเฉลี่ยเครื่องละ 4.26 แสนบาท

 

เมื่อเครื่องตรวจระเบิด ‘ไม่เจอระเบิด’ 

จากสรรพคุณและความสามารถที่น่าพิศวงของเครื่อง GT200 ที่ทำหน้าที่ได้ครอบจักรวาลแบบขัดหลักการวิทยาศาสตร์หลายด้าน ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งไทยและเทศจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าเจ้าเครื่อง GT200 คืออุปกรณ์ลวงโลก 

 

อีกทั้งยังถูกตั้งคำถามอย่างหนักจากสังคมไทย โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดข้างโรงแรมเมอร์ลิน จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 และอีกครั้งที่ตลาดสดในจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2552 ทั้งที่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ใช้ GT200 ตรวจหาวัตถุระเบิดในพื้นที่ก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่พบระเบิดที่คนร้ายซ่อนไว้แต่อย่างใด

 

สังคม ‘เสียงแตก’ GT200 ของจริงหรือเก๊?

หลังมีข่าวการนำ GT200 เข้ามาใช้งานในประเทศไทย ทำให้เริ่มเกิดปัญหา ‘เสียงแตก’ ของกลุ่มที่เห็นและไม่เห็นด้วยในประสิทธิภาพของเครื่องจับสิ่งผิดกฎหมายดังกล่าว

 

ระหว่างภาคประชาชนและกลุ่มนักวิชาการที่ไม่เชื่อในเครื่อง GT200 โดยหนึ่งในนั้นคือ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาเปรียบเทียบ GT200 เป็นอุปกรณ์ที่ไม่ต่างอะไรกับ ‘ไม้ล้างป่าช้า’ เพราะไม่สามารถใช้หลักการวิทยาศาสตร์ใดๆ มารับรองในการทำงาน และไม่สามารถทำหน้าที่ตามที่มีคำโฆษณาอวดอ้างได้เลย

 

กับบุคลากรของหน่วยงานความมั่นคงที่สั่งซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวยืนยันหนักแน่นว่า GT200 ใช้งานได้จริง ยกตัวอย่าง พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา เคยพูดไว้สมัยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ว่า “GT200 ใช้ได้จริง จากประสบการณ์ทั้งหมด 300 กว่าครั้งที่ทำได้ และอนุญาตให้ใช้ต่อ”

 

ขณะที่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เคยนิยาม GT200 ไว้ในหนังสือของตนเองที่ชื่อ ทักษิณวิปโยค ว่า “GT200 คือเครื่องตรวจหาสารระเบิดที่ผลิตในต่างประเทศ มีความสามารถในการค้นหาสารวัตถุระเบิดได้ดีเยี่ยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยใช้หลักการค้นหาสนามแม่เหล็ก จึงสามารถตรวจจับสารวัตถุระเบิดได้ทั้งในอากาศ บนดิน ใต้ดิน หรือกระทั่งในน้ำ”

 

ความจริงปรากฏ ‘GT200 = อุปกรณ์ลวงโลก’

จากความสงสัยของผู้คนในสังคมที่พรั่งพรูขึ้นทุกขณะ ทำให้รัฐบาลในสมัยของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้น สั่งให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งานของ GT200 

 

และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 อภิสิทธิ์ออกมาแถลงผลการทดสอบ พบว่า ผลการทดสอบ GT200 จำนวน 20 ครั้ง ปรากฏว่าหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง ซึ่งทางสถิตินั้นไม่ต่างอะไรจากการ ‘เดาสุ่ม’ ในขณะที่สื่ออย่าง BBC ได้นำผลเสนอการผ่าพิสูจน์ GT200 พบว่า เป็นแค่พลาสติกธรรมดา ข้างในว่างเปล่า และมีต้นทุนผลิตเพียง 213 บาทเท่านั้น

 

และจากความจริงที่ปรากฏ ทำให้อภิสิทธิ์มีคำสั่งให้ทุกหน่วยงานยกเลิกการจัดซื้อโดยทันที

 

ข้ามไปเมื่อ พ.ศ. 2559 ตอนนั้นเครื่อง GT200 เจ้าปัญหา ถูกพูดถึงทั้งในไทยและต่างชาติ หลังชัดเจนว่าเป็นอุปกรณ์ลวงโลก โดยศาลอังกฤษมีคำพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ประมาณ 400 ล้านบาทของ จิม แมคคอร์มิก ผู้ผลิต GT200 เป็นจำนวนเงิน 7.9 ล้านปอนด์ (ประมาณ 400 ล้านบาท) และนำเงินจำนวนนี้ไปชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อเครื่องมือนี้ โดยก่อนหน้านี้ศาลได้พิพากษาจำคุก จิม แมคคอร์มิก ไปแล้ว

 

