เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว GT200 คือเครื่องมือตรวจหาวัตถุระเบิดและสารเสพติดที่กองทัพมั่นใจในประสิทธิภาพ
ต่อมาเมื่อพบว่ามันคือเครื่องมือลวงโลก ในชั้นการตรวจสอบของ ป.ป.ช. GT200 ได้กลายเป็นเครื่องลางทางใจราวกับ ‘พระเครื่อง’ และเป็นเหตุผลให้การตรวจสอบเพื่อเอาผิดทำได้ยาก
THE STANDARD รวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆ ที่เคยนำเสนอมหากาพย์ GT200 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติของเครื่องมือนี้ที่ผ่าออกมาแล้วพบว่ามันว่างเปล่า รวมถึงมูลค่าความเสียหายที่ประเทศต้องได้รับ และยังไม่มีวี่แววว่าจะได้รับกลับคืนมา
สำนักข่าวอิศรา อ้างหนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2559 ระบุว่า
สตง. ได้ตรวจสอบการจัดซื้อเครื่อง GT200 ของหน่วยงานรัฐ จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมราชองครักษ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ซึ่งจัดซื้อตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548-2552 จำนวน 34 สัญญา จำนวน 836 เครื่อง งบประมาณรวม 759.14 ล้านบาท
สตง. ยังยืนยันด้วยว่า การจัดซื้อเครื่อง GT200 ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และยังไม่พบว่ามีการทุจริตหรือมีเหตุที่เชื่อได้ว่ามีการจงใจที่จะกระทำผิดใดๆ ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
บีบีซี เคยนำเสนอการผ่าพิสูจน์ GT200 เผยให้เห็นว่าอุปกรณ์นี้เป็นแค่พลาสติกธรรมดา
ขณะที่รายการ เช้าข่าวข้น ทางช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี เมื่อปี 2553 ได้เชิญ พลเอก ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ อดีตประธานที่ปรึกษากองบัญชาการกองทัพไทย นำเครื่อง GT200 ส่วนตัว พร้อมการ์ดต่างๆ มาชำแหละให้ดู พบว่าทั้งตัวเครื่องและการ์ดว่างเปล่า
ส่วนสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า ต้นทุนการผลิต GT200 อยู่ที่เพียง 5 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 212 บาทเท่านั้น
เมื่อปี 2559 ศาลอังกฤษมีคำพิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์ ประมาณ 400 ล้านบาท ของ Mr.Jim McCormick ผู้ผลิต GT200 เป็นจำนวนเงิน 7.9 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 400 ล้านบาท และนำเงินจำนวนนี้ไปชดเชยแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อเครื่องมือนี้โดยก่อนหน้านี้ศาลได้พิพากษาจำคุก Mr.Jim McCormick ไปแล้ว
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) รับหน้าที่ตรงนี้ เพราะมีกฎหมายด้านความร่วมมือระหว่างประเทศอยู่ แต่ปัจจุบันยังไม่ปรากฏความคืบหน้า
ในช่วงเวลาเดียวกัน สตง. มีแนวคิดนำเรื่องจีที200 กลับมาตรวจสอบอีกครั้ง แต่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. สั่งไม่ต้องตรวจสอบ เพราะทุกประเทศทั่วโลกก็ซื้อ
ส่วนการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น นายกฯ กล่าวว่า “ถ้าร้องได้ก็ร้อง”
ขณะที่การฟ้องเอาผิดฐานฉ้อโกงจากบริษัทตัวแทนจำหน่าย โดยอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท แจ๊คสัน อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้แทนจำหน่าย GT200
โดยเมื่อ 28 มีนาคม 2561 ศาลแขวงดอนเมือง พิพากษายกฟ้อง เหตุยังไม่มีพยานหลักฐานน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้ว่า บริษัทฯ รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการจัดทำแคตตาล็อกแสดงคุณสมบัติเครื่องตรวจวัตถุระเบิดอันเป็นเท็จ
ล่าสุด 29 สิงหาคม 2561 นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการไต่สวนข้อเท็จจริงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที200 (GT200) และอัลฟ่า 6 ที่ยังเหลืออยู่ ว่าเรื่องดังกล่าวยังคงพิจารณาอยู่ และยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่มีการปล่อยให้ขาดอายุความแน่นอน แต่การจะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ยาก เพราะบางครั้งไม่ได้อยู่ท่ีมูลค่าของเครื่องแต่เป็นเหมือนความเชื่อ เหมือนพระเครื่อง ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่นำไปใช้แล้วเขารู้สึกว่าคุ้มค่า แต่บางส่วนก็มองว่าราคาเครื่องไม่น่าจะแพงขนาดนั้น อย่างไรก็คงจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม
สำหรับคดีนี้มีนายทหารระดับสูงถูกฟ้องร้องเพียง 2 อดีตเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกในขณะนั้น คือ พล.ท. ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ และ พล.ท. คำนวณ เธียรประมุข
ความสงสัยในตัวเครื่อง GT200 เริ่มในเว็บไซต์พันทิป ขณะที่การทำงานที่ผิดพลาดบ่อยครั้งในพื้นที่ภาคใต้ทำให้สื่อมวลชนเริ่มเกาะติดและขุดคุ้ย
ในเวลานั้นบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาล กองทัพ และหน่วยงานที่ซื้อไปใช้อย่างสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต่างออกมายืนยันว่าเครื่อง GT200 ใช้ได้จริง ก่อนที่ผลการทดสอบโดยคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยืนยันว่าเครื่องนี้มีค่าเท่ากับการเดาสุ่ม
ภาพประกอบ: Nisakorn R.
อ้างอิง: