×

Greenwashing ความท้าทายบนการลงทุน ESG

15.11.2023
  • LOADING...
Greenwashing ESG

เวลานี้ภาคธุรกิจทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการปรับใช้ประเด็นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยแต่ละบริษัทมีพัฒนาการปรับใช้แตกต่างกัน จากข้อมูลผลสำรวจของ Nasdaq ที่สำรวจผู้บริหารบริษัทในอเมริกาเหนือและยุโรป พบว่า 15% ระบุว่าบริษัทเพิ่งปรับใช้ประเด็น ESG ในปี 2023 เป็นปีแรก อีก 30% ปรับใช้มาแล้ว 1-2 ปี ขณะที่มีมากถึง 46% ที่ปรับใช้มาแล้ว 3-5 ปี และอีก 9% ที่ใช้มาเกินกว่า 5 ปีแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม 34% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ระบุว่าธุรกิจกำลังเผชิญความท้าทายบนประเด็นการจัดทำรายงานด้าน ESG เปิดเผยต่อสาธารณชน ปัญหาหลักคือการจัดเก็บและเรียบเรียงข้อมูล รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อกำหนดของหน่วยงานกำกับและภาคอุตสาหกรรมที่มีความแตกต่างกัน และสิ่งที่น่าสนใจคือมีถึง 39% ระบุว่าบริษัทไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดอันดับหรือการให้คะแนน ESG (ESG Rating) ของหน่วยงานภายนอก

 

การเติบโตที่รวดเร็วของกระแสความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG อย่างกว้างขวาง รวมไปถึงมาตรฐานการประเมินและจัดอันดับ ESG ที่หลากหลาย นำไปสู่ปัญหา Greenwashing หรือการฟอกเขียว ซึ่งหมายถึงการสื่อสารที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดด้านการปฏิบัติตามประเด็น ESG อันเนื่องมาจากการให้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน การปฏิบัติไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้อง หรือไม่ได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ แนวปฏิบัติที่ดี หรือมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ โดยประเด็นนี้มีความท้าทายต่อการลงทุนมาก หากบริษัทใดถูกกล่าวหาว่าเข้าข่าย Greenwashing แล้วก็อาจส่งผลกระทบต่อความน่าสนใจลงทุน รวมถึงความยั่งยืนของการดำเนินงานในอนาคตได้

 

อย่างไรก็ตาม เราได้เห็นพัฒนาการของหน่วยงานกำกับที่เข้ามามีบทบาทจัดการกับ Greenwashing จากความพยายามในการออกกฎเกณฑ์ ข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ เช่น การสร้าง Taxonomy หรือมาตรฐานกลางที่มีเงื่อนไขอย่างชัดเจนและโปร่งใส เพื่อนำไปใช้อ้างอิงในการช่วยจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจประเภทต่างๆ ว่ามีผลกระทบต่อเป้าหมายด้าน ESG อย่างไร โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานออกมาชัดเจนที่สุด

 

ตัวอย่างภูมิภาคที่พยายามวางแนวทางปราบปราม Greenwashing ชัดเจนคือสหภาพยุโรป (EU) ที่สร้าง EU Taxonomy ออกมาในระดับกฎหมาย โดยระบุชัดเจนว่ากิจกรรมเศรษฐกิจแบบไหนเรียกว่ากิจกรรมสีเขียว เข้าข่ายสอดคล้องกับวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อม ทั้งยังทยอยออกกฎหมายลูกและข้อบังคับการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วย

 

ขณะที่ล่าสุดยุโรปอยู่ระหว่างออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจาก Greenwashing โดยร่างกฎหมายนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ ใจความสำคัญคือกำหนดให้บริษัทที่ต้องการยืนยันว่าตัวเองใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Green Claim) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในการสื่อสารเพื่อกล่าวอ้างสิทธิติดฉลากสีเขียว ที่สำคัญการปฏิบัติตามแนวทางนี้ต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดยหน่วยงานภายนอก (Third Party) ซึ่งคาดว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านครบทุกขั้นตอนและนำมาใช้ได้ในเดือนมีนาคม 2024

 