ขณะที่ในประเทศไทย ประเด็นของ GT200 เริ่มเงียบลง ทางการไทยเรียกเก็บอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าโกดัง จนสื่อเรียกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็น ‘ค่าโง่’ ที่หน่วยงานของไทยต้องจ่ายเป็นราคาเกือบพันล้านบาท และจากวันนั้นแม้จะมีการหาผู้กระทำความผิดในการจัดซื้อ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีรายละเอียดความคืบหน้า จนประเด็น GT200 เงียบหายเข้ากลีบเมฆในที่สุด

 

GT200 คัมแบ็กหน้าสื่อ บนเวทีอภิปรายงบปี 66

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ได้ปัดฝุ่นประเด็น GT200 ในระหว่างการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยอภิปรายตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณกระทรวงกลาโหมที่ไม่ปรากฏในเอกสารงบประมาณ ระบุว่า ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมากองทัพบกทำสัญญาจ้างให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ไปตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท  คิดเป็นเงินมูลค่ารวม 7.57 ล้านบาท 

 

โดยเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ว่าเหตุใดกระทรวงกลาโหมจึงเอาเงินภาษี 7.57 ล้านบาท ไปจ้างตรวจสอบกล่องพลาสติกเปล่าสีดำในราคาชิ้นละ 10,000 บาท ทั้งหมด 757 ชิ้น เนื่องจากผู้คนทั้งโลกต่างเข้าใจแล้วว่าข้างในเครื่อง GT200 นั้นไม่มีอะไรเลย ทำไมกระทรวงได้ใช้งบเพื่อแงะกล่องพลาสติกขันน็อตตัวเล็กๆ 14 ตัว ในราคา 10,000 บาท

 

แต่ประเด็นการใช้งบตรวจสอบ GT200 ไม่จบเท่านั้น เมื่อสำนักข่าวอิศราได้ขยายผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว พบว่า กองทัพบกได้ทำเอกสารว่าจ้างให้ สวทช. ในการตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 และมีการแบ่งจ้าง 2 ครั้ง รวมจำนวน 757 เครื่อง เป็นวงเงิน 7.57 ล้านบาท ดังนี้

 

  • ครั้งที่ 1 ช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 กองทัพบกได้ทำสัญญาจ้าง สวทช. ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 ในราคาเครื่องละ 10,000 บาท จำนวน 320 เครื่อง วงเงิน 3.2 ล้านบาท (เฉลี่ยราคาเครื่องละ 10,000 บาท)
  • ครั้งที่ 2 มีการประกาศผลเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 โดยมีการจ้างให้ตรวจสอบเพิ่มจำนวน 437 เครื่อง วงเงิน 4.37 ล้านบาท 

 

กลาโหมชี้แจง จ้าง สวทช. ตรวจ GT200 เพราะทำตามคำแนะนำอัยการสูงสุด เพื่อสู้คดี-เรียกค่าเสียหาย

ถัดมา วันที่ 4 มิถุนายน พล.อ. คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงกรณีข้างต้น ระบุว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศในการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่กองทัพบก (ทบ.) แจ้งว่า ในคดีอาญา กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขาย GT200 กับพวกรวม 5 คน ต่อศาลแขวงไปแล้ว ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินแล้วว่ามีความผิด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นฎีกา 

 

ส่วนเรื่องคดีทางปกครอง กองทัพบกได้ฟ้องบริษัทผู้ขายด้วย โดยศาลปกครองกลางได้ให้ผู้ถูกฟ้องต้องชำระหนี้กับกองทัพบกกว่า 683 ล้านบาท 

 

ต่อมาบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นว่า สาระสำคัญของคดีเป็นเรื่องของการตรวจเครื่อง GT200 ว่าไม่สามารถใช้งานได้ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง

 

โดย พล.อ. คงชีพ กล่าวย้ำว่า เป็นการดำเนินการตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ชี้ว่ากองทัพบกควรจะตรวจสอบทุกเครื่องว่าสามารถใช้งานได้หรือไม่ โดยได้ตั้งงบประมาณตามที่ สวทช. เสนอมาทั้งหมด ทำตามขั้นตอนเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

 

สวทช. ยืนยัน ตรวจสอบ GT200 เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล และค่าบริการถูกกว่าต่างประเทศ

วันที่ 4 มิถุนายน สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่มีชื่อพัวพันกับประเด็นข้างต้น ได้ออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน โดยยืนยันว่า การตรวจทดสอบ GT200 เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) ของ สวทช. เป็นหน่วยให้บริการ ซึ่งดำเนินการวิเคราะห์และทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้มาตรฐานสากล ได้รับการประสานจากกรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) ทุกเครื่องทั้ง 757 เครื่อง ว่าใช้งานได้หรือไม่ ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการดำเนินคดีปกครอง การทดสอบจึงต้องดำเนินการตามหลักการทดสอบทุกรายการที่มีการดำเนินการทดสอบเครื่อง GT200 และใช้เป็นบรรทัดฐานของข้อมูลประกอบการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้

 

การดำเนินการทดสอบทุกรายการต้องดำเนินการตามหลักการที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนและเชื่อถือได้ในชั้นการพิจารณาของศาล ทั้งการตรวจวัดไฟฟ้าสถิต การแพร่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง รวมถึงการผ่าพิสูจน์เครื่อง

 

สำหรับค่าบริการทดสอบทั้งหมด ศูนย์ PTEC คำนวณจากการใช้วัสดุและอุปกรณ์ทดสอบ ห้องปฏิบัติการทดสอบ ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการใช้สารเสพติดและวัตถุระเบิดในการทดสอบ เพื่อให้ได้คุณภาพของผลการทดสอบตามเอกสารว่าจ้างที่ระบุทุกรายการ ทั้งนี้ ค่าบริการดังกล่าวมีราคาถูกกว่าการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการต่างประเทศ

 

รองโฆษก อสส. ยอมรับ แนะกองทัพตรวจ GT200 จริง ก่อนคดีถึงที่สุด และประเด็นตกไปไม่ต้องตรวจแล้ว 

วันนี้ (6 มิถุนายน) ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก อสส. ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ถึงกรณีที่กระทรวงกลาโหมบอกว่า การจ้าง สวทช. เพื่อตรวจ GT200 เป็นการทำตามคำแนะนำของอัยการสูงสุดในการใช้เป็นหลักฐานเพื่อสู้คดี 

 

โดยสามารถสรุปใจความจากที่ประยุทธให้สัมภาษณ์ได้ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 กองทัพบกได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อขอให้จัดพนักงานอัยการสำนักงานคดีปกครองว่าต่างฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด กับพวกรวม 4 คน เพื่อให้รับผิดตามสัญญาปกครองกรณีซื้อ-ขายเครื่อง GT200 รวม 12 สัญญา ทุนทรัพย์ขณะนั้นยังไม่รวมดอกเบี้ยคือ 683,900,000 บาท เมื่อได้รับเรื่องมาในเดือนมกราคม 2560 อัยการสูงสุดได้มอบให้สำนักงานคดีปกครอง และมอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 5 เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีนี้

 

โดยจุดสำคัญอยู่ที่ระหว่างตรวจสำนวน ทางอัยการเห็นว่าการที่จะบอกว่าเครื่องนี้ (GT200) ไม่มีคุณสมบัติตามสัญญาหรือบอกว่าเป็นเครื่องที่ใช้การไม่ได้ เป็นสาระสำคัญในการที่จะบอกว่าคดีนี้แพ้หรือชนะ จึงทำหนังสือแจ้งไปยังกองทัพบกให้ดำเนินการเรื่องนี้ เนื่องจากระหว่างการพิจารณาคดี เครื่อง GT200 จะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการดำเนินคดี

 

กระทั่งกระบวนการเดินทางมาถึงวันที่ 7 มีนาคม 2565 ภายหลังศาลปกครองสูงสุดอนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ หมายความว่าคำพิพากษาที่ศาลปกครองกลางให้บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ชำระเงินตามที่อัยการฟ้องให้กองทัพบก 683,441,561.64 บาท จึงเป็นที่สุด ทำให้กระบวนการและรายละเอียดว่าจะต้องตรวจเครื่อง GT200 หรือไม่ จึงไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะเลยตรงนั้นมาแล้ว 

 

ดังนั้นประเด็นที่อัยการมีข้อสั่งการให้กองทัพบกตรวจ GT200 เพราะ ณ เวลานั้น เป็นสาระสำคัญในการต้องชี้แพ้-ชนะคดี แต่ ณ เวลานี้ คดีเดินมาถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2565 แล้ว ส่วนรายละเอียดการตรวจจึงตกไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องไปพูดถึงตรงนั้น

 

ส่วนที่สังคมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมตัวเลขของบประมาณถึงยังตั้งอยู่ในระบบงบประมาณของหน่วยงานรัฐ ทั้งที่คดีเดินมาถึงที่สุดแล้ว

 

ประยุทธกล่าวว่า อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ตนเข้าใจว่าตรงนี้อาจจะเป็นเรื่องการทำงบที่ค้างท่อเก่ามานาน แต่โดยหลักการเชื่อว่าหลักใหญ่ใจความเป็นไปอย่างที่ชี้แจงไปข้างต้นแล้วคือ การตรวจ GT200 เป็นหนึ่งในสาระสำคัญในการต้องชี้แพ้-ชนะคดี แต่ปัจจุบันได้สิ้นสุดไปแล้ว

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising