วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนในปัจจุบันเป็นตลาดที่มีกำไรสูงมาก โดยอัตราดอกเบี้ยในตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 24-28% ทำให้มีอัตราส่วนต่างดอกเบี้ย (NIM) ที่ 20% ดังนั้นเพื่อปรับโครงสร้างดอกเบี้ยให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงสินเชื่อในต้นทุนที่เหมาะสม และภาคธุรกิจจำนำทะเบียนสามารถมีกำไรในธุรกิจได้
ทั้งนี้การตั้งบริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ผ่านการร่วมทุนกับ SAWAD และพันธมิตรอย่างบมจ.ทิพยประกันภัย (ธนาคารออมสินถือหุ้น 49%) โดยจะเริ่มต้นที่สินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์ทั้งสินเชื่อใหม่ และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ในอัตราดอกเบี้ย 14.99% ต่อปี อย่างน้อยช่วง 3 เดือนแรก (ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์) โดยในระยะยาวจะมีการปรับดอกเบี้ยสู่ 16-18% และคาดว่าจะทำให้โครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดนี้ลดลงสู่ระดับ 16-18% จากปัจจุบันที่อยู่ราว 24-28%
“คาดว่าบริษัท เงินสดทันใจฯ จะมีกำไรปีนี้ราว 300-400 ล้านบาท โดยระยะแรกจะเริ่มที่สินเชื่อจำนำทะเบียนมอเตอร์ไซค์และขยายสู่สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ส่วนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อยังต้องปรับหาสมดุลว่าจะอยู่ที่เท่าไร”
นอกจากนี้จากฐานข้อมูลพบว่าในประเทศไทยมีกลุ่มคนที่รายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน โดยมีจำนวนมากกว่า 25 ล้านคน และเกือบครึ่งหนึ่งใช้บริการสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยสูง จึงเชื่อว่าการออกผลิตภัณฑ์ที่ดอกเบี้ยต่ำจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง
ขณะเดียวกันปีนี้ธนาคารออมสินจะให้บริการ ‘เงินสดทันใจ’ เริ่มต้นที่ 35 สาขา ในเดือนพฤษภาคมนี้ และจะขยับสู่ 500 สาขา คาดว่าสิ้นปี 64 จะอยู่ที่ 800 สาขา โดยมีพันธมิตรอย่างทิพยประกันภัยและทิพยประกันชีวิต จะเข้าร่วมเงินสดทันใจผ่านบริษัทนี้เช่นกัน
“อัตราดอกเบี้ยที่ 16-18% ถือว่าธุรกิจสามารถอยู่ได้ เพราะในช่วงที่เราเปิดโครงการนี้ มีบริษัทเข้ามายื่นข้อเสนอราว 7-8 ราย ก็มองว่าดอกเบี้ยราวนี้ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ตั้งต้นบริษัทเงินสดทันใจนี้จะมีให้สินเชื่อราว 20,000 ล้านบาท แต่หากได้รับการตอบรับดีทางธนาคารก็สามารถสนับสนุนเพิ่มเติมได้”
ธิดา แก้วบุตตา ผู้ถือหุ้น และ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD กล่าวว่า จากวงเงินสินเชื่อในปีนี้ที่ราว 20,000 ล้านบาท คาดว่าจะเข้าถึงผู้ขอสินเชื่อราว 800,000-1,000,000 คน เฉลี่ยสินเชื่อที่ 20,000-30,000 บาทต่อคัน โดยทางบริษัทจะปรับกระบวนการให้ลูกค้าเมื่อได้รับการอนุมัติสามารถรับเงินได้ใน 15 นาที
ทั้งนี้ในภาพรวม SAWAD มีสินเชื่อคงค้าง 40,000 ล้านบาท (รวมเงินสดทันใจ โดยมีธุรกิจหลักคือการให้สินเชื่อบนหลักประกันเช่น รถ หรือที่ดิน) โดยมี NPL อยู่ที่ 4% ซึ่งปีนี้คาดว่าจะควบคุมสินเชื่อให้อยู่ราว 4-6% โดยปีนี้เตรียมออกหุ้นกู้เพิ่มอีก 3,000-6,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อของธุรกิจ
อย่างไรก็ตามปี 2564 นี้ SAWAD เตรียมขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ แพลตฟอร์มเพื่อขายประกันภัย และสินเชื่อเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์ใหม่ รวมถึงสินเชื่อส่วนบุคคล (ไม่มีหลักประกัน) ที่คาดว่าจะมีการเติบโตกว่า 100% (เพราะที่ผ่านมามีใบอนุญาตแต่ยังไม่ได้ขยายเต็มตัว)
ขณะที่ปีนี้เตรียมวงเงินราว 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้เสียเข้ามาในพอร์ต (Noble จะเข้ามาช่วยดูด้วย) แต่ต้องรอดูว่ามีสถาบันการเงินว่าเปิดขายหรือไม่ โดยปี 2563 ที่ผ่านมาไม่ได้ซื้อหนี้เพราะในตลาดไม่มีการขายหนี้เสียออกมา
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม