Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล นวัตกรรมการรักษาที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาหรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล เป็นนวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์ก่อนที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายปี แต่ในช่วงแรกการใช้งานยังไม่แพร่หลาย เพราะการเดินทางมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลยังทำได้ปกติ จนกระทั่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 Telemedicine จึงกลายเป็นนวัตกรรมที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ความต้องการยิ่งเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่การระบาดหนัก มีผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่สถานพยาบาลได้ ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จึงต้องร่วมมือเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการ นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย, บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค และกลุ่มทรู ในโครงการ ‘Telehealth Together’ คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี เพื่อร่วมกันให้บริการปรึกษาหมอออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ‘ทรู เฮลท์’ สำหรับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ครอบคลุม 3 โรค ได้แก่ โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้ระบบ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล เชื่อมโยงผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ความร่วมมือระหว่างเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย, บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค และกลุ่มทรู ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและข้อมูลที่เกื้อหนุนกัน จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลให้ยังคงได้รับการรักษาต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดความแออัดในการเดินทางไปโรงพยาบาล ช่วยยกระดับบริการสาธารณสุข เพื่อรองรับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ของผู้ป่วยที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้สะดวกยิ่งขึ้น
ตลอดระยะเวลากว่า 17 ปี เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่ายมีเครือข่ายกว่า 1,300 แห่งในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ และมีคนไข้ในเครือข่ายรวมกว่า 600,000 คน มุ่งมั่นดูแลรักษาโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากลมาโดยตลอด รศ.นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย กล่าวว่า “แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่สถานพยาบาล จำนวนการใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของแต่ละโรงพยาบาลลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย และการติดตามการรักษาทำได้ยากมากขึ้น เชื่อว่าโครงการ ‘Telehealth Together’ คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ซึ่งก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค ในฐานะผู้ค้นคว้าวิจัยพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม ที่ตั้งใจยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนไทยให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นตามนโยบาย ‘สุขภาพดีเข้าถึงได้’ (Access to Medicines) วิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ จีเอสเค กล่าวว่า “เป้าหมายสำคัญที่จีเอสเคยึดมั่นมาโดยตลอดคือ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง เมื่อสถานการณ์และการดำเนินชีวิตของผู้คนต้องปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากโรคโควิด-19 เราจึงมองหาโซลูชันที่จะตอบโจทย์การเข้าถึงนี้ให้ยังคงต่อเนื่องตามพฤติกรรมของผู้ป่วยและผู้บริโภคที่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป เราต้องการที่จะก้าวล้ำหน้าโรคต่างๆ ด้วยความร่วมมือของ 3 ฝ่ายครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญที่เครือข่าย EACC และบุคลากรทางการแพทย์, ทรู เฮลท์ และจีเอสเค ร่วมกันทำงาน โดยตั้งเป้าความสำเร็จคือ การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยด้วยการนำนวัตกรรม Telehealth เข้ามา โดยจีเอสเคให้การสนับสนุนด้านข้อมูลทางการแพทย์ (Scientific Information) และนวัตกรรมทางสุขภาพที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน เพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนร่วมสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์โดยรวม”
เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง ผ่าน True HEALTH
วิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้มีการปรับใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิต รวมถึงภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า กลุ่มทรู ผู้นำการให้บริการสื่อสารและดิจิทัลครบวงจรในประเทศไทย มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสื่อสารและดิจิทัลเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไทยและประเทศไทย โดยในด้านสาธารณสุข กลุ่มทรูได้พัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ทรู เฮลท์ เพื่อร่วมดูแลคนไทยให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง สามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน True HEALTH ได้จากทุกที่ สะดวก รวดเร็ว และทันท่วงที โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล และได้ต่อยอดฟีเจอร์บนแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ‘ทรู เฮลท์’ เพิ่มช่องทางให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจของโรงพยาบาลต่างๆ ที่ร่วมในโครงการ ‘Telehealth Together’ คลินิกออนไลน์ เพื่อสุขภาพดี สามารถนัดหมายและปรึกษาแพทย์ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งการโทร แชต และวิดีโอคอลล (VDO Call) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพเหมือนกับที่โรงพยาบาล โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ลดความเสี่ยงติดเชื้อในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น