ในส่วนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) เป็นอีกภูมิภาคที่ออก Taxonomy ระดับภูมิภาคมาเพื่อเป็นมาตรฐานกลางให้ประเทศในภูมิภาคนำไปปรับใช้ โดยลักษณะ Taxonomy จะแตกต่างไปจากยุโรป คือไม่ได้เป็นระดับกฎหมาย และมีการจำแนกกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกมา 3 สี คือ สีเขียว เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่ตรงวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อม สีเหลือง เป็นกิจกรรมเศรษฐกิจที่ตรงวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อมหนึ่ง แต่อาจยังก่อให้เกิดอันตรายต่อวัตถุประสงค์สิ่งแวดล้อมอื่นอยู่ โดยที่มีความพยายามในการแก้ไขอยู่ และสีแดง เป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และไม่มีความพยายามที่จะแก้ไข

 

เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทยว่าเราตื่นตัวในการวางกรอบกำกับด้าน ESG เพียงใด ก็เป็นเรื่องน่ายินดี เมื่อพิจารณาจากผลสำรวจ Google Cloud Sustainability Survey 2023 ที่ระบุว่าไทยติด 1 ใน 3 ของตลาดที่ผู้บริหารให้ความสำคัญกับความพยายามบนประเด็น ESG เป็นอันดับ 1 (อีก 2 ตลาด ได้แก่ สิงคโปร์และเยอรมนี) แม้จะมีปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน ขณะที่ประเทศต่างๆ ลดความสำคัญของความพยายามด้าน ESG มาอยู่ในอันดับ 3 จากที่เคยเป็นอันดับ 1 ในปี 2022

 

ส่วนเรื่องการป้องกัน Greenwashing ประเทศไทยก็มีการจัดทำ Thailand Taxonomy เพื่อป้องกันปัญหานี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกันร่าง Taxonomy ฉบับแรกเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งร่างฉบับนี้นำแนวทางของ EU Taxonomy, ASEAN Taxonomy รวมถึง Taxonomy ที่จัดทำโดย Climate Bond Initiative (CBI) องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร มาประยุกต์ให้เข้ากับยุทธศาสตร์ของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 และตั้งเป้าหมายเริ่มต้นกับภาคพลังงานและภาคขนส่งก่อน เพราะเป็นภาคธุรกิจสำคัญที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอน

 

ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน SCB Wealth ซึ่งมีพันธกิจดูแลความมั่งคั่งของลูกค้า ก็มีการให้ความสำคัญเรื่องการนำเกณฑ์กำกับ ESG มาเป็นกรอบคัดเลือกผลิตภัณฑ์ลงทุน รวมทั้งการตัดสินใจลงทุนด้วย โดยเรามีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มความเข้มข้นในการใช้เกณฑ์นี้

 

แนวทางในการใช้เกณฑ์ ESG ได้แก่ การตรวจสอบความเข้มข้นในการใช้ ESG ของผู้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นพันธมิตรแบบเบื้องต้น ผ่านการตอบแบบสอบถาม ตรวจสอบข้อมูลในหนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม รวมทั้งการสัมภาษณ์ข้อมูลการใช้ ESG ในกระบวนการลงทุน (Investment Process) เพื่อประเมินคะแนน ESG โดยรวมของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ก่อนตัดสินใจว่าจะคัดเลือกมานำเสนอผู้ลงทุนหรือไม่

 

ขณะที่การตัดสินใจลงทุนเราจะดำเนินการโดยคณะทำงานที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้การลงทุนมีความโปร่งใส ผ่านการพิจารณาคัดกรองโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน โดยเราจะประเมินมูลค่าสินทรัพย์ควบคู่กับการพิจารณาคะแนนด้าน ESG หรือ ESG Rating ที่หน่วยงานจัดอันดับได้ให้ไว้กับสินทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์การลงทุนนั้น รวมถึงตรวจสอบว่าสินทรัพย์ที่จะลงทุนเคยมีประเด็นความเสี่ยง Greenwashing หรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนนั้นจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ดี และมีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจด้วย

 

โดยรวมแล้วหากต้องการลงทุนเพื่อเป้าหมายผลตอบแทนที่ยั่งยืนในระยะยาว เรื่อง Greenwashing เป็นประเด็นท้าทายที่นักลงทุนไม่ควรละเลย เพราะหากเกิดขึ้นกับสินทรัพย์หรือผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนแล้ว ผู้ลงทุนจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดตามมาด้านผลตอบแทนได้เลย ดังนั้นการรู้เท่าทัน ป้องกันไว้ก่อน ย่อมดีกว่ารอให้เกิดผลกระทบแล้วมาแก้สถานการณ์ให้พอร์ตลงทุนแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X