×

GSK ส่งต่อความเชี่ยวชาญการใช้ AI ในกระบวนการพัฒนายานวัตกรรมบนเวที ‘AI in Drug Discovery: Ahead Together for Future Healthcare’ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
15.11.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • GSK พร้อมด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล, บพข. และ depa จัดงาน ‘AI in Drug Discovery: Ahead Together for Future Healthcare’ เวทีแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้ AI ในกระบวนการพัฒนายานวัตกรรม
  • การจัดงานครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ GSK ที่พร้อมสนับสนุนภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการด้านเทคโนโลยี AI เพื่อสุขภาพ ตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผนวกกับความสามารถของบุคลากรและเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวนำการป้องกันโรคภัยต่างๆ  
  • วิริยะกล่าวว่า AI ทำให้เห็นความเป็นไปได้เร็วขึ้น ใช้งบประมาณน้อยลง ใช้เวลาน้อยลง ส่งผลให้ขยับเป้าหมายได้ชัดขึ้น นี่เป็นโอกาสที่ดีที่ GSK จะนำความรู้ที่มีมาแบ่งปันและส่งต่อองค์ความรู้ในระดับสากล เพื่อให้นักวิจัยของไทยสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วไปต่อยอดได้ทันที

ปัจจุบันเทคโนโลยี AI มีบทบาทสำคัญต่อวงการเฮลท์แคร์อย่างมาก ทั้งกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย ระบบการจัดการภายในองค์กร ข้อมูลคนไข้ การวินิจฉัยโรค ไปจนถึงการคิดค้นยา เพื่อให้นักวิจัยค้นพบแนวทางการผลิตยาที่ถูกต้องได้อย่างรวดเร็ว คาดการณ์ว่าในอนาคตหากมีการรวมพลังเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดแพลตฟอร์มคิดค้นยาที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามามีส่วนร่วม จะเกิดเป็นพื้นฐานสำคัญในการในการพัฒนาศักยภาพของวงการเฮลท์แคร์  

 

  

ดูเหมือนอนาคตที่ว่าอยู่ใกล้แค่เอื้อม เมื่อ GSK หรือ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาด้านชีวเภสัช (Biopharma) และเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการพัฒนาและคิดค้นยานวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล, หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘AI in Drug Discovery: Ahead Together for Future Healthcare เพื่อนำแนวทางการใช้ AI ในกระบวนการพัฒนายานวัตกรรม และผลักดันโครงการด้านเทคโนโลยี AI ในประเทศให้มีความก้าวหน้า มุ่งสู่อนาคตในการดูแลสุขภาพ โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และเทคโนโลยีด้านสุขภาพ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติ  

 

มากไปกว่านั้น เทคโนโลยี AI ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการคิดค้นยาและวัคซีนนวัตกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นฐานนวัตกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-Curve) ใหม่ของประเทศไทย สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของประเทศ 

 

การจัดงานในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของ GSK ที่พร้อมสนับสนุนภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการด้านเทคโนโลยี AI เพื่อสุขภาพอย่างเต็มที่ ตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาผนวกกับความสามารถของบุคลากรและเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวนำการป้องกันโรคภัย อีกทั้งแบ่งปันองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ของ GSK ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ GSK ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การเผยแพร่ผลงานวิจัยของ GSK ผ่านเว็บไซต์ของ GSK การจัดสัมมนาและฝึกอบรมในหัวข้อต่างๆ เพื่ออัปเดตเทรนด์และความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง

 

วิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ GSK

 

 

วิริยะ จงไพศาล กรรมการผู้จัดการ GSK กล่าวว่า “การใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการพัฒนาและคิดค้นยานวัตกรรมนี้ เป็นความเชี่ยวชาญของ GSK ระดับโลก ที่ผ่านมา GSK ดำเนินการคิดค้นยานวัตกรรมมาโดยตลอด ตามหลักการพัฒนาและวิจัยยานวัตกรรม ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี และใช้เงินงบประมาณสูง กว่าจะผ่านกระบวนการอนุมัติจนนำยาเข้าสู่ตลาดจึงไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นเป็นเหตุผลที่เราเริ่มมาคิดว่า แล้วจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนายานวัตกรรมง่ายขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อการพัฒนาและคิดค้นยานวัตกรรม ทำให้เห็นผลสำเร็จอย่างรวดเร็วขึ้น และลดค่าใช้จ่ายมหาศาลเมื่อเทียบกับการคิดค้นยาแบบเดิม

 

วิริยะฉายภาพต่อว่า การคิดค้นยาแบบเดิมๆ ต้องใช้เวลานาน มีความซับซ้อน ความสำเร็จต่ำ และค่าใช้จ่ายสูง มีการประมาณการกันว่าค่าใช้จ่ายในการคิดค้นยาที่เข้าสู่ท้องตลาดได้ 1 ตัว ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

“AI ทำให้เห็นความเป็นไปได้เร็วขึ้น ใช้งบประมาณน้อยลง ใช้เวลาน้อยลง ส่งผลให้ขยับเป้าหมายได้ชัดขึ้น และรู้ว่าอันนั้นควรทำต่อ อันไหนควรทิ้ง AI ช่วยคัดกรองให้เราเจอ DNA ที่ใช่เร็วกว่า ค้นหาเส้นทางที่จะไปเจอยานวัตกรรมได้เร็วขึ้น GSK จึงมุ่งเน้นในการใช้ AI ในการคิดค้นยานวัตกรรม ประจวบเหมาะกับทางมหาวิทยาลัยมหิดลมีความสนใจในเรื่องนี้ จึงเป็นโอกาสที่จะนำความรู้ที่มีมาแบ่งปันและส่งต่อองค์ความรู้ในระดับสากล เพื่อให้นักวิจัยของไทยสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ผ่านการพิสูจน์มาแล้วไปต่อยอดได้ทันที” 

 

เมื่อถามถึงประโยชน์จากเทคโนโลยี AI จะไปสอดคล้องกับกลไกผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-Curve) ใหม่ของประเทศไทยได้อย่างไร วิริยะอธิบายว่า “เนื่องจากอุตสาหกรรมยาเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานทางนวัตกรรมที่สำคัญเพื่อการลงทุนด้านการดูแลสุขภาพ และยังเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และต้องการยกระดับศักยภาพเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างเรื่องของ B ก็คือ Bio เป็นสิ่งที่ GSK ทำอยู่ นั่นก็คือ ทำอย่างไรให้ Biopharma เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นั่นคือเราต้องทำให้คนของเราผลิตได้มากกว่าเดิม ผมว่าสิ่งนี้เหมาะกับประเทศไทย เพราะเรามีโรงพยาบาลและแพทย์ที่มีศักยภาพ ดังนั้น R&D มีความสำคัญ จึงนำสิ่งนี้มาจับและดูว่าทำอย่างไรให้เมืองไทยแข็งแรงขึ้นได้  

 

“GSK จะทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนที่สำคัญในการเชื่อมต่อองค์ความรู้ของ GSK ระดับโลกกับประเทศไทย ในการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อการพัฒนาและคิดค้นยานวัตกรรม เมื่ออุตสาหกรรมยาแข็งแกร่งมากขึ้น วันหนึ่งนอกจากคนไทยจะสุขภาพดี เราสามารถส่งออกได้ด้วยและเป็นรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศอย่างยั่งยืน และเสริมสร้างสมรรถนะทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น”  

 

สำหรับแนวทางการนำ AI มาใช้ในกระบวนการคิดค้นยานวัตกรรมในอนาคตทั่วโลกและในประเทศไทย วิริยะอธิบายว่า “ปัจจุบันบริษัทยาและองค์กรวิจัยต่างๆ ทั่วโลกเล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในกระบวนการคิดค้นยา เพราะใช้เวลาในการคิดค้นยาสั้นลง และลดค่าใช้จ่าย จึงเริ่มมีการนำ AI มาเสริมในกระบวนการคิดค้นยาใหม่เข้าสู่การทดสอบทางคลินิกแล้วหลายชนิด  

 

“สำหรับประเทศไทย การนำ AI มาใช้ในกระบวนการคิดค้นยายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น อาทิ สถาบันปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล แต่หากทำสำเร็จจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพประเทศไทยให้สามารถคิดค้นยาที่สร้างความมั่นคงทางสุขภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป” 

 

นอกจากการผลักดันเรื่องนวัตกรรมยา AI ช่วงปี 2564 GSK ยังผลักดันโครงการ Telehealth Together เพื่อเชื่อมต่อการรักษาด้วยระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาใช้ในโรงพยาบาล ให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก สามารถเข้าถึงการตรวจรักษาและปรึกษาด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล โดยร่วมมือกับ ทรู ดิจิทัล และเครือข่ายคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC)

 

“โครงการนี้ทำให้ทุกคนเล็งเห็นถึงศักยภาพความเป็นไปได้ของระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จากนี้ไป GSK มุ่งขยายการให้บริการโครงการ Telehealth Together ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ ล่าสุดได้ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยองฯ นำระบบ Telehealth Together มาใช้ในโรงพยาบาลในจังหวัดระยอง เพื่อให้บริการสุขภาพแบบออนไลน์ผ่านระบบ Digital Solution ทำให้การรักษาผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจในจังหวัดระยองมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

  

“และเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้เปิดห้องตรวจ Telehealth Together ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า นนทบุรี เพื่อให้การรักษาแบบออนไลน์แก่ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ โดยทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญให้บริการเสมือนมารักษาที่โรงพยาบาล คนไข้ไม่ต้องเดินทาง ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ และความเสี่ยงในการต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณสุข ผมว่าโมเดลนี้จะไปต่อได้ และ Telemedicine จะเป็นอนาคตของการดูแลคนไข้ แต่ยังพบปัญหาเรื่องของความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เราจึงประสานกับทาง depa จัดฝึกอบรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้สนใจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

 

  

สำหรับงาน ‘AI in Drug Discovery: Ahead Together for Future Healthcare’ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.คิม แบรนสัน Senior Vice President and Global Head of Artificial Intelligence and Machine Learning ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี AI ของ GSK ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และประสบการณ์ในการใช้เทคโนโลยี AI ในการคิดค้นยา

 

 

ภายในงานยังมีการบรรยายเกี่ยวกับประสบการณ์ ‘การใช้เทคโนโลยี AI ในการคิดค้นยา’ โดย ผศ.ภก.ดร.จตุรงค์ ประเทืองเดชกุล คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.พรชัย บำรุงศรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร.ทิพาจินต์ ไทยพิสุทธิกุล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล และ ภก.ดร.ณฐพล พรพุทธพงศ์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นทีมวิจัยในโครงการ ‘การพัฒนาแพลตฟอร์มการคิดค้นยา ที่บูรณาการศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์’ ที่ได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นอกจากนี้ รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDI) ยังได้ร่วมนำเสนอผลงานด้าน Digital Health Tech ของประเทศไทยด้วย



ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรมสุขภาพและการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (Digital Health) ในประเทศไทย โดยมหิดลมุ่งมั่นผลิตมหาบัณฑิตที่มีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ควบคู่กับการมีบทบาทในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก  

 

“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญต่อการนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์และสุขภาพในทุกสาขา โดยมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานของสถาบันปัญญาประดิษฐ์มหิดล ซึ่งมีโครงการวิจัยแบบบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และมหาวิทยาลัยชั้นนำจากต่างประเทศอีกหลายแห่ง เรามีความเชี่ยวชาญในการใช้ AI เพื่อตรวจและวินิจฉัยโรค และกำลังศึกษาพัฒนาการนำ AI มาใช้ในการคิดค้นและผลิตยานวัตกรรม เชื่อว่าด้วยระบบ AI จะทำให้การผลิตยาด้วยความแม่นยำ และลดระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนา ส่งผลต่อการพัฒนาวงการแพทย์และยารักษาโรคให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น” 


 

ด้าน อว. โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานในการนำเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้ในการพัฒนาต่อยอดเชิงรุกในด้านต่างๆ ว่า “อว. มุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนการร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันและมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับประเทศอื่น พร้อมสนับสนุนนโยบายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาด้านเทคโนโลยีของประเทศไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0” 

 

เชื่อว่าการแบ่งปันความเชี่ยวชาญและแนวทางการนำ AI มาใช้พัฒนานวัตกรรมยาของ GSK ในครั้งนี้ จะพลิกโฉมวงการเฮลท์แคร์ในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน และเป้าหมายที่คนไทยจะมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากยานวัตกรรมคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X